xs
xsm
sm
md
lg

รัฐเพิ่งตื่นบูรณาการแก้ปัญหากัดเซาะชายหาด คกก.สิทธิฯ สั่งรื้อเขื่อนปากแม่น้ำภายใน 90 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เขื่อนกันทรายและคลื่น บริเวณปากคลองนาทับ ที่สร้างยื่นไปในทะเล อันเป็นจุดต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหากัดเซาะชายฝั่งตามมา โดยหลังการร้องเรียนของชาวบ้าน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอให้รื้อออกภายใน 90 วัน นับแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – หน่วยงานรัฐเพิ่งตื่นเตรียมเสนอแผนการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแบบบูรณาการให้ ครม.พิจารณาในเร็วๆ นี้ หลังจากที่ต่างคนต่างของบประมาณมาแก้ปัญหาอย่างซ้ำซ้อน จนลุกลามบานปลาย และไม่มีทีท่าว่าปัญหาจะยุติ นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย จวกกรมการขนส่งทางน้ำฯ ต้นเหตุทำชายหาดวิบัติ จี้ ยอมรับความจริงก่อนเดินหน้าแก้ปัญหา ด้านคณะกรรมการสิทธิฯเสนอให้รัฐสนับสนุน อปท.ใช้เรือดูดทรายปากแม่น้ำ ยุติสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะ และรื้อเขื่อนกันคลื่นและทรายออกภายใน 90 วัน

แหล่งข่าวในหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ขณะนี้หน่วยงานของรัฐได้จัดทำแผนบูรณาการการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเลอ่าวไทยขึ้น โดยมีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้นเรื่อง มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดแผนดังกล่าวประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ สำนักงบประมาณ กรมอุทกศาสตร์ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี และสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ร่วมกันกำหนดแนวทางเพื่อให้การแก้ปัญหามีความชัดเจน เป็นระบบ ไม่ซ้ำซ้อน เกิดประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้น จากสาเหตุหลักๆ คือ การสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น บริเวณปากแม่น้ำที่ไหลออกสู่อ่าวไทย ซึ่งจากการสำรวจด้วยอากาศยานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบว่า ตามปากแม่น้ำหรือคลองต่างๆ มีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น เพื่อความสะดวกในการเข้า-ออก ของเรือประมง ซึ่งจุดนี้เอง ที่เป็นต้นเหตุและจุดเริ่มต้นของปัญหากัดเซาะชายฝั่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้ โดยเจ้าหน้าที่พบว่ารอบอ่าวไทยมีเขื่อนลักษณะดังกล่าวถึง 70 ตัว ไม่นับรวมเขื่อนกันคลื่นรูปตัว T ที่ถูกสร้างขึ้นมาแก้ปัญหาในภายหลังอีกเป็นจำนวนมาก

“การแก้ปัญหาที่ผ่านมากรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เจ้าของโครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นและทรายริมปากแม่น้ำสายต่างๆ ที่ไหลลงอ่าวไทย ไม่เคยออกมาให้คำตอบต่อสังคมถึงต้นเหตุของปัญหา การแก้ไขจึงไปแก้กันที่ปลายเหตุ แล้วบอกว่าปัญหาเกิดจากโลกร้อนน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงตอนนี้ทุกคนยอมรับแล้วว่าน้ำทะเลอ่าวไทยไม่ได้เพิ่มขึ้นจากปัญหาโลกร้อน แต่ก็ยอมรับว่าปัญหาโลกร้อนมีผลให้ชายฝั่งบอบบางกว่าเมื่อก่อน เมื่อมีโครงสร้างทางวิศวกรรมไปรบกวนจึงทำให้เกิดปัญหาตามมาเป็นลูกโซ่”

แหล่งข่าวเปิดเผยอีกว่า การแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งที่ผ่านมายังได้ผลไม่ดีนัก เนื่องจากการแก้ไขจะเน้นไปทางการก่อสร้างเป็นหลัก และแต่ละหน่วยงานต่างก็ยื่นโครงการของบประมาณมาจัดทำโดยต่างคนต่างทำ วิธีแก้ที่เหมาะสมคือแต่ละหน่วยงานต้องใช้หลักการบูรณาการ และกำหนดโซนพื้นที่ต่างๆ เพื่อความเหมาะสมในการแก้ปัญหา

“ขณะนี้มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมากำกับดูแลการแก้ปัญหา และมีการกำหนดโครงการต่างๆ โดยจะดูจากแต่ละพื้นที่ คือจุดไหนที่กลายเป็นพื้นที่วิบัติอย่างที่นักวิชาการระบุก็ต้องใช้โครงสร้างทางวิศวกรรมเข้าไปแก้ปัญหา จุดไหนที่ปัญหายังมีไม่มากก็ต้องใช้กระบวนการทางธรรมชาติ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปวิธีที่แน่ชัดได้ ขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ สำหรับแผนการแก้ปัญหานั้นคาดว่าจะนำเสนอต่อ ครม.ได้ในเร็วๆ นี้”

ต่อข้อซักถามที่ว่า สำหรับชายหาดสมิหลา จ.สงขลา ซึ่งเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญของชาวสงขลานั้น มีทางเป็นไปได้หรือไม่ที่จะฟื้นฟูให้ชายหาดกลับมามีสภาพเป็นหาดทรายเช่นเดิม ไม่ใช่เป็นหาดหินอย่างที่เป็นอยู่ แหล่งข่าวระบุว่า ทางเลือกสำหรับหาดสมิหลา คือ หากต้องการให้ชายหาดกลับคืนมามีสภาพเดิมก็ต้องใช้วิธีการเติมทราย ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องมีการศึกษาและสอบถามความคิดเห็นของประชาชนก่อนว่าเป็นอย่างไร

ด้านนายบรรจง นะแส ในฐานะนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า ตนได้รับการติดต่อให้เข้าร่วมประชุมวางแผนการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งเช่นกันและจากการติดตามปัญหานี้มาโดยตลอดคิดว่าก่อนที่จะมีการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อแก้ปัญหาควรจะมีการประเมินผลการดำเนินการต่างๆ ที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่การก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นริมปากแม่น้ำสายต่างๆ รวมทั้งเขื่อนกันคลื่นที่สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดจากเขื่อนปากแม่น้ำ หากได้ข้อสรุปแล้วก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ

“พื้นที่ตรงปากแม่น้ำต้องทบทวนว่าจะมีการรื้อเขื่อนกันทรายและคลื่นออกหรือไม่ เพราะโครงสร้างดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบไม่มีที่สิ้นสุด สำหรับปากแม่น้ำที่ต้องป้องกันไม่ให้ตะกอนทรายมาทับถม เพื่อความสะดวกในการเข้าออกของเรือประมงก็ควรใช้วิธีการใช้เรือดูดทรายแทนการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นซึ่งวิธีการนี้ต่างประเทศเขาก็ทำกัน และทำเพียงปีละหนึ่งครั้งเท่านั้นคือหลังฤดูมรสุม ก่อสร้างเขื่อนขึ้นมาเป็นเพราะผู้ที่เกี่ยวข้องต้องการหาประโยชน์จากการก่อสร้าง การแก้ปัญหาต้องกลับไปที่จุดต้นเหตุ ยอมรับความจริง แล้วจึงจะแก้ปัญหาได้” นายบรรจง กล่าว

ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าว สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งได้รับการร้องเรียนให้เข้ามาดูแลการละเมิดสิทธิมนุษยชนในโครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น และทรายปากคลอง รวมทั้งเขื่อนกันคลื่นที่สร้างขึ้นมาแก้ผลกระทบต่อเนื่องจากเขื่อนดังกล่าว

ผลการตรวจสอบ ระบุว่า การแก้ปัญหาที่ถูกต้องควรแก้ที่ต้นเหตุ โดยรื้อเขื่อนด้านทิศเหนือของปากคลองที่เป็นต้นเหตุของการกัดเซาะทั้งหมด และลดขนาดความยาวของเขื่อนด้านทิศใต้ให้มีขนาดเหมาะสม

ส่วนการแก้ปัญหาตะกอนทรายที่ทับถมริมปากแม่น้ำรัฐบาลควรสนับสนุนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหาเรือดูดทราย โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้ทุกปี และให้ยุติการแก้ปัญหา โดยวิธีการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง อันเป็นการทำลายระบบนิเวศชายฝั่งและสิ้นเปลืองงบประมาณอย่างมหาศาล

คณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง แร่ และสิ่งแวดล้อม มีข้อเสนอต่อรัฐบาลและกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี คือ ให้รัฐบาลสนับสนุนเรือดูดทรายให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมงบประมาณในการจัดการทุกปี ให้ดำเนินการภายในระยะเวลา 180 วัน ให้กรมการขนส่งทางน้ำฯ รื้อเขื่อนกันคลื่นและทราย และยุติการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ภายในระยะเวลา 90 วัน นับแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น