xs
xsm
sm
md
lg

ชาวหนองคายตื่นพบ “ปลาจระเข้” ในแม่น้ำโขง ชี้เป็นปลากินเนื้อแต่ไม่กินคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลาจระเข้ จับได้ครั้งแรกในแม่น้ำโขง ด้านจังหวัดหนองคาย
หนองคาย - ชาวหนองคายแตกตื่นพบปลาจระเข้ในแม่น้ำโขง ชาวบ้านบอกเพิ่งเคยเห็นในแม่น้ำโขงเป็นครั้งแรก ขณะที่ประมงจังหวัดหนองคาย เผย เป็นปลากินเนื้อชนิดเดียวกับปลาช่อนอะโรไพมา อาจทำลายระบบนิเวศในแม่น้ำโขงได้

ผู้สื่อข่าวรายงาน นางชฎาพร โปตาเวชย์ อายุ 40 ปี เจ้าของร้านอาหารครัวตาแขก บ้านท่าดอกคำ ต.เมืองหมี อ.เมืองหนองคาย ได้โชว์ปลาจระเข้ ขนาดยาว 90 เซนติเมตร หนัก 5 กก.มีเกล็ดแข็งสีเทาเป็นมันวาว ฟันแหลมคม ครีบหางเป็นลายจุดสีดำให้ชาวบ้านได้ดู โดย นางชฎาพร บอกว่า เมื่อกลางดึกวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา นายเวียด วัน ฮง หรือ เพชร อายุ 21 ปี ลูกจ้างประจำร้านอาหารของตน ได้นำเบ็ดตกปลาไปวางดักปลาในแม่น้ำโขงตลอดทั้งคืน โดยใช้ปลาหมึกเป็นเหยื่อล่อ

จนกระทั่งเช้าวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายเพชร ได้ไปดูเบ็ดตกปลา ปรากฏว่า พบปลาตัวนี้มากินเบ็ด จึงนำปลาดังกล่าวนี้ขึ้นมาให้ ตอนแรกตนนึกว่าเป็นปลาสะทงยักษ์ ซึ่งชาวหนองคายตกปลาสะทงได้บ่อยในแม่น้ำโขง และมีลักษณะคล้ายกัน แต่สังเกตให้แน่ชัดแล้วกลับไม่ใช่ปลาสะทง ตนได้เล่าให้ชาวบ้านและผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านได้ฟังต่างพากันมาดู ก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยเห็นปลาชนิดนี้ในแม่น้ำโขง เพิ่งจะเห็นเป็นครั้งแรก

โดยตนจะไม่นำปลานี้มาปรุงอาหาร แต่จะนำไปสตัฟฟ์ไว้เพื่อให้ชาวหนองคายและลูกค้าที่มารับประทานอาหารที่ร้านได้ดู

ด้าน นายจิรพงศ์ นุตะศะริน ประมงจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ปลาที่ชาวบ้านจับได้นี้ เรียกว่า ปลาจระเข้ หรือ ปลาช่อนอะโรไพมา หรือชื่อทางการว่า ATRCATRACTOSTEUS SPATULA เป็นปลาตระกูลเดียวกันกับปลาปิรันยา เพียงแต่ไม่ใช่ปลาที่ทำร้ายคน อาศัยอยู่ในแถบทวีปอเมริกาเหนือ เจริญเติบโตได้ดีในแม่น้ำจืด สภาพอุณหภูมิ 28-30 องศาเซลเซียส ลักษณะเด่นที่ปากคล้ายจระเข้มาก มีฟันแหลมคม ขากรรไกรทรงพลัง

ปลาช่อนอะโรไพมานี้ มักกินเนื้อเป็นอาหาร และจะกินคราวละมากๆ เพื่อยังชีพของตนเอง ตัวโตเต็มที่ยาว 3 เมตร หนักมากถึง 130 กก.เป็นปลาอันตราย เพราะกัดไม่เลือก แต่ไม่ทำร้ายคน ส่วนใหญ่ใช้เป็นปลาในเกมตกปลา อีกทั้งเป็นปลาที่ผู้ที่พอมีรายได้ซื้อมาเลี้ยงเป็นปลาตู้ ปลาสวยงาม เนื่องจากเป็นปลาที่มีราคาแพง ราคาอยู่ที่ประมาณหลักหมื่นบาท คาดว่า ที่มาพบเจอในแม่น้ำโขง อาจเป็นเพราะเจ้าของที่เลี้ยงเป็นปลาตู้ ปลาสวยงาม เลี้ยงไม่ไหว แล้วนำมาปล่อยในแม่น้ำโขง หรือแหล่งน้ำธรรมชาติอื่น ซึ่งไม่มั่นใจว่า ปลาชนิดนี้มีการแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำธรรมชาติหรือไม่อย่างไร

แต่แน่นอนว่า ปลาชนิดนี้จะส่งผลกระทบกับระบบนิเวศในแม่น้ำโขง เนื่องจากปลาช่อนอะโรไพมานี้จะกินเนื้อ หรือกินปลาเป็นอาหาร อาจทำให้ปลาพื้นเมืองในแม่น้ำโขงถูกรบกวนและตกเป็นอาหารของปลาช่อนอะโรไพมานี้ จนลดปริมาณลง แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไม่ได้รับรายงานว่ามีปลาแม่น้ำโขงชนิดใดสูญพันธุ์ไปบ้าง ทราบเพียงว่า มีจำนวนลดน้อยลง สาเหตุอาจมาจากหลายปัจจัย ทั้งการดูดทรายในแม่น้ำโขง ซึ่งกระทบกับแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำโขงโดยตรง รวมทั้งสภาพการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในแม่น้ำโขงเอง

หรือแม้กระทั่งการพบปลาที่เป็นอันตรายในลักษณะปลาช่อนอะโรไพมาเช่นนี้ในแม่น้ำโขง โดยแจ้งสำหรับผู้ที่เลี้ยงปลาชนิดนี้แล้วไม่สามารถเลี้ยงต่อไหว หากไม่ต้องการเลี้ยงต่อให้นำมาให้เจ้าหน้าที่ประมงในแต่ละพื้นที่เพื่อจัดสรรแหล่งที่อยู่ให้เหมาะสม ไม่ควรนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติเพราะจะเป็นอันตรายและกระทบกับระบบนิเวศของปลาชนิดอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว
ปลาประเภทนี้จะกินเนื้อเป็นอาหารคราวละมากๆแต่ไม่ทำร้ายคน
กำลังโหลดความคิดเห็น