สตล - รมช.พาณิชย์ เดินทางสำรวจท่าเรือน้ำลึกปากบารา และสนับสนุนให้โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล เดินหน้าต่อไปด้วยงบประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท ผู้ว่าฯ อ้างเสียงคนสตูลเห็นด้วย 90% ชูศักยภาพใต้ร่มเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัดชายแดนใต้เอื้อการลงทุน
วันนี้ (13 มิ.ย.) เมื่อเวลา 10.30 น.ที่ห้องประชุมธรรมาภิบาล เทศบาลตำบลกำแพง อ.ละงู จ.สตูล นายขวัญชัย วงศ์นิติกร ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้ให้การต้อนรับ นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะโดย นายขวัญชัย วงศ์นิติกร ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้กล่าวรายงานถึงความต้องการของพี่น้องประชาชนคนสตูล ว่า ขณะนี้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ จ.สตูล มีความต้องการท่าเรือน้ำลึกปากบาราเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ เนื่องจากจังหวัดสตูลเป็นจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ทั้งทางบกและทางทะเล และเป็นเมืองท่าการค้าชายแดนตามพื้นที่เศรษฐกิจศักยภาพที่ตั้งของ จ.สตูล เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่จะมีการพัฒนาให้เป็นเมืองท่าประตูการค้าด้านทะเลอันดามัน โดยมีธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ควบคู่กันไป
จังหวัดสตูลเป็นจังหวัดหนึ่งใน 5 ของจังหวัดเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจชายแดนใต้ ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการค้าการลงทุนเช่นเดียวกับอีก 3 จังหวัดในชายแดนใต้ จึงเป็นจังหวัดที่มีโอกาสและช่องทางในการลงทุนทำธุรกิจใหม่ๆ ด้านอุตสาหกรรมแปรรูปจากเกษตร ประมง ซึ่งการพัฒนาโลจิสติกส์ในบริเวณพื้นที่นี้ จึงเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนอีกด้านหนึ่งที่เป็นที่ต้องการของนักลงทุน ซึ่งจะขยายให้เศรษฐกิจในจังหวัด และจังหวัดใกล้เคียงได้รับผลดีตามไปด้วย
นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การที่ตนเองได้มาสตูลในวันนี้นั้นต้องการที่จะมาดูพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งเป็นโครงการการที่จะต้องใช้งบประมาณถึง 30,000 ล้านเศษ นับว่า เป็นโครงการที่ใหญ่และจะสามารถแข่งขันกับท่าเรือที่ปีนังได้อย่างแน่นอน โดยก่อนที่จะมาสตูลในวันนี้ตนเองได้เดินทางไปยังท่าเรือที่ปีนังดูความพร้อมในการรองรับการขนถ่ายสินค้าไปยังประเทศตะวันออกกลาง และได้หันมามองว่าที่สตูลต้องการมีท่าเรือที่ใหญ่ทางฝั่งทะเลอันดามัน เนื่องจากพื้นที่ จ.สตูลเป็นพื้นที่ชายฝั่งที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และ สิงคโปร์
จากการที่ได้ร่วมกับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนคนสตูล พบว่า 90% มีความต้องการที่จะให้สร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาบ้างเพียงเล็กน้อยตนเองก็ยอมรับปัญหาเพื่อที่จะได้นำไปแก้ไข โดยตนเองจะเป็นตัวกลางในการบอกกล่าวกับรัฐบาล เพื่อที่จะให้สร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา และเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเปิดการค้าชายแดน
“เราจะต้องมีการค้าทางฝั่งอันดามัน เนื่องจากทางฝั่งอันดามันไม่มีท่าเรือใหญ่ที่คอยรองรับการค้าระหว่างประเทศโดยพวกเราจะต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดท่าเรือปากบาราให้สำเร็จ และจะต้องให้ใหญ่กว่าท่าเรือที่ปีนัง เพื่อจะเป็นการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่สะดวกและย่นระยะทางได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมการขนส่งสินค้าเกษตรหากใช้ระยะเวลาหลายวัน ทำให้เกิดความเสียหายแก่สินค้าเป็นอย่างมากและยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางอีกทางหนึ่ง โดยการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จะต้องใช้เงินทุนเป็นอย่างสูงจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งสำรวจและจะต้องให้เกิดให้เร็วที่สุด” รมช.พาณิชย์กล่าว