xs
xsm
sm
md
lg

ภาคธุรกิจตรังระบุปากผู้นำทำภาพลักษณ์เศรษฐกิจยิ่งแย่หนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสลิล โตทับเที่ยง
ตรัง - ประธานหอการค้าจังหวัดตรังชี้สภาวะเศรษฐกิจในระยะยาวจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงต่อเนื่อง ระบุท่าทีการให้สัมภาษณ์ของผู้นำประเทศจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของเศรษฐกิจทั้งประเทศ

นายสลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง กล่าวถึงสภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดตรังในขณะนี้ว่า หากมองระยะสั้นๆ ยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่ในระยะยาวจะส่งผลกระทบอย่างแน่นอน เนื่องจากปัญหาของราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน จนต้องมีการปรับราคาขึ้นตามไปด้วย ทำให้สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน ที่จะต้องแบ่งค่าครองชีพออกเป็น 2 ส่วน

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายส่วนแรกคือ ค่าน้ำมัน เนื่องจากเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องแบกรับภาระโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอีกส่วนคือ ค่าครองชีพ ที่ประชาชนจะต้องมีความประหยัด โดยลดหรือตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป แม้ว่าช่วงนี้ยางพาราและปาล์มน้ำมันจะยังคงมีราคาในระดับที่สูงก็ตาม แต่เกษตรกรก็ไม่ควรประมาทในการใช้จ่าย เพราะแนวโน้มของราคาสินค้าแต่ละชนิดจะมีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองไทยในปัจจุบัน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากการให้สัมภาษณ์และการนำเสนอข่าวของผู้นำประเทศ มีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยภาพรวม จึงทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล และรัดเข็มขัดเพื่อลดการใช้จ่ายของตนเอง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จะเป็นการส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจของไทยเกิดการชะลอตัว ดังนั้น จึงอยากให้ทุกฝ่ายสร้างความสมานฉันท์ และช่วยกันแก้ปัญหาให้กับประชาชนมากกว่ามาโต้แย้งกันไปมา

นายสุรพล สุวรรณกุล พาณิชย์จังหวัดตรัง เปิดเผยถึงสภาวะเศรษฐกิจจังหวัดตรัง ปี 2551 ในช่วงไตรมาสแรก (เดือนมกราคม-มีนาคม) ที่ผ่านมาว่า มีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เกิดจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาอาหาร เครื่องดื่ม และราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนสินค้าทางด้านการเกษตร เช่น ยางพารา ถือว่าเป็นสินค้าที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก รวมทั้งปาล์มน้ำมัน ก็ยังคงมีความต้องการจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับสภาวการณ์ลงทุนและการส่งออกของจังหวัดตรัง พบว่า มีการจดทะเบียนประกอบธุรกิจที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับการรับเหมาก่อสร้าง และการจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค โดยเฉพาะในช่วงปี 2550 ที่ผ่านมา มีการขออนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุน รวม 5 โครงการ รวมเป็นเงินทุน 615.30 ล้านบาท ซึ่งได้มีการจ้างแรงงานไทย 365 คน ได้แก่ การผลิตไบโอดีเซล การผลิตแผ่นกระดาษลูกฟูก การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ และการผลิตยางพารา

อย่างไรก็ตาม การลงทุนที่มีศักยภาพของจังหวัดตรัง คือ ธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าเกษตร แต่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 นั้นยังไม่มีโครงการที่ได้รับอนุมัติเพื่อส่งเสริมการลงทุนแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นช่วงที่สภาวะการค้าทั่วไปส่วนใหญ่ ยังคงราคาสินค้าให้ความเคลื่อนไหวในทางปกติ แม้สินค้าหลายประเภทจะมีการปรับขึ้นราคาเพิ่มสูงขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากแป้ง เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ ไข่ และข้าว แต่ก็ถือว่ายังเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจโดยรวม
กำลังโหลดความคิดเห็น