xs
xsm
sm
md
lg

ศึกเลือกตั้ง อบจ.ตรัง หรืออีก 1 ชนวนร้าว "พรรคประชาธิปัตย์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิจ หลีกภัย
เมธี เมืองแก้ว
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่... รายงาน


ความจริงแล้ว การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตรัง ในปี 2551 นี้ ถ้ามองกันในมุมทางการเมืองท้องถิ่น ไม่มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในตำแหน่งนายก อบจ.ตรัง ที่ "กิจ หลีกภัย" หัวหน้าทีมกิจปวงชน พี่ชาย "ชวน หลีกภัย" ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้ครองมาแล้ว 2 สมัย เมื่อครั้งเลือกตั้งปี 2543 และปี 2547 ขณะที่หนทางขึ้นไปสู่เก้าอี้ในสมัยที่ 3 ก็ยังสะดวกราบรื่น ด้วยทั้งบารมี ผลงาน และแรงสนับสนุน ที่หาใครจะมาต่อกรได้ยากยิ่ง

แม้ในตำแหน่งเก้าอี้นายก อบจ.ตรัง ครั้งนี้ จะมี "เอกรินทร์ นิลสวัสดิ์" อดีตประธานสภาเทศบาลนครตรัง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อปี 2550 และอดีตผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เมื่อปี 2551 ลงแข่งขันด้วยหนึ่งคน แต่เซียนการเมืองท้องถิ่นวิเคราะห์ตั้งแต่ไก่โห่ว่า โอกาสที่ "เอกรินทร์ นิลสวัสดิ์" จะแย่งเก้าอี้นายก อบจ.ตรัง มาจาก "กิจ หลีกภัย" แทบจะเป็นไปได้เลย เพราะเขาไม่มีฐานเสียงใดๆ ให้การสนับสนุน นอกจากความกล้าและความมุ่งมั่นเท่านั้น

ในอดีตเก้าอี้นายก อบจ.ตรัง เป็นที่หมายปองของฝ่ายการเมืองระดับชาติ เพราะนั่นเป็นฐานเสียงสำคัญไปสู่เก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ในจังหวัดตรัง จะครอบครองแบบยกทีมทั้ง 4 ที่นั่งมาอย่างยาวนานหลายสมัยแล้ว แต่คู่แข่งอย่างพรรคไทยรักไทยในอดีต หรือพรรคพลังประชาชนในปัจจุบัน ก็พยายามส่งคนลงสนามสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งรวมไปถึงตำแหน่งสมาชิกสภา อบจ. หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า "ส.จ." ด้วย ซึ่งแต่ละสมัยฝ่ายตรงข้ามก็สามารถแบ่งเก้าอี้มาได้จำนวนหนึ่ง

แม้เสียงในสภา อบจ.ตรัง ทั้ง 30 เขตเลือกตั้งในยุคที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะอยู่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี "กิจ หลีกภัย" นั่งกุมบังเหียนอยู่ และมี "สมชาย โล่สถาพรพิพิธ" หรือ "โกหนอ" ส.ส.ตรัง 2 สมัย พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองนายก อบจ.ตรัง นั่งคอยให้คำปรึกษาและควบคุมลูกทีมอยู่เบื้องหลัง แต่ฝ่ายตรงข้ามก็ยังสามารถสร้างแรงเคลื่อนไหวได้ไม่น้อย ซึ่งหลายคนมองว่า "ทวี สุระบาล" อดีต ส.ส.ตรัง 6 สมัย อดีต ส.ส.ไทยรักไทย และอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน สมัยล่าสุด เป็นผู้ที่คอยบัญชาการอยู่เบื้องหลัง

เพื่อให้หนทางขึ้นสู่ตำแหน่งนายก อบจ.ตรัง สมัยที่ 3 ของ "กิจ หลีกภัย" ไม่มีปัญหา และเสียงในสภา อบจ.ตรัง อยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคประชาธิปัตย์อย่างเด็ดขาด จึงเป็นที่มาของการสลายขั้วทางการเมืองระดับชาติ ด้วยวิธีการ "ดึงศัตรูมาเป็นมิตร" หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ดึงคนของฝ่ายตรงข้ามมาอยู่กับ "ทีมกิจปวงชน" โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 อำเภอสำคัญ คือ ห้วยยอด วังวิเศษ และรัษฎา ที่ในอดีตมีการแข่งขันทางการเมืองในระดับชาติรุนแรงยิ่ง ซึ่งถ้าทฤษฎีนี้ทำได้สำเร็จอย่างที่หวังจริงๆ ก็จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการเลือกตั้ง ส.ส.สมัยต่อไป

แต่แนวความคิดของ "กิจ หลีกภัย" และพลพรรคก็ต้องสะดุดลง ทันทีที่แกนนำและหัวคะแนนอีกส่วนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอดีต ส.จ.ใน 3 พื้นที่สำคัญ และมีสายสัมพันธ์ทอดยาวไปถึง "สาทิตย์ วงศ์หนองเตย" หรือ "เสี่ยตาล" ส.ส.ตรัง 3 สมัย และประธานวิปฝ่ายค้าน ออกมาท้วงติงว่า รับไม่ได้กับการเอาคนของฝ่ายตรงข้ามมาอยู่กับ "ทีมกิจปวงชน" และทำไมไม่เอาคนอื่นที่มีเลือดเนื้อเชื้.อไขพรรคประชาธิปัตย์ตัวจริง หรือช่วยงานของพรรคมาอย่างยาวนานลงสมัคร ส.จ.ในพื้นที่เหล่านั้น

ในที่สุดเมื่อข้อเสนอและข้อคัดค้านของทั้ง 2 ฝ่ายหาข้อสรุปไม่ได้ จึงเป็นที่มาของการส่งผู้สมัคร ส.จ.ในนาม "ทีมประชาธิปัตย์" เฉพาะ 6 เขตเลือกตั้ง ใน 3 พื้นที่สำคัญ นอกเหนือไปจาก "ทีมกิจปวงชน" ที่ส่งผู้สมัคร ส.จ.อยู่แล้ว ได้แก่ อำเภอห้วยยอด 4 เขตเลือกตั้ง อำเภอวังวิเศษ และอำเภอรัษฎา อย่างละ 1 เขตเลือกตั้ง ท่ามกลางความสับสนของคนทั้งจังหวัดตรัง จนเกิดคำถามที่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า มีอะไรเกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ แชมป์เก่า และทำไมจะต้องตั้ง 2 ทีม เพื่อลงแข่งกันเอง

"กิจ หลีกภัย" ยอมรับว่า คนของพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ เกิดความแตกแยกกันอย่างไม่น่าจะเป็น จึงรู้สึกหนักใจ และรู้สึกรำคาญที่จะต้องคอยตอบคำถามของประชาชน ส่วนความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และมีผลพวงมาถึงการเลือกตั้ง อบจ.ตรัง ในครั้งนี้ มีชนวนมาจากการเสนอตัวลงสมัคร ส.ส.เมื่อปี 2549 ระหว่าง "อุดมเดช วรรณบวร" ส.จ.ห้วยยอด 2 สมัย และน้องชายคนหนึ่งของ "สาทิตย์ วงศ์หนองเตย" แต่ยืนยันว่า ส.ส.ตรัง ทั้ง 4 คน ในพื้นที่ไม่มีความขัดแย้งกัน พร้อมเชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่ส่งผลกระทบไปถึงการเลือกตั้ง ส.ส.ตรัง สมัยต่อไป

ขณะที่ "สาทิตย์ วงศ์หนองเตย" ยืนยันว่า การส่งผู้สมัคร ส.จ.ในนาม "ทีมประชาธิปัตย์" และต้องลงแข่งกับ "ทีมกิจปวงชน" ในบางพื้นที่นั้น ไม่อาจจะเป็นชนวนความขัดแย้งให้เกิดขึ้นได้ แต่จำเป็นต้องทำ เพราะเป็นเรื่องกรรมเก่าที่ต้องชดใช้ของคนบางคน อันเป็นผลมาจากเมื่อครั้งที่ต้องต่อสู้กับอดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย คนหนึ่งในพื้นที่ และมีผู้สมัคร ส.จ.บางคนใน "ทีมกิจปวงชน" เคยไปช่วยหาเสียงให้ ซึ่งถ้าวันนี้ จะให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวกลับมาอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง จะให้พวกตนตอบประชาชนในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอสำคัญอย่างไร

ตอนแรกหลายคนคาดคิดว่า ความขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่นานก็คงจบลง แต่ไฉนได้จู่ๆ ก็มีประเด็นต่างๆ เกิดขึ้นตามมาอีกหลายเรื่องหลายราว เช่น การที่ผู้สมัคร ส.จ."ทีมประชาธิปัตย์" ไปขึ้นป้ายหาเสียง ซึ่งมีทั้งภาพหัวหน้า "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ภาพ "ชวน หลีกภัย" และ ส.ส.พื้นที่ ตั้งอยู่เคียงข้างกับป้ายหาเสียงผู้สมัคร ส.จ."ทีมกิจปวงชน" ที่นำทัพโดย "กิจ หลีกภัย" พี่ชายแท้ๆ ของ "ชวน หลีกภัย" ประชาชนที่แลเห็นจึงรู้สึกงุนงงกันพอสมควร เพราะทำไม "พี่กิจ" กับ "น้องชวน" จึงไปมีภาพกันอยู่คนละป้ายหาเสียง

งานนี้ "กิจ หลีกภัย" ถึงต้องออกมาโวยว่า ผู้สมัคร ส.จ."ทีมประชาธิปัตย์" ทำไม่ได้ โดยเฉพาะภาพ "ชวน หลีกภัย" นั้น เจ้าตัวไม่อนุญาต และเป็นสิ่งที่สร้างความสับสนให้เกิดขึ้น

ขณะที่ "สาทิตย์ วงศ์หนองเตย" มองว่า ผู้สมัคร ส.จ.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ทุกคน สามารถนำป้ายหาเสียง ที่มีภาพหัวหน้า "อภิสิทธิ์" หรือ "นายหัวชวน" ไปขึ้นหาเสียงได้โดยชอบธรรม และในทางปฏิบัติแล้ว ถ้าจะต้องไปขออนุญาตเป็นรายตัวบุคคลอีกคงวุ่นวายน่าดู แต่หากใครจะนำเรื่องนี้ไปร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้ ตนไม่มีปัญหา

สุดท้ายร้อนถึง "ชวน หลีกภัย" ต้องลงมาแก้ปัญหา ด้วยการโทรศัพท์สายตรงคุยกับ "ศิษย์เอกสาทิตย์" ขอให้ผู้สมัคร ส.จ."ทีมประชาธิปัตย์" นำภาพของตนเองออกไปจากป้ายหาเสียง เพราะไม่ต้องการสร้างความสับสนให้กับพี่น้องประชาชนชาวตรัง อีกทั้งการเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องของตัวบุคคล ไม่ควรให้เกิดความแตกแยก และไม่ควรให้กระทบกับการเมืองระดับชาติ และเขาก็มองว่าทั้ง 2 ฝ่ายเป็นพวกเดียวกัน จึงไม่ควรสร้างปัญหาให้เกิดขึ้น พร้อมยืนยันว่า ตนเองจะไม่ลงพื้นที่ให้กับทีมใด เดี๋ยวทุกอย่างจะวุ่นวายกันไปใหญ่

นี่ยังไม่นับการเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ในช่วงโค้งสุดท้าย ที่มีข่าวว่า ทั้ง "ทีมกิจปวงชน" และ "ทีมประชาธิปัตย์" จะพาแกนนำคนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์มาขึ้นเวทีด้วย หรือการหาเสียงในบางพื้นที่ที่มีการงัดกลยุทธ "สาดโคลน" เข้าใส่กัน จนเป็นที่มาของคำว่า "ประชาธิปัตย์ปลอม" ตลอดจนการทุ่มเงินและทุ่มกำลังชนิดเทหน้าตัก เพื่อครอบครองเก้าอี้ ส.จ.ในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ให้ได้ เพียงเพื่อรักษาไว้ซึ่ง "ศักดิ์ศรี" สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นอะไรๆ ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ไปจนถึงวันเลือกตั้ง 15 มิถุนายน 2551

ถึงแม้ว่าศึกเลือกตั้ง อบจ.ตรัง ในครั้งนี้ "พรรคประชาธิปัตย์" จะคว้าชัยชนะมาได้แบบยกทีม 30 ที่นั่ง แต่คนที่เข้าสู่สภานั้น อาจจะมีจากหลายกลุ่ม หลายฝ่าย ซึ่งไม่อาจจะจับมือกันได้สนิทแนบแน่นเช่นในอดีต เพราะรอยร้าวเล็กๆ ในจิตใจที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุด อาจจะเป็น "มะเร็งร้าย" ที่กำลังเริ่มก่อตัว เพื่อบั่นทอนแชมป์เก่าอย่าง "พรรคประชาธิปัตย์" ในอนาคตก็เป็นได้ นอกเสียจาก "คนเล็ก-บารมีใหญ่" อย่าง "นายหัวชวน" จะได้รีบเร่งเข้ามาจัดการ "รักษาเยียวยา" นับตั้งแต่เนิ่นๆ ณ เวลานี้
ชวน หลีกภัย
ทวี สุระบาล
สาทิตย์ วงศ์หนองเตย
กำลังโหลดความคิดเห็น