เลื่อนจมเครื่องบินฝูงบินปะการังลงอ่าวบางเทายาวถึง พ.ย.51 เหตุพายุไซโคลนนาร์กีส-ลมมรสุมทำให้เกิดคลื่นสูง 4 เมตร น้ำทะเลขุ่น หวั่นส่งผลเครื่องบินเสียหาย
วันนี้ (3 พ.ค) ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล นายมาโนช พันธุ์ฉลาด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล นางสุวลัย ปิ่นประดับ ผู้อำการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคใต้ เขต 4 นายไพทูล แพนชัยภูมิ หัวหน้าศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่ 4 ภูเก็ต พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหาทางออกในการเคลื่อนย้ายเครื่องบินฝูงบินปะการังจากท่าเทียบเรือน้ำลึก ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อไปวางเป็นแนวปะการังเทียมที่บริเวณอ่าวบางเทา ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
เนื่องจากขณะนี้พื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนนาร์กีส ทำให้ตั้งแต่วันที่ 2- 5 พ.ค. ทะเลอันดามันมีคลื่นลมแรง การเคลื่อนย้ายซากเครื่องบินทำได้ยากและอาจจะไม่ปลอดภัย ประกอบกับช่วงนี้จังหวัดภูเก็ตเริ่มเข้าสู่ฤดูมรสุมคลื่นลมในทะเลมีกำลังแรง โดยในการประชุมมีมติให้เลื่อนการเคลื่อนย้ายซากเครื่องบินเพื่อนำไปวางเป็นแนวปะการังเทียมออกไปจนถึงเดือน พ.ย.51 ส่วนกำหนดการวางปะการังนั้นได้กำหนดไว้ในระหว่างวันที่ 1-15 พ.ย.ซึ่งจะต้องมีการหารือในรายละเอียดอีกครั้ง
ส่วนซากเครื่องบินทั้ง 10 ลำจะวางไว้ที่เดิมแต่ต้องขยับให้พ้นหน้าที่ และจะจัดเป็นนิทรรศการแสดงประวัติความเป็นมาของเครื่องบิน รวมทั้งเรื่องของปะการังในทะเล และเปิดให้เด็ก เยาวชน ผู้ปกครองเข้าชมเพื่อที่จะได้มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการดังกล่าว
เกี่ยวกับเรื่องนี้นายสมประสงค์ ปานดำ ฝ่ายช่างเทคนิค ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซิลสโตนส์ ซัพพลายแอนด์เซอร์วิส กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่คลื่นลมแรงการยกซากเครื่องบินขึ้นแพไม่ปลอดภัยเพราะเครื่องบินอาจจะไปกระแทกกันเองและทำให้แตกหักได้ นอกจากนั้นในการเดินทางจากท่าเทียบเรือน้ำลึกไปยังอ่าวบางเทาจะต้องใช้ระยะเวลายาวประกอบกับการเดินทางจะต้องผ่านช่องแคบบริเวณแหลมพรมเทพ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุเรืออัปปางได้
ขณะที่นายปรีชา สาเหร่ ประธานกลุ่มชมรมเรือหางยาวบางเทา อ่าวบางเทา ตำบลเชิงทะเล กล่าวว่า ขณะนี้คลื่นลมในทะเลมีความแปรปรวน คลื่นในทะเลสูงถึง 4 เมตร สภาพน้ำทะเลขุ่นมัว และคลื่นใต้น้ำแรงมาก ซึ่งที่ผ่านมาอ่าวบางเทาไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เชื่อว่าการนำซากเครื่องบินมาวางในช่วงนี้ไม่เหมาะเพราะในช่วงที่มีการนำเครื่องบินลงไปวางคลื่นใต้ทะเลอาจจะทำให้เครื่องบินได้รับความเสียหายได้
ด้านนางสุวลัย ปิ่นประดับ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานภาคใต้เขต 4 กล่าวว่า ขณะนี้มีสื่อมวลชนจากต่างประเทศเดินทางมาทำข่าวล่วงหน้าแล้วจำนวนหนึ่งแต่คิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสื่อมวลชนน่าจะมีความเข้าใจดีว่าเกิดจากเรื่องของธรรมชาติที่ไม่สามารถกำหนดได้ ส่วนสื่อมวลชนในประเทศที่จะเดินทางมาในวันที่ 5 พ.ค นี้ได้แจ้งยกเลิกไปแล้ว