xs
xsm
sm
md
lg

“แบงก์ชาติใต้” ชี้ “พืชเกษตร-ท่องเที่ยว” สปีดตัวแต่พิษ ศก.ทำลงทุนใหญ่ชะงัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยางพาราพืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้ ยังมีราคาดี ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มมากขึ้นกว่า 20 %
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ –เศรษฐกิจใต้ยังขยายตัวในอัตราชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยชาวสวนได้รับอานิสงส์จากผลผลิตและราคาพืชตัวหลักปรับเพิ่มขึ้น ทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน ยกเว้นประมงซบต่อเนื่อง ผู้ประกอบการเลือกนำสัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือเอกชน-ต่างประเทศแทน ส่วนการท่องเที่ยวยังสดใส ต่างชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 และมีอัตราการเข้าพักสูงร้อยละ 72.5 ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 14.3 รวมถึงภาคการลงทุนของเอกชนที่ไม่เชื่อมั่นทำให้ชะลอในโครงการขนาดใหญ่ การก่อสร้างในเขตเทศบาลที่ลดลงร้อยละ 18.3

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ รายงานเศรษฐกิจภาคใต้ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2551ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง ทั้งด้านอุปทาน-อุปสงค์ โดยด้านอุปทานผลผลิตพืชผลเพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่การประมงและอุตสาหกรรมลดลงอย่างต่อเนื่อง ด้านอุปสงค์การอุปโภคภาคเอกชนขยายตัว ขณะที่การลงทุน การส่งออกและการเบิกจ่ายงบประมาณกลางลดลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 5.6 ทางด้านสินเชื่อและเงินฝากขยายตัว

ภาคเกษตร พืชผลผลิตหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตปาล์มน้ำมันและยางพาราเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับราคาพืชผลผลิตหลักที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 ตามราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน และกาแฟ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 72.4 และ 46.0 ตามสำดับ ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 24.2

ขณะที่ด้านประมงทะเล อยู่ในภาวะซบเซาจากราค้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และบางพื้นที่มีลมมรสุม เรือประมงส่วนหนึ่งนำขึ้นสัตว์น้ำยังท่าเทียบเรือเอกชนและท่าเทียบเรือต่างประเทศ เช่น ศรีลังกา เนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งทำการประมง ส่งผลให้ปริมาณและมูลค่าสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือขององค์การสะพานปลาในภาคใต้ลดลงร้อยละ 13.2 และ 5.8 ตามลำดับ ขณะที่การเพาะเลี้ยงกุ้งมีผลผลิตลดลงร้อยละ 36.5 เนื่องจากต้นทุนและวิกฤตราคากุ้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางปีก่อน แต่ก็ทำให้ราคากุ้งเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.3

ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 14.3 ตามอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ที่การผลิตลดลงตามวัตถุดิบและการส่งออก ทั้งอุตสาหกรรมยางพารา ที่มีปริมาณการส่งออกยางผ่านด่านศุลกากรในภาคใต้มีจำนวน 169,509.3 เมตริกตัน ลดลงจากช่วงเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 23.1 ส่วนอุตสาหกรรมสัตว์น้ำแปรรูปและแช่แข็ง และอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.9 และ 33.0 ตามลำดับ ยกเว้นการส่งออกผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบมีจำนวน 111,280.75 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 50.4 ตามปริมาณวัตถุดิบที่มากขึ้น

ในเดือนกุมภาพันธ์ พบว่า ภาคการท่องเที่ยวของภาคใต้ขยายตัวดี มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 16.9 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน และเทศกาลตรุษจีนซึ่งมีการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ประกอบกับการเพิ่มของเที่ยวบินในประเทศและต่างประเทศ ทั้งเที่ยวบินประจำและเช่าเหมาลำ ทำให้นักท่องเที่ยวแถบเอเชียยุโรป ได้แก่ มาเลเซีย จีน และสวีเดน เดินทางเข้ามามาก อัตราการเข้าพักอยู่ที่ร้อยละ 72.5 สูงกว่าร้อยละ 66.8 ในเดือนก่อน

ส่วนการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวด้วยดัชนีที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 สูงกว่าอัตราเพิ่มร้อยละ 1.4 ในเดือนก่อน เนื่องจากดัชนีทุกหมวดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะดัชนีหมวดยานยนต์เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 0.7 เดือนก่อนเป็นร้อยละ 16.4 และภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 จากปัจจัยสนับสนุนราคาสินค้าเกษตรหลักและท่องเที่ยวที่ขยายตัว

การลงทุนภาคเอกชน โดยภาพรวมลดลงโดยเฉพาะโครงการใหญ่ๆ จากผู้ลงทุนยังขาดความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และความเข้มงวดในการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ด้านการก่อสร้างมีพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตในเขตเทศบาลลดลงร้อยละ 18.3 จากต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้น โดยเฉพาะเหล็ก อย่างไรก็ตาม ปริมาณการจำหน่ายปูนซิเมนต์ในภาคใต้เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 19.3

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของระดับเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 5.6 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 3.9 ในเดือนก่อนอันเป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 เนื่องจากราคาอาหารสูงขึ้นเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะเนื้อสุกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.1 ไข่และผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 ผักและผลไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 ส่วนหมวดอื่นที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของภาคใต้อยู่ที่ร้อยละ 2.8 สูงจากร้อยละ 2.0 ในเดือนก่อน

การค้าต่างประเทศ สินค้าที่ผ่านด่านศุลกากรในภาคใต้มีทั้งสิ้น 1,170.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.1 แยกเป็นมูลค่าการส่งออก 761.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.8 ตามการลดลงของการส่งออกยางพาราและอาหารกระป๋อง ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 409.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.0 ตามการนำเข้าอุปกรณ์ก่อสร้างและสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น

ภาคการคลัง มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ ในภาคใต้จำนวน 8,291.8 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 45.5 ส่วนภาษีอาการจัดเก็บได้ 2,387.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.5 โดยเก็บภาษีสรรพากรจำนวน 2,095.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.4 ขณะที่ภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรกลับลดลง

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2551 สาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้มีเงินฝากคงค้างประมาณ 410,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.7 และสินเชื่อคงค้างประมาณ 348,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 13.2
กำลังโหลดความคิดเห็น