xs
xsm
sm
md
lg

เมืองคอนเร่งสร้างฝายส่งน้ำเข้าอุตสาหกรรมยางพารา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นครศรีธรรมราช – อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำเร่งผุดฝายลำปีเหาะ รองรับการใช้น้ำ อุตสาหกรรมยางพาราตีปีกส่อรุ่งเป็นเมืองยางโลก

ที่ จ.นครศรีธรรมราช วันนี้ (3 เม.ย.)นายอดิศักดิ์ ทองไข่มุกต์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า สำนักทรัพยากรน้ำภาค 10 ได้ดำเนินการจัดประชุมประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในลุ่มน้ำสาขาคลองจันดี ซึ่งเป็นลุ่มน้ำนำร่องในการพัฒนาเพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ลุ่มน้ำสาขาที่กรมทรัพยากรน้ำจะดำเนินการพัฒนาในปี 2550

สำหรับลุ่มน้ำสาขาคลองจันดี ที่อยู่ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช ครอบคลุมพื้นที่ 6 อำเภอประกอบด้วย อ.ฉวาง อ.นาบอน อ.ทุ่งสง อ.ทุ่งใหญ่ อ.บางขัน และ อ.ช้างกลาง มีประชากรในพื้นที่ 12,701 ครัวเรือน มีประชากร 103,660 คน โดยมีพื้นที่ลุ่มน้ำรวมทั้งสิ้นกว่า 410,537 ไร่ เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกยางพาราเป็นหลัก รองลงมาปลูกไม้ผลผสมผสานแบบทุเรียน เงาะ มังคุด สำหรับปัญหาสำคัญในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองจันดีคือ การขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง การขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค สภาพตื้นเขินของลำน้ำ รวมทั้งไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำที่เพียงพอ

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ยังกล่าวต่อว่าปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้ไม่สามารถพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่อำนวยแม้ว่าปัจจุบันจะมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก การขุดลอกการขุดสระน้ำ กระจายอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำก็ตาม ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้มากนัก เพราะความต้องการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำมีปริมาณกว่า 11.68 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ซึ่งจากการสำรวจนั้นสามารถจำแนกออกได้เป็นน้ำในการบริโภค 2.29 ล้าน ลบ.ม. น้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่เขตชลประทาน 8.46 ล้าน ลบ.ม. และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม 1 ล้าน ลบ.ม.

"แนวในการพัฒนาแหล่งน้ำคลองจันดีคือการสร้างฝายน้ำล้นคลองลำปีเหาะ บ้านท้ายเหมือง ต.ช้างกลาง พร้อมระบบกระจายน้ำ ซึ่งเป็นไปตามผลการจัดลำดับความสำคัญของโครงการพัฒนาศักยภาพในพื้นที่ลุ่มน้ำที่จะก่อสร้างในลุ่มน้ำเพื่อให้ราษฎรทั้ง 2 ฝั่งลำน้ำสามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ทั้งการอุปโภคและการบริโภค รวมทั้งการอุตสาหกรรม" อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องดังกล่าวผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่ อ.นาบอน และ อ.ช้างกลาง ได้แสดงความพอใจเนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวถูกกันผังเมืองเป็นโซนสีม่วงซึ่งเป็นโซนอุตสาหกรรม และมีการขนส่งที่เชื่อโยงอย่างพร้อมสมบูรณ์ การจัดการในเรื่องของการพัฒนาลุ่มน้ำจันดี จะส่งผลให้กระตุ้นการลงทุนอุตสาหกรรมต่อเนื่องยางพารามากขึ้น

ทั้งนี้ เนื่องจากย่านดังกล่าวนั้น เป็นย่านที่ผลิตวัตถุดิบยางพาราเป็นลำดับต้นๆของประเทศไทย และก่อนหน้านี้ได้มีการพูดถึงการดึงน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำพิปูน แต่ต้องใช้งบประมาณที่สูง การพัฒนาลุ่มน้ำจันดี จะเป็นทางเลือกที่จะมีการผันน้ำจากอ่างพิปูนมาใช้ในพื้นที่อุตสาหกรรมได้ง่ายขึ้น และกระตุ้นให้มีการลงทุนได้เร็วขึ้นคาดว่าในพื้นที่ย่านดังกล่าว ในอนาคตจะกลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยางพาราได้ในอนาคตอันใกล้
กำลังโหลดความคิดเห็น