น่าน – พัฒนาที่ดินฯแจงชาวบ้าน หลังถูกโวยขุดสระในไร่นาแต่ไร้น้ำ ยืนยันเป็นโครงการขุดสระกักเก็บน้ำฝน ที่ต้องรอฝนปีนี้ก่อนถึงจะมีน้ำให้ใช้ ขณะที่ชาวบ้านปิดปากเงียบหลังถูก จนท.บุกกล่อมถึงบ้าน
นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ หัวหน้าสถานีพัฒนาที่ดินน่าน ได้ชี้แจงกรณีชาวบ้านบ้านน้ำต้วน หมู่ 6 ,หมู่ 8 จำนวน10 ราย นำผู้สื่อข่าวเข้าดูสระน้ำโครงการขุดสระน้ำในไร่นา ขนาด 1,260 ลบ.ม. ที่ทางสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดน่าน เข้าดำเนินการ และเรียกเก็บเงินจำนวน 2,500 บาท/ราย แต่ขุดแล้วไร้น้ำ ว่า โครงการดังกล่าวฯ เป็นโครงการงบประมาณเก่า ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งมีเป้าหมายให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม เนื่องจากที่ผ่านมาเคยขุดให้ฟรี แต่ปรากฏว่ารายหนึ่งได้ รายอื่นๆก็อยากได้ด้วยเช่นกัน โดยที่ไม่ได้คำนึงเลยว่าได้ไปแล้วจะได้ใช้ประโยชน์กับสระน้ำมากน้อยเพียงใด
จึงมีข้อสรุปให้ชาวบ้านจ่ายค่าขุดสระรายละ 2,500 บาท เพื่อให้เจ้าของสระนั้น คิดให้รอบครอบก่อนการตัดสินใจขุด แล้วภาครัฐสมทบในส่วนที่เหลือ ซึ่งทางสถานีพัฒนาที่ดินฯ ก็ได้ปฏิบัติตามนโยบายของโครงการที่วางไว้
“สระน้ำที่ขุดตามโครงการทั่วจังหวัดน่าน เป็นสระเพื่อรอกักเก็บน้ำฝน สำหรับไว้ใช้ในหน้าแล้งปีหน้าและปีต่อไป”
ด้านนายวุฒิ ฉัตรเท เจ้าหน้าที่บริหารงานการเกษตร 7 ผู้ดูแลพื้นที่อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน เปิดเผยหลังเข้าชี้แจงชาวบ้านทั้ง 10 รายแล้ว ว่า กรณีชาวบ้านที่ว่าขุดสระน้ำแล้วไม่มีน้ำนั้น เกิดจากความเข้าใจผิดของชาวบ้าน เนื่องจากโครงการสระน้ำในไร่นา เป็นสระน้ำในลักษณะกักเก็บน้ำในฤดูฝน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในหน้าแล้งจะไม่มีประโยชน์ เพราะจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านได้ในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ เนื่องจากสระน้ำที่ขุดทั้ง 10 สระ จะขุดความกว้าง – ยาว – ลึก ตามสภาพพื้นที่ แต่ยึดปริมาตรดินเป็นหลัก ซึ่งรวมแล้วต้องได้ 1,260 ลบ.ม. หลังจากขุดเสร็จแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะมีน้ำ เนื่องจากเป็นสระที่ใช้เพื่อกักเก็บน้ำ แต่บางสระอาจมีน้ำขึ้นมา ซึ่งใน 10 สระ อาจมี 7-8 สระที่ค่อยๆมีน้ำขึ้นมา ที่เหลืออาจจะมีน้ำ หรืออาจจะไม่มีน้ำเลยก็เป็นไปได้ แต่ทั้งนี้สระที่ได้ขุดไป ก็มีหลายสระที่เริ่มมีน้ำแล้วในระดับ 30-50 เซนติเมตร ตรงนี้ชาวบ้านเองก็สามารถตัก หรือสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้บ้าง โดยที่ไม่ต้องไปขนน้ำจากข้างนอกเข้ามา ซึ่งก็สามารถบรรเทาทุกข์ความเดือดร้อนเรื่องน้ำไปได้บ้างในระดับหนึ่ง
ด้านนางเพลินพิศ แสงเนตร ผู้ใหญ่บ้านหัวเวียงเหนือ หมู่ 6 อ.ภูเพียง จ.น่าน กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีชาวบ้านอีก 7 ราย ที่ไม่ได้ชำระเงินที่ ธกส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์) ว่า เนื่องจากชาวบ้านกลัวว่าจะถูกหลอก หากจ่ายเงินแล้วไม่มีใครเข้าขุดสระน้ำให้ ประกอบกับบางรายก็ยังมีเงินไม่พอ จึงพากันเข้ามาปรึกษา และได้ข้อสรุปว่าจะจ่ายเงินต่อเมื่อขุดสระน้ำเสร็จแล้ว เพื่อความสบายใจ จึงเป็นเหตุให้บางรายจ่ายที่ ธกส. และอีกหลายรายจ่ายที่หน้าสระ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้ภัยแล้งโดยรวมในพื้นที่จังหวัดน่าน ได้ขยายวงกว้างไปในทุกอำเภอ และชาวบ้านทั้ง 10 รายนี้ ก็ยังคงประสบภัยแล้ง ไม่มีน้ำใช้ในพื้นที่การเกษตร พืชผลการเกษตรและผักสวนครัวที่ปลูกไว้ก็เริ่มแห้งเหี่ยวเฉา ทั้งยังขาดน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค เนื่องจากสระน้ำที่ขุดนั้นจะสามารถใช้งานได้ก็ต่อเมื่อเข้าฤดูฝนแล้วเท่านั้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากทีมเจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดินฯ และทีมเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องเข้าพูดคุยกับชาวบ้านที่ร้องเรียนแล้ว กลุ่มชาวบ้านต่างไม่ยอมให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงปัญหาโครงการขุดสระน้ำดังกล่าวอีก