กระบี่ - นายกสมาคมท่องเที่ยวกระบี่ หนุนสร้างสะพานข้ามเกาะลันตา แก้ปัญหาแพติดขัด กระตุ้นการท่องเที่ยว
นายอมฤต ศิริพรจุฑากุล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า ตามที่ทางกรมทางหลวงชนบท ได้จัดให้มีโครงการศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสำรวจออกแบบสะพานเชื่อมเกาะลันตาน้อย-เกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่และส่งเสริมการท่องเที่ยวของเกาะลันตา ซึ่งตนมองว่าการก่อสร้างสะพานดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นมาตั้งนานแล้ว และตนก็เห็นด้วยที่จะให้มีการก่อสร้างสะพานเกิดขึ้นโดยเร็ว และก็ไม่ใช่แต่ตนเท่านั้นที่เห็นด้วย ประชาชนและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวที่อาศัยอยู่บนเกาะลันตาเองก็เห็นด้วยที่จะให้มีการสร้างสะพาน
นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ เผยอีกว่า ปัจจุบันการเดินทางข้ามฟากไปยังเกาะลันตา จะมีความทุลักทุเลเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะมีแพขนานยนต์วิ่งให้บริการอยู่ แต่ด้วยศักยภาพของแพขนานยนต์เอง ต้องยอมรับว่าปัจจุบันไม่สามารถที่จะรองรับกับความเจริญของเกาะลันตา ที่มีความเจริญเพิ่มขึ้นทุกวันและแบบก้าวกระโดด ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว ประชาชนและผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่ขนสิ่งของต่างๆจากบนฝั่งข้ามฟากไปยังเกาะลันตา ทำให้บางครั้งมีรถติดแพเป็นจำนวนมากและนานหลายชั่วโมงเพื่อรอขึ้นแพ บางครั้งนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางกลับ ได้จองเที่ยวบินไว้ ก็ไปไม่ทันเที่ยวบินที่จองไว้ต้องยกเลิกเที่ยวบิน
สำหรับแพขนานยนต์ หลายฝ่ายได้มีการหาทางออกแก้ไขร่วมกันมานานนับ 10 ปี โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหารถติด ทั้งแต่เกาะลันตายังไม่มีความเจริญมากนัก แต่ก็ไม่รับการแก้ไขมากนัก และเป็นปัญหาจนทุกวันนี้ ซึ่งตนเองก็เห็นใจผู้ประกอบการแพขนานยนต์ เพราะการแก้ปัญหาต้องแก้หลายๆด้านร่วมกันและเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา ทางกรมทางหลวงชนบทได้จัดให้การศึกษาความเหมาะสมในการสร้างสะพาน ข้ามฟากบริเวณ เกาะลันตาน้อย-เกาะลันตาใหญ่ เพื่อเชื่อม 2 เกาะเข้าด้วยกัน ระยะทางประมาณ 600 เมตร ตนก็ไม่แน่ใจว่าจะได้มีการสร้างจริงเมื่อใด เพราะงบประมาณในการก่อสร้างคงจะไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท
นายอมฤต เปิดเผยว่า การเข้ามาดำเนินการสร้างสะพานข้ามฟากเกาะลันตา ของกรมทางหลวงเป็นเรื่องที่ดี แต่ในเบื้องต้นเป็นเพียงการศึกษาเท่านั้น ส่วนจะได้สร้างจริงหรือไม่อยู่ที่งบประมาณ แต่ก็ถือว่าได้เริ่มนับหนึ่งไปแล้วยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย ซึ่งเราประชาชนก็ต้องคอยดูกันต่อไป เพราะการศึกษายังไม่จบสิ้น ประมาณเดือน พ.ย.2551 ถึงจะแล้วเสร็จ
แต่ในระหว่างนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะเข้ามาดูแลผู้โดยสารข้ามฟากด้วย โดยเฉพาะบริเวณท่าเทียบแพหัวหินที่ยังไม่มีการศึกษาการก่อสร้างสะพาน ควรจะเข้ามาจัดระเบียบในเรื่องของความสะอาด และปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงามด้วย เพราะบริเวณนี้เปรียบเสมือนประตูสู่เกาะลันตา ที่ปัจจุบันมีทั้งเศษซาก่อสร้าง เครื่องยนต์เสียของแพ ที่วางอยู่แกะกะดูแล้วไม่สมกับเป็นประตูสู่เกาะลันตา