ศูนย์ข่าวภูเก็ต -ธนาคารกสิกรไทยรุกตลาด SMEs ในภูธรเร่งปล่อยสินเชื่อ เพิ่มความรู้ให้ผู้ประกอบการอีก 2,000 รายใน 9 จังหวัดหลักภายในปีนี้ ขณะนี้เป้าปล่อยสินเชื่อสูงถึง 36,000 ล้านบาท ครอบคลุมผู้ประกอบการทุกประเภทกิจการ
นายปกรณ์ พรรณธนะแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการ สายงานธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย ถึงนโยบายการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในปี 2551 ภายหลังเปิดโครงการส่งเสริมการจัดการที่ยั่งยืนของผู้ประกอบการ SMEs ปี 2551 หรีอ KSME Care เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในภูเก็ต โดยมีผู้ประกอบการ SMEs ในภูเก็ตเข้ารับการอบรมจำนวน 37 คน ที่ธนาคารกสิกรไทย สาขาภูเก็ต ว่า
ธนาคารกสิกรไทยได้ให้ความสำคัญต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs มาก เนื่องจากในปัจจุบันฐานลูกค้าของธนาคารที่เป็น SMEs มีสูงถึง 40% ของลูกค้าทั้งหมดของธนาคาร รวมทั้งฐานสินเชื่อในส่วนของผู้ประกอบการ SMEs ยังขยายตัวได้อีกมาก จากที่มีผู้ประกอบการสูงถึง 2.2 ล้านรายทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ประกอบการที่สูงที่สุด รวมทั้ง SMEs ยังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ธนาคารกสิกรไทยจึงตั้งใจที่จะพัฒนา SMEs ให้เติบโตขึ้น โดยให้ SMEs ได้รับทั้งสินเชื่อ และความรู้เพื่อนำไปบริหารจัดการธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
โดยได้จัดทำโครงการส่งเสริมการจัดการที่ยั่งยืนของผู้ประกอบการ SMEs ปี 2551 หรือ KSME Care ปีนี้เป็นปีที่ 2 ซึ่งเมื่อปีที่แล้วได้อบรมให้ความรู้ไปทั้งหมด 3 รุ่น มีผู้ประกอบการเข้าอบรมประมาณ 1,000 ราย ปีนี้เปิดอีก 4 รุ่น ตั้งเป้าที่จะอบรมผู้ประกอบการอีก 2,000 ราย ในพื้นที่ 9 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย โคราช อุดรธานี ขอนแก่น ชลบุรี ภูเก็ต และหาดใหญ่ และได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในแต่ละภาคเป็นผู้จัดการอบรมด้วย ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่หาดใหญ่และวิทยาเขตภูเก็ต
ผู้เข้ารับการอบรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ใช้เวลาในการอบรม 7 สัปดาห์ ทั้งการทำความรู้จักกับ SMEs ช่องทางการตลาด การบริหารการเงิน การบริหารการลงทุน การสร้างแบรนด์สินค้า และปีนี้เริ่มความรู้เกี่ยวกับธุรกิจเฉพาะพื้นที่ด้วย เช่น ภูเก็ตก็จะเน้นเรื่องของการท่องเที่ยว เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตัวเอง เพราะธุรกิจของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน รวมทั้งในปีนี้จะเริ่มความรู้ในเรื่องของนวตกรรมต่างๆ เข้าไปด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการคิดค้นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดลดการแข่งขันในเรื่องของราคา
นายปกรณ์ ยังกล่าวถึง การปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในปี 2551 นี้ ว่า ธนาคารกสิกรไทยได้ตั้งสายงานด้าน SMEs มาตั้งแต่ปี 2549 ได้วางเป้าหมายที่จะมีส่วนแบ่งตลาด 30% ภายใน 3 ปี ในปีแรกปี 2549 ปล่อยสินเชื่อมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 20% ปี 2550 สินเชื่อเติบโตเป็น 25-27% โดยมียอดสินเชื่ออยู่ที่ 30,000 ล้านบาท
ในปี 2551 นี้ ได้วางเป้าที่จะให้สินเชื่อโตอีก 21% ทำให้ยอดการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในปีนี้อยู่ที่ 36,000 ล้านบาท ในขณะนี้ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินทั้งประเทศอยู่ที่ 8-10% และขณะนี้หลายๆ ธนาคารได้ให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs มาก เนื่องจากขนาดของตลาดใหญ่มาก มีความต้องการสินเชื่อไม่น้อยกว่า 1.22 ล้านล้านบาท
การปล่อยสินเชื่อให้ SMEs สถาบันการเงินจะต้องดำรงกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 70% เท่านั้น รวมทั้ง SMEs จำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ต้องอาศัยเงินทุนจากนอกระบบที่ต้นทุนค่อนข้างสูง
นายปกรณ์ กล่าวอีกว่า การที่ยอดการปล่อยสินเชื่อของธนาคารเติบโตสูงในขณะนี้ เนื่องจากทางธนาคารสามารถที่จะตอบโจทย์ความต้องการของ SMEs ได้ ทั้งในเรื่องของเงินทุนทางธนาคารมีสินเชื่อหลายรูปแบบ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการได้ควบคุมทุกประเภทกิจการ สามารถที่จะอนุมัติวงเงินสินเชื่อวงเงินสูงสุด 10 ล้านบาทภายในเวลา 10 วัน และมีข้อมูลที่ผู้ประกอบการต้องการ โดยการจัดอบรมให้ความรู้ด้านต่างๆ กับผู้ประกอบการ จึงทำให้สินเชื่อเกี่ยวกับ SMEs ของธนาคารได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการ ที่ขณะนี้มีลูกค้าแล้ว 30,000-40,000 ราย
สำหรับแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจ SMEs ในปี 2551 นี้ นายปกรณ์ กล่าวว่า ปีนี้การขยายตัวของ SMEs อยู่ในแนวโน้มที่ดี จากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ การเมืองมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งภาครัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในการสาธารณูปโภคโครงการใหญ่ๆ แต่ก็น่าจับตามองในเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก
จึงอยากแนะนำให้ผู้ประกอบการ SMEs ดูในเรื่องของต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมองหาตลาดใหม่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท และสร้างแบรนด์ นวัตกรรมใหม่เพื่อลดการแข่งขันในเรื่องราคา