xs
xsm
sm
md
lg

“นิวคอสตอล” แจงแนวทางชดเชยค่าเสียหายประมงพื้นบ้านจากการขุดน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – “นิวคอสตอล” ชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อหาแนวทางในการชดเชยค่าเสียหายและมาตรการในการลดผลกระทบ ที่อาจเกิดขึ้นต่อการประมงในการขุดเจาะ และผลิตน้ำมันดิบแปลงสัมปทานปิโตรเลียมหมายเลข G5/43 ห่างจากฝั่งจังหวัดสงขลา 30 กิโลเมตร ที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2551 ซึ่งสามารถผลิตน้ำมันได้ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อปี และมีกำลังผลิตสูงสุดที่อัตรา 5,000 บาร์เรล/วัน โดยใช้เวลาผลิต 3 ปี

วันนี้ (24 ก.พ.) ที่ห้องทานตะวัน โรงแรมกรีนเวิลด์ ถนนเตาหลวง เขตเทศบาลนครสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา นายภานุ กฤติพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีอาร์เอ็มสยาม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการ จากบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานในการขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบ แหล่งสงขลา แปลงสัมปทานปิโตรเลียมหมายเลข G5/43 บริเวณอ่าวไทย ซึ่งทำการขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบในทะเลจังหวัดสงขลา ดำเนินการโดย บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีที่ตั้งโครงการห่างจากฝั่งจังหวัดสงขลา 30 กิโลเมตร หรือที่ละติจูด 7 องศา 31 ลิบดาเหนือ ลองจิจูด 100 องศา 42 ลิบดาตะวันออก

สำหรับการประชุมในครั้งนี้เป็นการชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อหาแนวทางในการชดเชยค่าเสียหายและมาตรการ ในการลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการประมงในการขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ แนวชายฝั่งตั้งแต่อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการฯที่จะต้องติดตั้งแท่นหลุมผลิต ห่างจากฝั่งเพียง 30 กิโลเมตร

ส่วนอำเภอที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ก็คือ อำเภอระโนด สิงหนคร และอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยชาวประมงพื้นบ้านมีความห่วงใยถึงผลกระทบจากการขุดเจาะทั้งเศษหินและโคลนที่พุ่งออกมาทำให้สภาพน้ำบริเวณนั้นมีสภาพขุ่น รวมทั้งเศษหิน และโคลนที่นำมากองไว้ตามแนวชายฝั่ง จะทำให้น้ำบริเวณใกล้เคียงที่มีการขุดเจาะจะเกิดตะกอนและฝุ่น ส่งผลให้สัตว์น้ำทุกชนิดจะหนีหายไปจากทะเลตรงนั้น เนื่องจากคุณภาพน้ำเปลี่ยนไปส่งผลกระทบกับ ฟาร์มเพาะกุ้งและฟาร์มเลี้ยงกุ้งที่เกิดจากเศษดินเศษหินจากการขุดเจาะ ผลกระทบต่อแนวปะการังเทียม

การป้องกันการรั่วไหลของก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันจากการผลิต การดำเนินการกับแท่นหลุมผลิตและแท่นผลิต เมื่อโครงการเสร็จสิ้นลง อันตรายจากน้ำโคลนที่ใช้ในการขุดเจาะต่อคุณภาพน้ำทะเล ถึงแม้ว่าทางบริษัทผู้ได้รับสัมปทาน จะมีการชี้แจงรายละเอียดของโครงการฯรวมทั้งการจ้างงานและผลประโยชน์อื่นๆ ที่ท้องถิ่นจะได้รับจากโครงการฯ

แต่เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในการขุดเจาะแปลงสัมปทานปิโตรเลียม หมายเลข G5/43 มีที่ตั้งโครงการห่างจากฝั่งจังหวัดสงขลาเพียง 30 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวประมงพื้นบ้านตลอดแนวชายฝั่งจังหวัดสงขลา ซึ่งมีสัตว์น้ำชุกชุม และมีการวางปะการังเทียมของกรมประมงตลอดแนวชายฝั่งด้วย

โครงการได้รับฟังการเสนอแนะจากตัวแทนสำนักงานประมงจังหวัดสงขลา ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการหาแนวทางร่วมกันในการชดเชยค่าเสียหายและมาตรการในการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเศษหินและโคลนให้น้อยที่สุด เพื่อให้เกิดความพอใจในการแก้ไขปัญหาทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งของบริษัทเจ้าของสัมปทานและชาวประมงพื้นบ้าน ในการนำไปสู่การแก้ไขเพื่อให้งานสามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนดการที่วางไว้

สำหรับโครงการขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบในทะเลจังหวัดสงขลา ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด จะเริ่มดำเนินการติดตั้งแท่นหลุมผลิต และแท่นผลิต ในระหว่างเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2551 สำหรับการผลิตปิโตรเลียมจะเริ่มเดือนมิถุนายน 2551 เป็นต้นไป และต่อเนื่องไปจนหมดอายุของแหล่งปิโตรเลียมในปี 2554 (รวมระยะเวลา 3 ปี) การผลิตปิโตรเลียมจากพื้นที่ผลิตแหล่งสงขลา คาดว่าจะผลิตน้ำมันได้ประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรล/ปี กำลังผลิตสูงสุดที่อัตรา 5,000 บาร์เรล/วัน

การผลิตปิโตรเลียมของโครงการจะช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของประเทศได้ถึงร้อยละ 2.9 สำหรับแท่นผลิตจะทำการตั้งแท่นผลิต 2 แท่นคู่ ห่างฝั่งตรงอำเภอสทิงพระ 16.2 ไมล์ มีเรือบรรทุกน้ำมันทอดสมอห่างแท่น 700 เมตร มีทุ่นลอยเตือนเขตอันตรายเนื่องจากการทำงานขุดเจาะล้อมรอบบริเวณแท่นและเรือในระยะ 500 เมตร โดยจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน และเรือประมงได้ทราบก่อนที่จะเริ่มโครงการอย่างต่อเนื่อง



กำลังโหลดความคิดเห็น