ผู้ค้าน้ำมันทุกรายประกาศขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มดีเซล 80 สตางค์/ลิตร 5.00 น. วันนี้ หลังราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์พุ่งสวนน้ำมันตลาดโลก ด้านกระทรวงพลังงานเผยแนวโน้มการจัดเก็บรายได้จากการผลิตปิโตรเลียมในประเทศรอบปีงบประมาณ 52 อาจสูงถึง 1.4 แสนล้าน
มีรายงานข่าวว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และผู้ค้าน้ำมันทุกราย ประกาศปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มดีเซล 80 สตางค์ต่อลิตร โดยให้มีผลตั้งแต่เวลา 5.00 ของวันที่ 5 มิถุนายน 2552 (วันนี้)
ทั้งนี้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นดังนี้ น้ำมันดีเซล ปรับขึ้นเป็น 26.19 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซล บี 5 ราคา 26.19 บาทต่อลิตร ส่วนราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินไม่ปรับขึ้น
การปรับขึ้นราคาครั้งนี้ ผู้ค้าแจ้งว่า เป็นผลมาจากราคาดีเซลในตลาดสิงคโปร์ซึ่งไทยใช้อ้างอิงราคาขยับสูงมาก โดยราคาปิดวานนี้สูงขึ้นกว่า 77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แม้น้ำมันในตลาดโลกจะปรับลดลงกว่า 2 ดอลลาร์ต่อบาเรล
"เนื่องจากตลาดมองว่า ราคาน้ำมันดีเซลมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นอีก จึงมีการสำรองน้ำมันพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุปทานในภูมิภาคเอเชียตึงตัว ทั้งยังมีโอกาสในการขนย้ายน้ำมันไปขายยังยุโรปมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว" ผู้ค้าน้ำมันกล่าวอ้าง
นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงผลการจัดเก็บและประมาณการจัดเก็บรายได้ของประเทศจากกิจการสำรวจและผลิตของผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมภายในประเทศ และจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย ในรอบปีงบประมาณ 2552 ตามที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้รายงานให้ทราบว่า มีแนวโน้มการจัดเก็บรายได้สูงถึง 139,740 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2551 ประมาณ 15%
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวเพิ่มเติมว่าในปีงบประมาณ 2552 (1 ตุลาคม 2551 ถึง 30 กันยายน 2552) คาดว่า รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้จากกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งในประเทศและจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย รวมสูงถึงประมาณ 139,740 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยรายได้ที่จัดเก็บได้ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ จำนวน 25,827 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าภาคหลวงปิโตรเลียมเป็นเงิน 22,493 ล้านบาท ส่วนแบ่งรายได้และค่าภาคหลวงจากการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย (JDA) เป็นเงิน 3,334 ล้านบาท
อนึ่งสำหรับรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ในช่วง 6 เดือนหลังของปีงบประมาณ 2552 (1 เมษายน 2552 ถึง 31 ตุลาคม 2552) เป็นเงินประมาณ 113,913 ล้านบาท จัดเก็บโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมียอดประมาณ 27,313 ล้านบาท ซึ่งจะประกอบด้วยค่าภาคหลวงปิโตรเลียม 17,624 ล้านบาท ส่วนแบ่งรายได้และค่าภาคหลวงจากการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย (JDA) 3,189 ล้านบาท และผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษตามสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศอีกจำนวน 6,500 ล้านบาท ซึ่งรวมกับภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมจะต้องนำส่งให้แก่รัฐในปลายเดือนพฤษภาคม 2552 (ซึ่งจัดเก็บโดยกรมสรรพากร) อีกจำนวน 86,600 บาทด้วย
“การพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียม เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน ก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้กิจการปิโตรเลียมได้สร้างรายได้สูงถึงเกือบ 140,000 ล้านบาท ในปีงบฯ 2552 นี้ ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 15 หรือ 18,655 ล้านบาท นับว่ามีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ” รมว.พลังงาน กล่าวรุปทิ้งท้าย