xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นคาดปี 52 ทุเรียนไทยราคาพุ่งแตะกิโลฯละ 100

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นครศรีธรรมราช – “ปธ.ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนฯเมืองคอน” เผย มังคุด เงาะ ทุเรียน ทะลักออกนอกฤดู ส่งผลราคารับซื้อสูงเป็นประวัติการณ์ ระบุว่า ญี่ปุ่นตลาดหลักคาดปี 52 ทุเรียนราคาแตะ 100 บาทต่อกิโลกรัม เหตุพื้นที่ผลิตน้อย เกษตรกรนิยมบังคับนอกฤดู ทำให้ต้นทรุดโทรมตายอื้อ

ที่ จ.นครศรีธรรมราช ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพื้นที่ อ.ท่าศาลา อ.สิชล ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำคลองกลาย มีพื้นที่เกษตรกรรมจำนวนหลายหมื่นไร่ โดยเฉพาะประเภทสวนไม้ผลชนิดต่างๆ ล่าสุดนั้น พบว่า ได้มีผลผลิตนอกฤดูกาลโดยเฉพาะมังคุด เงาะ ทุเรียน ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก

แต่มีลักษณะพิเศษ คือ มีผลผลิตเฉพาะพื้นที่ดังกล่าวเท่านั้น ส่งผลให้ราคารับซื้อสูงมากเป็นประวัติการณ์ โดยมังคุดนั้นตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 140-170 บาท เงาะกิโลกรัมละ 75-140 บาท ทุเรียนกิโลกรัมละ 55 บาทและเกี่ยวกับเรื่องนี้ ปรากฏว่า ได้มีการคาดการณ์ว่าราวปี 2552 ทุเรียนจะมีราคารับซื้อสูงถึงกิโลกรัมละ 100 บาทอันเนื่องจากพื้นที่ปลุกทุเรียนลดน้อยลงตามลำดับอันเป็นผลสืบเนื่องจากการบังคับให้ออกนอกฤดูหรือทุเรียนทวาย

นายโกวิทย์ บัวพันธ์ อายุ 36 ปี อยู่ 100 ม.6 ต.สระแก้ว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะประธานศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ต.สระแก้ว เปิดเผยว่า ในฐานะผู้รับซื้อจากเกษตรกรและประสานงานกับผู้ซื้อระหว่างประเทศโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นได้มีการประมาณการล่วงหน้าแล้วว่าในปี 2552 ทุเรียนคุณภาพส่งออกจะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งเป็นราคาที่รับซื้อจากเกษตร

“สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะว่าขณะนี้ปริมาณพื้นที่ปลูกทุเรียนโดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์ที่เป็นที่นิยมในต่างประเทศลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลสืบเนื่องจากการทำทุเรียนนอกฤดูกาล การใช้ฮอร์โมนบังคับต้นให้ผลิดอกออกผลนอกฤดูกาล ตรงนี้มีข้อเสียคือทำให้ต้นทุเรียนทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงจุดหนึ่งทุเรียนไม่สามารถรับสภาพได้จะค่อยๆแห้งตายลงไปในที่สุด ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะเกิดขึ้นกับสวนที่ทำทุเรียนนอกฤดูกาล”

นายโกวิทย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของนครศรีธรรมราชและพื้นที่ใกล้เคียงสวนทุเรียนได้ทยอยตายลงไปมากแล้ว แต่ผลที่เกษตรกรได้รับก่อนที่ทุเรียนจะตายนั้นได้กำไรสูงมาก บางรายหันไปปลุกยางพาราแทนพื้นที่ปลูกทุเรียนเดิม หรือทำเกษตรกรรมอย่างอื่น ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นโดยทั่วไปดังนั้นพื้นที่ปลูกทุเรียนจึงค่อยๆ สูญหายไป ในขณะที่พื้นที่ปลูกใหม่ยังไม่เพิ่มมาก ส่วนที่ปลูกไปแล้วนั้นยังไม่ถึงช่วงผลิดอกออกผล

“สิ่งที่ตามมาแน่ๆ คือ เมื่อความต้องการทุเรียนในตลาดส่งออกสูง ราคาย่อมสูงตามล่าสุดได้มีการพูดคุยกับตลาดส่งออกในญี่ปุ่นได้มีการประมาณการลักษณะนี้เช่นกันปัจจุบันราคารับซื้อในช่วงนอกฤดูอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 60-70 บาท แต่เมื่อปี 2552 เชื่อว่าราคาจะสูงขึ้นถึงราคากิโลกรัมละ 100 บาทหรือมากกว่านั้น ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นคาดว่าพื้นที่ปลูกอาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ และตลาดผลไม้ในต่างประเทศลักษณะนี้ยังกว้างมากอยู่ที่เกษตรกรจะสามารถทำได้หรือไม่เท่านั้น” นายโกวิทย์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น