xs
xsm
sm
md
lg

เมืองลุงเตรียมรับมือสู้ราคาข้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พัทลุง – ประชุมรับมือข้าวนาปีผลผลิตคาดว่า มีไม่ต่ำกว่า 130,000 ตัน ขณะที่พาณิชย์เผยเกษตรกร โรงสีให้ความสนใจน้อย เนื่องในท้องตลาดข้าวมีราคาสูง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดพัทลุง ว่า จังหวัดพัทลุง ถือเป็นจังหวัดที่ปลูกข้าวในระดับต้นๆ ของภาคใต้ที่เกษตรกรปลูกไว้กินเอง และปลูกเพื่อการค้า ส่งออกขายในต่างจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มรอบทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นแหล่งพื้นที่ปลูกข้าวที่สำคัญของจังหวัด

โดยพื้นที่จังหวัดพัทลุง มีเกษตรกรทำนา 40,221 ราย มีพื้นที่ประมาณ 289,241 ไร่ ทั้งปลูกข้าวไวแสง และข้าวนาปีทั้งพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์ กข.ต่างๆ โดยในแต่ละปีมีผลผลิต ในเดือนมกราคม 26,000 ตัน ในเดือนกุมภาพันธ์ ประมาณ 2,500 ตัน และในเดือน มีนาคม ต่อ เดือนเมษายน ประมาณ 86,200 ตัน รวมทั้งสิ้น 132,700 ตัน และในแต่ละปีราคาผลผลิตข้าว ของเกษตรกรไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับดิน ฟ้า อากาศ

โดยในปีนี้เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือเกษตรกรทำนา ทางจังหวัดพัทลุง คณะอนุกรรมการข้าวในระดับจังหวัด โดยมี นางสาวดวงใจ ช.บุญพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เรียกประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติระดับจังหวัด เพื่อสรุปผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในปีที่ผ่านมา และเตรียมการรับจำนำข้าวเปลือกฤดูการผลิต ปี 2550/2551 ทั้งนี้ เพื่อพยุงราคาข้าวเปลือกของเกษตรกรชาวนา

โดย น.ส.ดวงใจ ช.บุญพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า อนุกรรมการระดับจังหวัดมีทั้งหมด 15 คน มี ปลัดจังหวัดเป็นเลขาฯ ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้แต่งตั้ง ในการประชุมรอบแรกนั้น ทาง เลขาฯไม่มาเข้าร่วมประชุม ซึ่งอาจจะมองไม่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งทางอนุกรรมการระดับจังหวัดน่าจะมีความรับผิดชอบมากกว่าในการช่วยเกษตรกร ที่มักจะถูกพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบอยู่เสมอ โดยอยากให้อนุกรรมการระดับจังหวัด ประเมินปัญหาในปีที่ผ่านมา เพื่อจะนำมาแก้ไขในการจำนำในฤดูกาลที่จะถึงนี้

ทางด้าน นางสุชาดา แก้วมณี หัวหน้าสำนักงานการค้าภายใน กล่าวว่า ที่ผ่านมาทาง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.เป็นผู้รับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรที่มียุ้งฉางเป็นของตนเอง โดยมีปัญหาอุปสรรค ในหลายๆด้าน ทั้ง ราคาข้าวเปลือกในท้องตลาด ใกล้เคียงกับราคาของโครงการ เกษตรกรชาวนาขายข้าวเปลือกให้กับพ่อค้าโดยตรง เนื่องจากเห็นว่าการรับจำนำข้าวเปลือกค่อนข้างจะยุ่งยากซับซ้อน ต้องมีใบรับรองจากสำนักงานเกษตร

อีกทั้งเกษตรกรไม่มียุ้งฉางเป็นของตนเอง และยังพบว่า ในปีนี้ทางผู้ประกอบการโรงสีก็เข้าร่วมโครงการน้อยเนื่องจากติดในระบบราชการ โดยโรงสีต้องวางเงินค้ำประกันสูง เพิ่มขึ้นจาก ปีที่ แล้ว 20 เปอร์เซ็นต์ มาในปีนี้ต้องวางค้ำสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเงินที่วางค้ำนั้น ไม่สามารถเอามาลงทุนได้ และหากเกษตรกรกรไม่นำข้าวมาขายกับโรงสีที่เข้าโครงการ ทำให้เงินที่ค้ำกับ ธกส.ทางเจ้าของโรงสีคิดว่าจะไม่เกิดผลดีอะไร โดยในปีที่ผ่านมามีเกษตรกรขอใบรับรอง 97 ราย และรับจำนำข้าวกับ ธ.ก.ส. 6 ราย ปริมาณข้าวเปลือก 194.44 ตัน มูลค่า 1,197,000 บาท เท่านั้น

นางสุชาดา ยังกล่าวอีกว่า ในปีนี้พื้นที่ภาคใต้ ได้กำหนดระยะเวลารับจำนำข้าวเปลือกตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - วันที่ 31 พฤษภาคม 2551 ในขณะที่รัฐบาลกำหนดราคารับจำนำ โดยข้าวเปลือกเจ้านาปี ข้าว100 เปอร์เซ็นต์ เกวียนละ 6,700 บาท ข้าว 5 เปอร์เซ็นต์ เกวียนละ 6,600 บาท ข้าว 10 เปอร์เซ็นต์ เกวียนละ 6,500 บาท ข้าว 15 เปอร์เซ็นต์ เกวียนละ 6,300 บาท และข้าว 25 เปอร์เซ็นต์ เกวียนละ 6,100 บาท ในขณะที่ราคาข้าว 5 เปอร์เซ็นต์ ราคาในท้องตลาดอยู่ที่เกวียนละ 7,300 บาท โดยรวมคาดว่าปีนี้น่าจะมีเกษตรเข้าร่วมโครงการน้อยเหมือนปีที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น