การทำธุรกิจส่งออกของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทย ไม่ได้ง่ายเหมือนในอดีต การแข่งขันที่รุนแรง และรับมือกับสงครามการค้า ที่เกิดจากประเทศมหาอำนาจ ผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป อย่างเช่น ปลากระป๋องที่เคยผลิตให้กับแบรนด์ดังมาหลายแบรนด์ วันนี้ เมื่อกิจการตกมาอยู่ในมือ ของทายาทสาวในวัย 29 ปี รับมือค่าแรงเพิ่มขึ้น สงครามการค้าการขึ้นภาษี รวมถึง ปัญหากระทบกระทั่งเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ซึ่งเป็นล้วนแต่เป็นลูกค้า
โรงงานรับจ้างผลิตปลากระป๋อง
แบรนด์ดังมาแล้วกว่า 10 ประเทศ
นางสาวนิสรีน หลําสุบ อายุ 29 ปี ผู้บริหาร บริษัท ทวีชัย ฟู้ด แมนูแฟคเจอริ่ง จํากัด ผู้ผลิต และจัดจำหน่ายปลากระป๋อง เล่าว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินกิจการผลิตปลากระป๋องมากว่า 25 ปี โดยมีโรงงานอยู่ที่จังหวัดสงขลา เดิมผลิตในรูปแบบของ OEM ตลาดส่วนใหญ่เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นการส่งออกไปขายต่างประเทศ มากกว่า 10 ประเทศ และผลิตให้แบรนด์ดังในประเทศ
สำหรับโรงงานปลากระป๋องของเราได้เปิดดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี 2543 ทำการผลิตปลากระป๋อง เกรดพรีเมี่ยม ให้กับลูกค้าที่ต้องการทำแบรนด์ของตัวเอง และเรายังเป็นโรงงานที่รับจ้างผลิตที่ลูกค้าไม่จำเป็นจะต้องมียอดการผลิตจำนวนมากๆ มีงบเท่าไหร่ก็มาพูดคุยกันได้ ทางเราก็ยินดีและรับผลิตให้ เพียงแค่ได้มีการพูดคุยกันก่อน ในขณะที่โรงงานอื่นอาจจะต้องมียอดการผลิตขั้นต่ำจำนวนเยอะ เราก็อยากจะเป็นทางเลือกให้คนที่งบน้อย หรือ ไม่ต้องการลงทุนเยอะในสภาพการแข่งขันที่รุนแรง แต่อยากจะสินค้าที่ผลิตภายใต้แบรนด์ของตัวเอง
ทั้งนี้ ลูกค้าที่โรงงานของเราเคยผลิตให้ ในประเทศหลายแบรนด์ รวมถึงแบรนด์ดังที่ทำตลาดในขณะนี้ เช่น ปลากระป๋องแบรนด์อะยัม AYAM ปัจจุบันไม่ได้ผลิตให้กับแบรนด์ดังกล่าว
หันมาทำแบรนด์ของตัวเอง
จุดขายคุณภาพเดียวกัน ในราคาถูกกว่า
นอกจากนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา เน้นการผลิตให้กับคนที่ต้องการจะทำแบรนด์ของตัวเอง โดยที่เราไม่เคยทำแบรนด์ขายในประเทศอย่างจริงจัง แต่หลังจากที่ตนเองเข้ามาดูแลกิจการ เราได้หันมามุ่งการทำสินค้าภายใต้แบรนด์ของเราเอง ปัจจุบัน สัดส่วนการขายในประเทศ เพิ่มขึ้นเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ โดยจุดขายของเราคือ ทำปลากระป๋องเกรดพรีเมี่ยม แต่ขายในราคาที่ถูกกว่า แบรนด์อื่นๆ ในคุณภาพเดียวกัน ซี่งราคาของเราเริ่มต้นที่ กระป๋องละ 25 บาท และเป็นปลากระป๋องที่เน้นสุขภาพ โลว์โซเดียม และ ไม่ใส่ผงชูรส
ครั้งแรกปลาแมคเคอเรลในเครื่องแกงใต้
ทั้งนี้ ล่าสุดทางเรายังได้ออกสินค้าตัวใหม่ เป็นปลาแมคเคลเรล ในซอสเครื่องแกงใต้ เป็นจ้าวแรกในรูปแบบของปลากระป๋อง เนื่องจากเราเป็นคนใต้ ครอบครัวเกิดในพื้นที่ภาคใต้ และโรงงานของเราอยู่ภาคใต้ การที่ออกสินค้าตัวใหม่ที่เป็นปลากระป๋องในเครื่องแกงใต้ เป้าหมายนอกเหนือจากการสร้างความแตกต่างเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับลูกค้าของเราแล้ว ส่วนหนึ่ง คือ เราต้องการจะสนับสนุนส่งเสริมของดีเอกลักษณ์ของภาคใต้ อย่างอาหารใต้ที่เป็นแบบต้นตำรับของคนใต้แท้ ให้กับคนในภาคอื่น สามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น และเพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนที่ชื่นชอบอาหารใต้ด้วย
ในส่วนของช่องทางจำหน่าย ปัจจุบัน มีขายในห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ ในร้านซีเจ CJ ร้านมินิมาร์ทในท้องถิ่น เช่น ร้านลีนิวัฒน์ ร้านถูกดี และ ร้าน K&K เป็นต้น ซึ่งจำหน่ายอยู่ภายใต้แบรนด์ มาติน่า ,พีพี ,เอ็มแอนด์เค, เฮงเฮง โดยสัดส่วนการขายในประเทศตอนนี้เพิ่มเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการรับจ้างผลิต ยังคงทำให้กับแบรนด์ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา กัมพูชา พม่า มาเลเซีย และทางประเทศแอฟริกาใต้ ฯลฯ
รับมือวิกฤตรอบด้าน ค่าแรงขึ้น การค้าชายแดน และสงครามภาษีสหรัฐ
หลังจากที่ปัญหาชายแดนไทย เขมร ตอนนี้ลูกค้ากัมพูชา หยุดสั่งสินค้าชั่วคร่าว ยอดการสั่งซื้อตรงนี้หายไปเลย ส่วนการประกาศการขึ้นภาษี ของประธานาธิบดีทรัมป์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากตอนนี้ยังไม่ได้ขึ้นภาษี ยังขายได้อยู่ แต่ถ้าขึ้นภาษีไม่แน่ใจว่าออเดอร์จะยังเหมือนเดิมไหม ทำให้ต้องหันไปพึ่งตลาดในประเทศทางแอฟริกาใต้ ในแทบละตินอเมริกา ให้มากขึ้น ส่วนในเอเชียตอนนี้ หันไปทำตลาดในประเทศมาเลเซีย เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เรา รวมถึงการเข้าไปทำตลาดในประเทศเวียดนาม และประเทศลาวให้มากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ นางสาวนิสรีน ทายาทคนรุ่นใหม่ในวัยไม่ถึง 30 ปี เผยถึงการเข้ามาทำหน้าที่ ดูแลกิจการต่อจากครอบครัวในช่วงที่เจอปัญหาหลายอย่าง ต้องรับมือโดยยังมีครอบครัวที่อยู่เบื้องหลังคอยให้การช่วยเหลือ ไม่ได้โดดเดี่ยวเสียทีเดียว เช่น ล่าสุด การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ที่มีผล เดือนกรกฎาคม นี้
ตนเองเตรียมรับมือไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว โดยเราจะนำเทคโนโลยี เครื่องจักรเข้ามาใช้แทนแรงงานคน โดยไม่ได้ลดแรงงานที่มีอยู่ กว่า 30 คน แต่จะเกลี่ยให้เขาไปทำงานในส่วนอื่นๆ แทน เป็นการบริการจัดการแรงงานให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วย เป็นการจัดการบริหารต้นทุนแบบยั่งยื่นด้วย แต่เป็นการลงทุนที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่คุ้มค่าในอนาคต
เสนอรัฐบาลแก้วิกฤตSME การให้เงินอุดหนุน
ในส่วนของการทำตลาด ในฐานะผู้ส่งออก อยากให้ทางรัฐบาลเข้ามาช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการส่งออกอาหาร เพราะการส่งออกเป็นการนำรายได้เข้าประเทศ ในบางประเทศ ที่เป็นคู่แข่งกับเราได้รบการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ เป็นเงินอุดหนุนภาครัฐ ทำให้สามารถแข่งขัน รับมือ กับสถานการณ์ต่างๆ ได้ การสนับสนุในครั้งนี้ หมายถึง การให้เงินอุดหนุน
นิสริน เล่าว่า เธอได้เข้ามาดูแลกิจการต่อจากครอบครัว ตั้งแต่ปี 2561 ทำงานตรงนี้ ในฐานะ ผู้บริหารมาได้ประมาณ 6 ปี ครอบครัวได้ เทคโอเว่อร์ กิจการต่อมาจากเจ้าของเดิม และ ยกให้ตนเองในฐานะหลานสาว เข้ามาดูแลกิจการ หลังจากที่ตนเองได้ไปเรียนด้านบริหาร มาจากมหาวิทยาลัยในลอนดอน ประเทศอังกฤษ เนื่องจากเรียนจบด้านบริหารมาโดยตรง แผนในอนาคต ตั้งใจที่จะหาลูกค้าในต่างประเทศ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ แทบละตินอเมริกา และให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ของตัวเองให้มากขึ้น รวมถึง การออกสินค้าตัวใหม่ที่ยังไม่มีตลาด ส่วนรายได้ของบริษัทฯ ในปี 2567 กว่า 230 ล้านบาท
ติดต่อ โทร. 08-4997-1991
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด