xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจ-การเมือง รุมกระหน่ำรัฐบาล !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เศรษฐา ทวีสิน - พิชัย ชุณหวชิร
เมืองไทย 360 องศา

เรียกว่าบรรยากาศไม่ดีเอาเสียเลย สำหรับรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ มี นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเหมือนกับว่า ทุกปัญหากำลังประดังเข้ามาทุกทิศทาง ของเก่ายังแก้ไม่ได้ แต่ปัญหาใหม่ก็ประดังเข้ามาอีก แม้ว่าบางเรื่องที่ไม่น่าจะสมควรให้เป็นเรื่อง แต่ก็แส่หาเรื่องจนได้กลายเป็นปัญหาที่ต้องตามแก้ตามเช็ดกันอีก

ที่เห็นล่าสุดก็คือ กรณีข่าว นายทักษิณ ชินวัตร ที่ยังมีสถานะ “นักโทษ” ถูกคุมประพฤติแต่ก็ดันไปล้ำเส้นเจรจากับชนกลุ่มน้อยของพม่าหรือเมียนมา จนอาจสร้างความระแวงให้กับเพื่อนบ้านและประเทศมหาอำนาจที่มีผลประโยชย์และอิทธิพลในประเทศนั้น

หากเริ่มมองปัญหาเศรษฐกิจก่อน โดยข่าวจากกระทรวงพาณิชย์รายงานว่า การส่งออกในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาลดลงกว่า 10% และตามมาด้วยการแถลงข่าวของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ว่าสภาพเศรษฐกิจเราปีนี้ น่าจะซบเซากว่าที่คาดเอาไว้ โดยปรับลดอัตราการเติบโตลงจากเดิมร้อยละ 2.8 เมื่อเดือนมกราคม เป็นร้อยละ 2.4 สาเหตุเป็นเพราะการส่งออกหดตัวลง รวมไปถึงภัยแล้งในประเทศที่แผ่ขยายในวงกว้าง และยาวนานทำให้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร

ซ้ำเติมด้วยเสียงต่อต้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ที่บรรดาหอการค้าทั่วประเทศ ที่ผนึกกำลังกับอีกหลายหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจ โดยระบุว่าจะสร้างหายนะทั้งนายจ้าง ผู้ประกอบการรายกลาง รายเล็ก รวมไปถึงลูกจ้างที่จะต้องตกงานเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะต้องมีการปรับขึ้นราคาสินค้าตามมาอีก ตามต้นทุนค่าแรง ค่าวัตถุดิบ ค่าพลังงานที่แพงขึ้น

อีกด้านหนึ่ง เงินบาทอ่อนยวบ ธนาคารแห่งประเทศไทยยอมรับว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับดอลล่าร์ อ่อนลงไป 7.8% ตั้งแต่ต้นปี

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้แถลงข่าวคัดค้านนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ

โดยพวกเขาอ่านแถลงการณ์คัดค้านพร้อมระบุว่า ได้รับการร้องเรียนจากภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ 54 สมาคมการค้า ได้ส่งรายชื่อไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงดังกล่าว เพราะเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนจนไม่เหลือผลกำไร และทางหอการค้าไทย จะนำรายชื่อสมาคมที่คัดค้านไปยื่นให้กับ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในวันที่ 13 พ.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะมีถึง 100 สมาคมการค้า ทั้งนี้การปรับค่าแรงจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น บางจังหวัดจะขึ้นไปถึง 21% ดังนั้น การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยไม่คำนึงถึงตามที่กฎหมายกำหนดจะทำให้ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการหยุดกิจการ ลดขนาดกิจการหรือปรับธุรกิจออกนอกระบบภาษี จนนำไปสู่การปลดลูกจ้างและเลิกจ้างพนักงานในที่สุด

การปรับค่าจ้างครั้งนี้ คือการกระชากด้วยนโยบายจากการหาเสียง ไม่ได้ปรับขึ้นตามความจำเป็น โดยปีที่แล้วเศรษฐกิจไทยเติบโตเพียงแค่ร้อยละ 1.9 และเมื่อมองย้อนหลังไป 3 ปี เศรษฐกิจไทยเติบโตแค่ร้อยละ 6 ซึ่งจากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า การปรับค่าจ้างแรงงาน ควรปรับตามกลไกและตามค่าครองชีพที่สูงขึ้น การปรับครั้งนี้จะทำให้การจ้างงานไม่สดใส ผู้ประกอบการจะหันไปใช้เครื่องจักรมากขึ้นในอนาคต

มีรายงานว่า ตัวแทนภาคเอกชนจะเข้าพบ รมว.แรงงาน ในวันที่ 13 พฤษภาคม ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการไตรภาคี ที่ประกอบด้วย นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ทั้งนี้ หากยังเดินหน้าที่จะขึ้นค่าแรง จะมีการฟ้องต่อศาลปกครอง

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลแถลงว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาททั่วประเทศ ในวันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป ซึ่งการประสานเสียงคัดค้านจากภาคเอกชนครั้งนี้ เนื่องจากไม่ได้สะท้อนปัญหาที่แท้จริง เป็นการปรับตามความต้องการทางการเมือง ขณะที่ภาคเอกชนจะเป็นฝ่ายแบกรับต้นทุนเพิ่ม และระบุว่าในปีนี้ก็มีการปรับขึ้นค่าแรง มาแล้วถึง 2 ครั้ง หากขึ้นเป็นวันละ 400 บาทอีก ก็เป็นการปรับขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในรอบหนึ่งปี

เรื่องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลได้ประกาศไปล่วงหน้าแล้วว่าจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม แต่เมื่อดูปฏิกิริยาจากภาคเอกชน ก็ถือว่ามันไม่ง่ายแล้ว

ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจากนโยบายเติมเงินหมื่นบาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ย้ำว่าจะเริ่มแจกแน่ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ แต่จนวันนี้ก็ยังไม่ชัวร์อยู่ดี โดยเฉพาะในเรื่องของที่มาของเงิน โดยเฉพาะในส่วนที่บอกว่า จะเอาออกมาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จำนวนกว่า 172,300 ล้านบาท ซึ่งก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะผิดกฎหมาย ผิดวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง ธกส.หรือไม่ โดยที่ผ่านมารัฐบาลเตรียมที่จะให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความก่อน ว่าทำได้หรือไม่ ความหมายก็คือ “ยังไม่ชัวร์” นั่นเอง

แม้ว่าเวลานี้จะมีการแต่งตั้ง นายพิชัย ชุณหวชิร เป็นรองนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่คาดว่าจะเป็นทีมเศรษฐกิจ ที่มาขับเคลื่อนนโยบาย “ดิจิทัล วอลเล็ต” ก็ตาม และตามรายงานข่าวบอกว่า จะเริ่มมีการประชุมในเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง ภายในสัปดาห์นี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความจะคืบหน้า เนื่องจากยังมีปัญหาในเรื่องกฎหมาย ทำให้หลายคนก็ยังเชื่อว่า ในที่สุดแล้วโครงการดังกล่าวก็จะทำไม่ได้

แต่หากเดินหน้าต่อไปไม่ได้ หรือว่า มีการลดขนาดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก็ต้องบอกว่าเป็นหายนะของรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยแน่นอน เพราะมันเชื่อมโยงกับเรื่องการเมือง กระทบต่อคะแนนนิยมอย่างแรง จนถึงขั้นกระทบต่อสถานะของนายกรัฐมนตรี กระทบต่อพรรค เป็นลูกโซ่ไปหมด

เมื่อหันมาทางเรื่องการเมือง ก็เกิดเสียงวิจารณ์ในทางลบมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด “เศรษฐา1/1” ที่รัฐมนตรีหลายคนถูกวิจารณ์อย่างหนัก เรียกว่าปรับแล้วไม่ได้ดีขึ้นกว่าเดิม และล่าสุดกรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร ก็ยังมาสร้างความสับสนและเสี่ยงต่อปัญหาระหว่างประเทศจากการไปยุ่มย่ามในปัญหาพม่า พยายามเป็นตัวกลางประสานความขัดแย้ง แต่เมื่อพิจารณาผลตอบสนองกลับมา ไม่น่าจะเป็นบวกเลย

เอาเป็นว่าในตอนนี้ทุกปัญหากำลังรุมเร้าเข้ามาทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ข้าวของแพง ค่าครองชีพสูง ซึ่งมันก็ย่อมส่งผลกระทบลามไปถึงการเมือง ความนิยมของรัฐบาลและพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่เวลานี้เหมือนกับว่าไม่ว่าจะทำอะไรก็ถูกวิจารณ์ไปหมด และเมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มข้างแล้วก็ยิ่งนับวันจะหนักกว่าเดิม เพราะปัจจัยภายนอกและภายในล้วนไม่เป็นใจเอาเสียเลย !!


กำลังโหลดความคิดเห็น