เมืองไทย 360 องศา
พิจารณาจากความเคลื่อนไหวล่าสุด เชื่อว่าการปรับคณะรัฐมนตรีจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ ซึ่งน่าจะไม่เกินสิ้นเดือนเมษายน หรืออย่างช้าก็ต้นเดือนพฤษภาคม และตามรายงานข่าวก็ยืนยันว่า อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงบางตำแหน่งที่มีความอ่อนไหว เช่น บางคนที่ตอนแรกบอกว่าจะหลุดออกไป แต่ในที่สุดก็ระบุว่าเก้าอี้ยังเหนียวอยู่ อย่างไรก็ดี สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลนาทีนี้ ที่ถือว่าชัวร์ที่สุดก็คือ พรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นเพียงแค่เพิ่มอีก 1 รายชื่อตามโควตาที่มีอยู่เดิมเท่านั้นเอง
ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง บนตึกไทยคู่ฟ้า ภายหลังการหารือ นายกฯปฏิเสธตอบคำถามถึงกรณีร.อ.ธรรมนัส ไปพบ และมีการส่งรายชื่อรัฐมนตรีในโควตาพรรคพปชร.แล้วหรือไม่
ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวถึงความคืบหน้าการเสนอรายชื่อรัฐมนตรีในส่วนของโควตาพรรคที่ว่าง 1 ตำแหน่ง ว่า เราได้ส่งรายชื่อ นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร เขต 1 และทางพรรคก็ได้ส่งรายชื่อสำรองไป 3 รายชื่อเรียบร้อยแล้ว เมื่อถามย้ำว่า ได้ส่งรายชื่อไปเรียบร้อยแล้วใช่ หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ก็ตามที่เป็นข่าว ก็แล้วแต่นายกรัฐมนตรี เมื่อถามว่า 3 รายชื่อสำรองมีใครบ้าง ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ขอให้ถามนายกรัฐมนตรี เมื่อถามย้ำว่า ส่งรายชื่อไปเรียบร้อยทั้งหมดแล้วใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพปชร. ส่งรายชื่อไปหลายวันแล้ว เมื่อถามว่าส่งรายชื่อไปแล้วก็ต้องไปเลือกกันอีกที ใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมมนัส กล่าวว่า “มันต้องเอาไผ่เป็นคนแรกก่อน”
มีรายงานว่า สำหรับ 3 รายชื่อสำรองของพรรคพลังประชารัฐได้แก่ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา นายอนันต์ ผลอำนวย สส.กำแพงเพชร เขต 3 และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ อดีต รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค
สำหรับ นายไผ่ ลิกค์ ก่อนหน้านี้ทางพรรคพลังประชารัฐได้เคยส่งชื่อไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่ติดปัญหาเรื่องคุณสมบัติ จึงต้องรอไปก่อน และเมื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ถูกยกคำร้อง เพราะเห็นว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ เมื่อเป็นแบบนี้ทำให้เชื่อว่าอาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อใหม่ ซึ่งทางพรรคจึงต้องมีการเสนอชื่อสำรองให้พิจารณาเพิ่มเติมดังกล่าว
ความเคลื่อนไหวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ต้องการให้จบเร็วภายในสิ้นเดือนเมษายน แต่ยังไม่นิ่ง ยังคงมีความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง จากเดิมนายพิชัย ชุณหวชิร ที่ปรึกษานายกฯที่มีชื่อเป็นรมว.คลัง ตำแหน่งเดียว แต่ล่าสุดจะควบตำแหน่งรองนายกฯ อีกตำแหน่ง ในส่วนของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ ยังนิ่งที่จะโยกไปเป็น รมว.สาธารณสุข เช่นเดียวกับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ที่จะควบรองนายกฯ อีกตำแหน่ง ส่วน นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.การต่างประเทศ อาจมีการปรับเหลือแค่ตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ เพียงตำแหน่งเดียว
ขณะที่ ในส่วนของนายเศรษฐา ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะลุกจากเก้าอี้ รมว.คลัง ไปควบ รมว.กลาโหม แทน นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ล่าสุดมีเสียงท้วงติง และข้อห่วงใยเพราะตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งที่ละเอียดอ่อน มีหลายเรื่องที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ทำให้ยังไม่ตกผลึก ซึ่งทั้งนายกฯ และคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กำลังหารือเพื่อหาทางออกให้ทุกอย่างออกมาสมดุลที่สุด ทำให้ที่สุดแล้วนายเศรษฐา อาจนั่งแค่ตำแหน่งนายกฯ เพียงตำแหน่งเดียว และนายสุทิน ยังเป็น รมว.กลาโหม เหมือนเดิม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคนที่มีแนวโน้มว่าจะหลุดจากตำแหน่ง ในส่วนของเพื่อไทย ล่าสุดเหลือเพียง 3 คน คือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมต.ประจำสำนักนายกฯ ส่วนที่จะเข้ามาใหม่ นอกจากนายพิชัย แล้วยังมี นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรมว.คลัง ที่จะมานั่งตำแหน่งรมช.คลัง
ส่วนที่มีชื่อใหม่เข้ามาล่าสุดคือ น.ส.จิราพร สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ด และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ถือเป็น สส.รุ่นใหม่ที่มีบทบาทโดดเด่นในสภา อีกทั้งมีความใกล้ชิดนายเศรษฐา ติดตามลงพื้นที่หลายครั้ง อาจจะถูกผลักดันให้มาเป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ ขณะที่นายสุทิน และ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย ที่มีข่าวจะถูกปรับออก ล่าสุดมีแนวโน้มได้อยู่ตำแหน่งเดิม
ก็ว่ากันไป เอาเป็นว่าตราบใดที่ยังไม่มีการประกาศรายชื่อออกมา มันก็ย่อมมีความเคลื่อนไหวเรื่องรายชื่อรัฐมนตรีออกมาให้เห็นเป็นรายวัน คนนั้นเข้าคนนี้หลุดจากตำแหน่งได้ตลอดเวลา แต่สิ่งที่ถือว่าน่าจะชัวร์แล้วก็คือ นายเศรษฐา จะต้องปล่อยมือจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปแล้ว เพราะคนที่มาแทนคือ นายพิชัย ชุณหวชิร ซึ่งชื่อนี้ในเวลานี้ถือว่า “นิ่ง” มาก และติดมาทุกโผ ไม่เปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ดี สำหรับการปรับคณะรัฐมนตรีคราวนี้ รัฐมนตรีที่ต้องโฟกัสเป็นพิเศษก็คือ กระทรวงการคลัง เพราะนาทีนี้ถือว่าเป็น “หัวใจสำคัญ” ในการขับเคลื่อนนโยบายเรือธงอย่าง “ดิจิทัล วอลเล็ต” ที่จนถึงตอนนี้ถือว่ายังไม่ค่อยคืบหน้าเท่าทีควร และกลายเป็นว่ารัฐบาลกำลังถูกตีกระหน่ำมาจากรอบทิศทาง และแม้ว่าจะมีการยืนยันว่า จะได้รับการแจกเงินภายในไตรมาสสี่ปีนี้ แน่นอน แต่ก็ดูเหมือนว่ายังไม่เชื่อมั่นเต็มร้อย อีกทั้งในเรื่องรายละเอียดในเรื่องที่มาของเงิน ก็ยังไม่เคลียร์ โดยเฉพาะในส่วนที่จะนำเงินมาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จำนวนกว่า 1.72 แสนล้านบาท ที่จะใช้วิธีแบบ กู้ หรือเงินยืม หรือแบบ “ทดรองจ่าย” กันแน่ แต่ทุกเรื่องล้วนมีความเสี่ยงทางกฎหมายในเรื่องวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการของ ธกส. ต้องขึ้นกับการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่
แต่นโยบาย “ดิจิทัล วอลเล็ต” ถือว่าเป็น นโยบาย “เรือธง” นาทีนี้ยังไงก็ต้องเดินหน้า จะหยุดหรือเลิกกลางคันไม่ได้ เพราะจะเกิดความเสียหายเหลือคณานับ ถึงแม้ว่าจะออกมา “ไม่ตรงปก” แต่ก็ยังดีกว่า ไม่ทำหรือไม่ได้ทำ และยิ่งในเวลานี้ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ถือว่าเป็น “เจ้าของพรรค” ออกมาสนับสนุนเต็มตัว ก็ต้องมีเดิมพันสูงตามไปด้วย
ดังนั้น การปรับคณะรัฐมนตรีคราวนี้แม้ว่ายังมีบางกระทรวงที่น่าจับตา เช่น กลาโหม สาธารณสุข แต่นาทีนี้ต้องโฟกัสไปที่กระทรวงการคลังก่อน เพราะทั้งรัฐมนตรีว่าการ และช่วยว่าการที่เรียกว่าเข้ามาแบบ “ยกทีม” เป้าหมายก็เพื่อเดินหน้านโยบาย “ดิจิทัล วอลเล็ต” เต็มตัว หลังจากชะงักมานาน และแม้ว่าในอนาคตจะยังไม่มีความชัวร์ก็ตาม แต่ก็ต้องเดินหน้าอย่างเดียว!!