xs
xsm
sm
md
lg

ตำนาน 200 ปี สุรากลั่นพื้นบ้าน “สักทองแพร่” จากเหล้าเถื่อน สู่ ผลิตถูกกฎหมายสร้างรายได้ชุมชนยอดขายหลักแสนขวดต่อเดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การต้มเหล้า เป็นภูมิปัญญาของคนไทยที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แต่หลังจากที่ภาครัฐต้องการควบคุมการผลิตสุราให้อยู่ในกรอบ และสามารถเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และประกอบกับสุราเป็นเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคม การต้มเหล้ากลายเป็นอาชีพต้องห้าม ตั้งแต่นั้นมา พอมาเมื่อ 20 ปี ก่อนหน้านี้ สรรพสามิตได้เปิดให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สามารถผลิตสุรากลั่นจากพืชผลทางการเกษตรออกมาจำหน่ายได้ เป็นที่มาของ สุรากลั่นพื้นเมือง สักทองแพร่ ที่มาจากครอบครัว ซึ่งสืบทอดการทำต้มเหล้ามานานกว่า 200 ปี


ตำนาน 200 ปี จากเหล้าเถื่อน สู่ ธุรกิจสุรากลั่นพื้นบ้าน

คุณกัญญาภัค ออมแก้ว เจ้าของสุรากลั่นพื้นบ้าน สักทองแพร่ และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสุรากลั่นพื้นบ้าน สักทองแพร่ ผู้ผลิตสุรากลั่นพื้นบ้าน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เล่าว่า ตนเองสืบทอดการทำสุรากลั่นพื้นบ้าน ที่ตกทอดจากบรรพบุรุษมาหลายชั่วอายุคน รวมเวลานานกว่า 200 ปี จากเส้นทางในอดีต ที่หลายคนเรียกกันว่า การต้มเหล้าเถื่อนขาย แบบหลบๆ ซ่อน ๆ จนมาถึงวันหนึ่งที่ได้รับอนุญาตให้สามารถทำสุรากลั่นพื้นบ้าน ได้อย่างถูกกฎหมาย

“ถ้านับรวมการทำสุรากลั่นพื้นบ้านที่สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ กับสรรพสามิตอย่างถูกต้อง เมื่อประมาณ สัก 20 ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ครอบครัวสืบทอดการทำสุรากลั่นพื้นบ้านมาตลอด นับว่าตนเองทำเป็นรุ่นที่เท่าไหร่นับกันแทบไม่ถูก เพราะนานมาก ตั้งแต่ก่อนรุ่น ปู่ย่า ตายาย ตกมาถึงรุ่นพ่อ แม่ และก็มาถึงรุ่นตนเอง ซึ่งได้จดทะเบียนในนามของ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสุรากลั่นพื้นบ้านสักทองแพร่”



เพิ่มมูลค่าพืชผลการเกษตรในชุมชน

ปัจจุบันสักทองแพร่ ได้ทำสุรากลั่นพื้นบ้าน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกมาในหลายรูปแบบตามคุณภาพเช่นเดียวกับการทำสุราทั่วไป จำแนกชนิดของสุรา ภายใต้แบรนด์แตกต่างๆกัน ได้แก่ สักทองแพร่ , ล.ลิงร่าเริง , เมาเท่นน์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ สาโท และ ไวน์ ความแตกต่างของแต่ละยี่ห้อ คือ รสชาติที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้พืชหรือผลไม้ชนิดใดมาหมักกลั่นเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ทำเหล้าหมักจากข้าวโพด เราก็ได้รสชาติหนึ่ง หรือ หมักเหล้าจากข้าวไรซ์เบอรี่ ก็ได้อีกรสชาติหนึ่ง ทำให้สุรากลั่นของเราจะมีหลากหลายยี่ห้อ ให้ลูกค้าได้เลือกตามความชอบรสชาติของพืชแต่ละชนิด และยังมีผลไม้อีกหลายชนิดที่นำมาหมักทำสุรากลั่นพื้นบ้านในครั้งนี้ ด้วย

คุณกัญญาภัค ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสุรากลั่นพื้นบ้านสักทองแพร่ เล่าว่า สำหรับพืชผัก ผลไม้ที่นำมาทำสุรา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในครั้งนี้ จะมาจากในพื้นที่ และสมาชิกในกลุ่มวิสหากิจชุมชนฯ เป็นการต่อยอดการทำเกษตรของคนในชุมชนให้สามารถขายผลผลิตในราคาที่ดีขึ้น ผ่านการแปรรูปเป็นเหล้าหมักตามที่กล่าวไปข้างต้น โดยผลผลิตการเกษตรหลักที่นำมาใช้ ประกอบด้วย ข้าวโพด ซึ่งเป็นข้าวโพดปลูกที่โคกหนองนา


จากเกษตรกร สู่ ธุรกิจสุรากลั่นพื้นบ้าน สร้างรายได้มหาศาล

โดยส่วนตัวทำเกษตรเช่นเดียวกันกับสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งครอบครัวของเราทำเกษตรปลูกพืชหลายชนิด ซึ่งพืชที่ที่ปลูกหลักเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสุรา และเครื่องดื่มแอลอกอฮอล์ เช่น ข้าวไรเบอร์รี่ ที่ปลูกเป็นสายพันธุ์ กข.6 และก็ยังมีผัก ผลไม้อีกหลายชนิด ทุกชนิดนำมาใช้การผลิตสุรากลั่น และเครื่องดื่มแอลอฮอล์ของเราเอง ก่อนที่จะมาผลิตสุราพื้นบ้าน ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ รายได้น้อยไม่พอเลี้ยงชีพ จึงหันมาจัดกลุ่มทำสุรากลั่นพื้นบ้าน เพราะครอบครัวมีพื้นฐานการต้มเหล้าขายอยู่แล้วในอดีต นำภูมิปัญญาดั้งเดิมบรรพบุรุษทิ้งไว้กลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง

คุณกัญญาภัค ได้พูดถึง สุรากลั่นแบรนด์สักทองแพร่ ว่า ปัจจุบันทำสินค้าออกมาหลายเกรด หลายราคาเพื่อสร้างทางเลือกให้กับลูกค้าแต่ละกลุ่มที่มีกำลังซื้อที่แตกต่างกัน โดยมีราคาตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักร้อย เกรดพรีเมี่ยม สูงสุดตอนนี้ 500 บาท ในอนาคตมีแผนที่จะทำสุรากลั่นที่มีราคาขวดละหลักพันบาท ออกมาจำหน่ายเอาใจลูกค้ากระเป๋าหนักที่ต้องการเหล้าคุณภาพผ่านการบ่มมาหลายปี ปัจจุบันมีการกระจายสินค้าออกไปครอบคลุมในหลายจังหวัด ทั่วประเทศ ผ่านตัวแทนจำหน่ายซึ่งเป็นร้านค้าโชวห่วยในจังหวัดภาคเหนือ และภาคกลาง หลายหมื่นราย ยอดขายต่อเดือนหลักแสนขวด


ปัญหาที่ผ่านมา ของการทำสุราพื้นบ้าน เป็นที่ทราบกันดีว่า ภาครัฐไม่ได้เปิดให้มีชาวบ้านสามารถต้มเหล้าขายเองได้ ในอดีต บรรพบุรุษย้อนกลับไปสัก 100 ปี รุ่น ทวด รุ่นปู่ แอบทำขายกันในพื้นที่ เรียกว่าต้มเหล้าเถื่อน จนภาครัฐมีการกวาดล้างกันอย่างจริงจัง การต้มเหล้าเถื่อนค่อยๆ หายไป ในรุ่นพ่อไม่มีใครมาสานต่อการต้มเหล้าตรงนี้ไว้ แต่ด้วยความที่รุ่นหลังแม้จะไม่ได้มีการต้มเหล้าขายแล้ว ด้วยคลุกคลีอยู่กับการต้มเหล้า หมักเหล้าขายมาในอดีต ทำให้เมื่อภาครัฐอนุญาตเปิดให้มีการทำสุรากลั่นพื้นบ้านจำหน่ายได้ และสามารถขึ้นทะเบียนได้อย่างถูกต้องกับกรมสรรพสามิต ครอบครัวของเราจึงได้กลับมาทำต้มเหล้าขายได้อีกครั้ง ร่วมกับชาวบ้านในชุมชนเครือข่าย 20 ราย ซึ่งทำในนามของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน


ภาษีสรรพสามิตสุรากลั่นพื้นบ้าน 50 บาท/ขวด

ทั้งนี้ สรรพสามิต จะมีการเรียกเก็บภาษี หรือ อากรแสตมป์ที่ผู้ผลิตสุราต้องจ่าย อยู่ที่ขวดละ 50 บาท โดยยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องเสียอีก ซึ่งทางผู้ผลิตเองต้องทำให้ถูกต้องถึงจะนำออกมาจำหน่ายได้ โดยสุรากลั่นพื้นบ้าน ที่ผลิตโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจะทำได้แค่สุราขาว จะทำสีอื่นๆ ไม่ได้ ปริมาณแอลกอฮอล์ต้องไม่เกิน 40 ดีกรี

สำหรับสุรากลั่นของสักทองแพร่ ทำออกมาหลายราคาตามคุณภาพ เริ่มที่สุราขาวทั่วไป ขายในราคาขวดละ 80-85 บาท (แบรนด์สักทองแพร่) และถ้าเป็นสุรากลั่นที่เกรดดีขึ้นมา แยกตามยี่ห้อ ได้แก่ ล.ลิงร่าเริง และเมาเท่นส์ ขายในราคาขวดละ 300-500 บาท ความแตกต่างของทั้งสองยี่ห้อ คือ การเลือกใช้วัตถุดิบในการผลิต และกรรมวิธีการผลิต รวมถึงบรรจุภัณฑ์ แตกต่างกับแบรนด์สักทองแพร่ ทำให้ราคาค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดี สุราที่ทำยอดขายให้กับ สักทองแพร่ ยังเป็นสุรากลั่นแบรนด์ สักทองแพร่ หรือ ชาวบ้านจะเรียกกันว่า เหล้าขาว เพราะราคาไม่แพง และเข้าถึงลูกค้าได้ทุกกลุ่ม


การผลิตสุรากลั่นขายได้ ต้องเป็นวิสาหกิจชุมชนเท่านั้น 

โดยตัวแทนจำหน่ายเฉพาะในภาคเหนือมากกว่า 10,000 ราย และมีภาคกลางและภาคอื่นๆ หลักพันราย ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดจะอยู่ในภาคเหนือและภาคกลางตอนบน โดยปัจจุบันโรงงานมีกำลังการผลิตรวมถึงกลุ่มสมาชิกเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน 20 ราย จำนวนมากกว่า 10,000 โหลต่อเดือน ยังไม่รวมถ้าไปออกบูทในงานโอทอป ยอดขายจะเพิ่มขึ้นในกลุ่มสาโท ไวน์

ส่วนที่มาของสมาชิกเครือข่าย ทั้ง 20 ราย เกิดขึ้นมาจากคนในชุมชน มองเห็นว่า สักทองแพร่ของเราทำเหล้าขายก็ขายดี ชาวบ้านเองลำบากทำการเกษตรราคาผลผลิตไม่ดี ก็เลยมาขอว่าอยากจะผลิตเหล้าขายบ้าง ก็มาปรึกษาว่าจะทำอย่างไร ซึ่งเห็นว่าเป็นคนในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร รายได้ไม่ได้เยอะ ก็เลยแนะนำว่า ถ้าต้องการจะผลิตจริงต้องไปขอความรู้และขออนุญาตจากทางสรรพสามิตก่อน เพราะถ้าไม่ใช่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน การจะทำสุรากลั่นขายยังทำไม่ได้ ต้องรวมตัวกันอย่างน้อย 6 คนขึ้นไป และเป็นเกษตรกรเป้าหมายต้องการเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรที่ทำอยู่ จึงจะสามารถผลิตเหล้าขายได้


สำหรับผู้ที่สนใจการทำเหล้ากลั่น ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสุราสักทองแพร่ บ้านสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้เปิดให้เข้าศึกษาดูงาน ตั้งแต่กระบวนการผลิต การหมัก การกลั่น ในทุกขั้นตอนของโรงงานได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือคนที่เดินทางมาไกลๆ ต้องการจะพักค้างคืน มีที่พักพร้อมอาหารไว้บริการด้วย

ติดต่อ Facebook : สุรากลั่นสักทองแพร่
โทร. 08-1951-7924


คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น