xs
xsm
sm
md
lg

ชาวเหนือในขอนแก่นร่วมสืบประเพณีงานบุญ “ตานก๋วยสลาก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น - สมาคมชาวเหนือจังหวัดขอนแก่น จัดงานสืบสานประเพณีตานก๋วยสลาก (สลากภัต) ประจำปี 2566 เพื่อแสดงความระลึกถึงบรรพบุรุษญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้วด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ก๋วยสลาก


วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2566 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 ปีเถาะ เวลา 09.00 น. ที่วัดป่าแสงอรุณ บ้านเลิงเปือย (แอวมอง) ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายศักดิ์สิทธ์ จิตตนูนท์ รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มงานปรับโครงสร้างหนี้ และรักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานบังคับคดี ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประธานฝ่ายฆราวาส ทำบุญประเพณีตานก๋วยสลาก (สลากภัต) ประจำปี 2566 ในการนี้มีพระพรหมวชิรดิลก (หลวงปู่สมาน สุเมโธ ป.ธ.9) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 (ธ) เจ้าอาวาสวัดป่าแสงอรุณ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ มีนายธนัฐภูมินตร์ รัตนนวราฐธิบดี นายกสมาคมชาวเหนือจังหวัดขอนแก่น เป็นผู้กล่าวรายงานการจัดงาน โดยมีนายปานทอง สระคูพันธ์ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมทั้งพี่น้องชาวเหนือ และพี่น้องชาวขอนแก่นร่วมงานบุญ และพร้อมใจกันใส่ชุดผ้าไทยผ้าพื้นเมืองโดยพร้อมเพรียงกัน




นายธนัฐภูมินตร์ รัตนนวราฐธิบดี นายกสมาคมชาวเหนือจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า “ก๋วยสลาก” มีหลากหลายแบบหลายขนาด ตามแต่ความคิดสร้างสรรค์และกำลังศรัทธาของแต่ละคน แบ่งออกเป็น 2 แบบกว้างๆ คือ ก๋วยน้อย กับก๋วยใหญ่ มีก๋วยพิเศษ เช่น ก๋วยย้อมหรือสลากย้อม เป็นของหญิงสาวทำขึ้นเชื่อว่าเมื่อถวายแล้วจะทำให้ครอบครัวมีความสุข

ในบางท้องที่จะมีข้าวของเครื่องใช้บรรจุภายในก๋วยสลากมากกว่าปกติ มีหวี กระจก แป้ง ผ้าเช็ดหน้า หรือของใช้ผู้หญิงอื่นๆ และจะกางร่มไว้บนยอดสุด




ด้านนายศักดิ์สิทธ์ จิตตนูนท์ ประธานฝ่ายฆราวาส ระบุว่า งานประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง และเป็นวัฒนธรรมทางภูมิปัญญาและความคิดที่มีพัฒนาการสืบทอดกันมาในสังคมแต่ละช่วงเวลา และมีความสัมพันธ์กับคุณธรรม จริยธรรม ช่วยทำให้คนในชุมชนมีความอ่อนโยน อ่อนน้อมถ่อมตน เคารพผู้ใหญ่ มีน้ำใจ มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีความกตัญญูกตเวที และร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นให้คงอยู่สืบต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น