xs
xsm
sm
md
lg

Little Farm ฟาร์มผักไฮโดรโปรนิก รวมตัวเกษตรกรทำนาพื้นที่อยุธยา หันมาปลูกผักสลัด ส่งห้างดัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การปลูกผักไฮโดรโปรนิก เป็นทางเลือกของเกษตรกร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะด้วยคนไทยหันมาบริโภคผักสดที่ปลูกในระบบดังกล่าวมากขึ้น เนื่องจากมองว่า ทำให้ได้ผักสดที่ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง เป้นที่มาของ Little Farm ฟาร์มผักที่เกิดจากเกษตรกรผู้เพาะเห็ด และการรวมตัว เกษตรกรชาวนา บนพื้นที่อยุธยา เปลี่ยนอาชีพทำนามาทำแปลงผัก เพราะรายได้ที่เข้ามาทุกวัน และมากกว่าการทำนา


คุณชุมพล ตันเจริญ เจ้าของ Little Farm (ลิตเติ้ลฟาร์ม) ผู้ผลิตและจำหน่ายผักไฮโดรโปรนิก จังหวัด อยุธยา เล่าว่า ที่มาของ Little Farm เริ่มต้นขึ้นเมื่อย้อนกลับไป 10 ปีที่ผ่านมา ผมทำเกษตรเพาะเห็ด อยู่จังหวัดเพชรบูรณ์ ส่งขายให้กับห้างแม็คโคร และครัวกลางเอ็มเคสุกี้ (MK Restaurants) จนกระทั่งวันหนึ่งทางห้างแม็คโคร เรียกไปคุยอยากให้ผมเข้าเป็นผู้นำกลุ่มช่วยเกษตรกรที่ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาปลูกข้าวของ จังหวัดอยุธยา ให้หันมาปลูกผักไฮโดรโปรนิกแทน เนื่องจากจังหวัดอยุธยามีพื้นที่ทำนาเยอะ และราคาข้าวก็ไม่แน่ ไม่นอน อยากให้ชาวนาลองเปลี่ยนมาปลูกผักไฮโดรโปรนิก แทน โดยผมได้ทำงานร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) เกษตรกรจังหวัดอยุธยา ห้างแม็คโคร, บิ๊กซี ซุปเปอร์มาร์เก็ต


ทั้งนี้ ในช่วงแรกๆ ก่อนปลูกผักไฮโดรโปรนิก ได้ให้เกษตรกรชาวนาทดลองปลูกเห็ดก่อน ซึ่งข้อดีคือมีรายได้ทุกวัน แต่ข้อเสียรายได้ไม่เยอะ ไม่ได้เงินก้อน เหมือนกับการทำนาปลูกข้าว เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจที่จะเปลี่ยนมาทำตรงนี้ ตอนหลังผมก็เลยให้เกษตรกรได้เพาะเห็ด ร่วมไปกับการปลูกผักโฮโดรฯ ซึ่งผมเองก็เริ่มเรียนรู้ และปลูกผักไฮโดรฯ ไปพร้อมกับเกษตรกร ซึ่งผลผลิตที่ได้ส่งขายให้กับทางห้างแม็คโคร เน้นเจาะกลุ่มตลาดบน ซึ่งพอสามารถปลูกผักได้มาตรฐาน และส่งขายให้กับทางแม็คโครได้ เกษตรกรเริ่มเห็นว่า มีรายได้แน่นอนเปลี่ยนจากทำนาหันมาปลูกผักและเป็นเครือข่ายส่งผักให้กับเรามาตลอดจนถึงทุกวันนี้ เป็นที่มาของการทำผักส่งห้างของ Little Farm ปัจจุบันมีเครือข่าย เกษตรกรชาวนา พื้นที่อยุธยา หันมาปลูกผัก ให้กับเราหลายราย

ในส่วนข้อดีของผักสลัด จากการปลูกในพื้นที่ภาคกลาง ทางห้างแม็คโคร มองว่าภาคกลางมีข้อดีตรงที่ ผักที่ได้มีรสชาติหวาน ฉ่ำ เนื้อแน่น มากกว่าผักที่มาจากทางภาคเหนือ ซึ่งผักจากภาคเหนือข้อดีตรงที่มีความกรอบ แต่เนื้อไม่แน่น ในช่วงแรกผักที่ได้ จะเป็นการปลูกแบบวิถีอินทรีย์ แต่ปัญหาคือจะพบเจอสารตกค้างที่ปนเปื้อนมาจากดินเยอะ ก็เลยเปลี่ยนมาเป็นการปลูกผักไฮโดรโปรนิก ที่ใช้ระบบน้ำมาปลูกแทนดิน


โดยเมื่อย้อนกลับไป 7-8 ปีก่อน ผักไฮโดรโปรนิกมีราคาค่อนข้างสูงมาก จุดนี้เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พี่น้องชาวเกษตรกร จังหวัดอยุธยา เริ่มมองเห็นรายได้มากขึ้นเลยเกิดเรื่องรวมกลุ่มหันมาปลูกผักไฮโดรโปรนิก เพิ่มขึ้น จนมาปี 2562 มีมาตรการให้สถานประกอบการที่ผลิตอาหารส่งขายให้กับทางห้างสรรพสินค้า จะต้องมีมาตรฐานการผลิตที่สะอาด ปลอดภัย ไร้สารตกค้าง ด้วยเหตุนี้เอง เราเองก็จะต้องปฏิบัติให้ได้ตามมาตการดังกล่าว และต้องมีใบอนุญาตให้ถูกต้องถึงจะทำผักส่งขายให้กับห้างฯได้ ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ว่าเมื่อซื้อผักหรือบริโภคผักจากห้าง หรือ ร้านอาหารที่เรานำผักไปส่ง

นอกจากนี้ ทางห้างเองจะมีการซุ่มตรวจผักที่มาจากผู้ผลิต รวมถึง Little Farm อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่าผักทุกถุงของเรามีความสะอาด ปลอดภัย ไร้สารตกค้าง และด้วยระบบมาตรฐานต่างๆ ถ้าผู้บริโภคไม่เข้าใจถึงต้นทุนการผลิตดังกล่าว ก็จะมองว่าผักของเราทำไมถึงราคาแพงถึงกิโลกรัมละ 100 บาท ในขณะผักที่ตลาดนัด ตลาดสด ขายแค่กิโลกรัมละ 40-50 บาท เท่านั้น


ท้ายสุดนี้ คุณชุมพล ฝากถึงเกษตรกร ที่หันมาปลูกผัก ในระบบผักไฮโดรโปรนิกในช่วงนี้ ว่าจะต้องศึกษาตลาดก่อน ว่า ต้องศึกษาหาความรู้และตั้งใจทำจริงๆ ที่สำคัญ คือ ต้องศึกษาตลาดก่อน เพราะ ปัจจุบันก็มีคนทำกันเยอะ ถ้าจะทำจริง เราควรจะมีช่องทางที่จะนำผักไปจำหน่ายก่อน ไม่ใช่คิดแค่ว่าลงมือปลูกผักได้ก่อนแล้วค่อยไปหาตลาดขาย ถ้าคิดแบบนี้น่ากลัวเพราะถ้าปลูกแล้วไม่มีตลาด โอกาสขาดทุนมีสูง เนื่องจากการปลูกผักในสมัยนี้สามารถปลูกได้ง่ายเพราะมีช่องทางหาความรู้ได้เยอะ แต่การเก็บรักษาเป็นเรื่องยาก

โทร. 08- 2172- 6654 และ 09- 3393- 2895
Facebook : Littlefarm ฟาร์มเห็ดและผักออแกนิค




กำลังโหลดความคิดเห็น