“ความต้องการของตลาดจะเปลี่ยนเป็นรุ่น ๆ ปีนึง 3 รุ่น เริ่มจากขายสดตั้งแต่พฤศจิกา-กุมภา พอมีนา-มิถุนา ขายต้ม จากนั้นกรกฎา-ตุลา ขายปี๊บ เพราะช่วงนี้หน่อไม้ป่าออกด้วยเกิดการล้นตลาดต้องเก็บมาดองไว้ แล้วพอหมดฤดูเราก็ปล่อยปี๊บออกไป”
สวนไผ่บารมี โดย “คุณบารมี วรานนท์วนิช” เจ้าของสวนเล่าให้ฟังว่า หลังการล่มสลายลงของ “สวนส้มรังสิต”(ส้มเป็นโรค) เมื่อกว่า 20 ปีก่อน ทำให้ชาวสวนส้มเดิมพยายามหาทางใหม่ในการไปต่อสำหรับอาชีพ กระทั่งยุคนั้นประมาณปี 2548 มีกระแสเรื่อง “ไผ่เศรษฐกิจ” ที่กำลังฟีเว่อร์มาก ๆ ได้นำมาสู่การเป็นทางเลือกใหม่ของทุ่งรังสิตแห่งนี้เพื่อที่จะทดแทนส้มด้วย ในละแวกนี้กว่า31 รายหรือคิดเป็นพื้นที่ผลิตรวมกันแล้วร่วมกว่า 2,000 ไร่ได้ เริ่มมีการทดลองปลูกไผ่เศรษฐกิจที่เน้นการผลิต “หน่อ” ขายกันเป็นหลัก ต่างคนต่างเสาะแสวงหาพันธุ์ดีมาปลูกโดยช่วงแรก ๆ คือเน้นขายหน่อสด ยังไม่ได้เตรียมการเรื่องแปรรูปขายด้วยแต่อย่างใด“พอปี 2551 เนี่ย จะหายไปประมาณสัก 80% เพราะว่าเขาไม่รู้จักกลวิธีการผลิต คือความต้องการของตลาดเนี่ยมันจะเปลี่ยนเป็นรุ่น ๆ อย่างปีนึงความต้องการของตลาดเปลี่ยนเป็น 3 รุ่น เริ่มจากการขาย “สด” ก่อน พอขายหน่อสดเสร็จก็จะเปลี่ยนมาขายแปรรูป ขายถุง(หน่อไม้ต้ม)แบบนี้ แล้วก็พอผ่านกระบวนการขายต้มก็จะมาเป็น กระบวนการขายปี๊บ”ทีนี้พอ3 ขั้นตอนในหนึ่งปี พอใครที่ไม่ได้เตรียมการเอาไว้ ก็จะขายสดอย่างเดียว ผลสุดท้ายพอ “หน่อไม้ต้ม” ออก “หน่อไม้ปี๊บ” ออก หน่อไม้สดขายไม่ได้! ขายไม่ได้ก็เกิดการระส่ำระสายในอาชีพผลสุดท้ายก็เลยเลิก
“อย่างที่บ้านเนี่ย ทำ 3 แบบ ช่วงที่เราขายสดตั้งแต่เดือน พฤศจิกา-กุมภา ขายสดนะ พอมีนา-มิถุนา ขายต้ม จากนั้นกรกฎา-ตุลาขายปี๊บต้องทำปี๊บ เพราะช่วงนี้ “หน่อไม้ป่า” หน่อไม้เขามันออก ต่างคนต่างออกก็ขาย ต่างคนต่างล้นตลาด เราก็ต้องเก็บมาดองไว้ เสร็จแล้วพอช่วงหมดฤดูกาล เราก็ปล่อยหน่อไม้ปี๊บออกไป” ปัจจุบันสวนไผ่บารมีถือได้ว่าเป็น 1 เดียวที่ยังคงเดินหน้าในการทำสวนไผ่ต่อเนื่องมา บนพื้นที่ผลิตรวมกันกว่า 200 ไร่ โดยแบ่งเป็นแปลงย่อย ๆ 7 แปลงที่กระจายไปในรัศมี 5 กม.ครอบคลุมในเขตรอยต่อ 3 จังหวัด คือ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี จะปลูกไล่รุ่นกันซึ่งจะมีตั้งแต่แปลงที่อายุแก่สุดคือ 14 ปี และแปลงอายุน้อยสุดคือปลูกได้ประมาณ6 เดือนแล้ว“ที่เราทำมาเนี่ยระหว่างขายหน่อสด 100% เลยเราไม่ได้วาง 30:30:60 หรือ 30:30:40 ไม่ได้วางแบบนั้น เราขายหน่อไม้ ทีนี้พอสด 100% พอถึงเวลาต้มมันออก ปี๊บมันออกขายไม่ได้แล้วอย่างเงี้ยปัจจุบันนี้ ณ วันนี้วันที่ 30 กันยา(วันที่ให้สัมภาษณ์) หน่อสดขายไม่ได้เลยเพราะทั่วทั้งตลาดเลยมีแต่ “หน่อต้ม” กับ “หน่อปี๊บ” เราไปสดเนี่ยไม่มีใครเขากินหรอก เพราะว่าหน่อสดก็ต้องไปต้มเหมือนกัน เขาก็ไปซื้อหน่อต้มไม่ดีกว่าหรือ ตอนที่ว่าช่วงเดือน พฤศจิกา ธันวา มกรา เนี่ยช่วงนี้ “หน่อสด” ขายได้เพราะว่าเขาเอาไปต้มขาย แต่พอหน่อไม้ในท้องตลาดที่มี “หน่อไม้ต้ม” ไปแล้ว เขาก็ไม่ต้มแล้วไง แถวสี่มุมเมือง ดินแดง เขาก็มาเอาที่นี่”ทีนี้พอเราทำแบบนี้เสร็จ แม่ค้าจะรู้ว่าในเดือนไหนเราจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปแบบไหน สด/ปอก/หรือปี๊บ ยกตัวอย่างกรณีของ “ปี๊บ” ทำไว้เท่าไหร่ก็จะมีพ่อค้าเข้ามาเหมาไปหมดเลย เพราะว่าเขารู้ว่าเราทำแล้วเป็นยังไง เราทำแล้วมันเข้าไปตรงกับตลาด ตลาดขายได้ เขาไม่ต้องรอที่ว่าจะขายถึงมาเอา เขามาเอาไปเก็บไว้เลย
คุณบารมีบอกด้วยว่า จุดแข็งเรื่องการตลาดของ “สวนไผ่บารมี” อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ราคาขายที่เน้น “เป็นราคาจากสวนหรือผู้ผลิต” จริง ๆ เพื่อให้กับพ่อค้าแม่ขายที่เข้ามารับเพื่อไปขายต่อสามารถที่จะมีกำไรส่วนต่างเหลือพอ ให้เขามีความคุ้มค่าด้วย มิใช่ว่าขายในราคาเดียวกับในท้องตลาดไปเลยหรือบางคนขนาดที่ว่าลูกค้าเข้ามาซื้อถึงสวนแล้ว แต่ราคาขายขากสวนกลับแพงกว่าในท้องตลาดทั่วไปก็มี! ซึ่งไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าเดี๋ยวนี้มีทำกันแบบนี้ด้วย สำหรับที่สวนไผ่บารมีจะยึดถือในเรื่องของราคาที่เป็นราคาส่งจริง ๆ เลยทำให้มีลูกค้าที่เป็นพ่อค้าแม่ขายตามตลาดนัดต่าง ๆ เขารู้กันดี และมาจากหลาย ๆ ที่เพื่อมารับหน่อไม้ที่สวนไผ่บารมีผลิตจำหน่ายอย่างไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องการตลาดเลยในปัจจุบันนี้ “ถ้าราคาแต่ละช่วงเริ่มจาก เดือนพฤศจิการาคาหน่อสดที่ออกไปก็ประมาณ 35 บาท ในช่วงนั้น ไปจนถึง มกรา ก็จะยืนอยู่ที่ 40 บาท ก็จะยาวไปจนถึงปลายกุมภา พอมีนาคมจะอยู่ที่ 50 บาท พอมีนา-พฤษภา พอถึงมิถุนาเนี่ยก็จะลงมายืนอยู่ที่ 40 บาทเหมือนเดิม พอกรกฎาอยู่ที่ 30 บาทเหมือนเดิม ก็คือราคาตอนนี้แหละตั้งแต่ปลายมิถุนาไปจนถึงปลายตุลาคมยืนพื้นที่ราคา 30 บาท แต่ละปีจะเป็นอย่างนั้น”
ในส่วนของ “หน่อไม้ต้ม” ราคา ณ ปัจจุบันที่ขายอยู่จะประมาณ 32 บาท/กก. ช่วงแพง 50 บาท จะแพ็คบรรจุถุง ๆ ละ 5 กก. และสำหรับ “หน่อไม้ปี๊บ” คุณบารมีบอกว่าเป็นกรรมวิธีการผลิตซึ่งเป็นสูตรเฉพาะของที่สวนเองสามารถเก็บได้นานถึง 2 ปี ตัวปี๊บมีการต้มฆ่าเชื้อด้วยหลังจากที่บรรจุหน่อไม้ที่ต้มสุกลงไปอัดในปี๊บแล้วก่อนที่จะปิดฝาด้วยระบบ “ฝาปิด” ไม่ได้ใช้การเชื่อมปิดแบบปี๊บในสมัยก่อน ใน1 ปี๊บจะบรรจุเนื้อ (หน่อ) ให้ประมาณ13 กก.ส่วนนอกนั้นจะเป็นน้ำด้วยรวมกันก็จะ 20 กก.พอดี ราคาส่งจากที่นี่คือ 400 บาท การต้มหน่อไม้ของที่นี่ก็จะมีเทคนิคในการทำอย่างน่าสนใจกล่าวคือ พอเก็บหน่อสด ๆ ออกมาจากในแปลงแล้วก็จะนำมาเข้าสู่กระบวนการต้มสุกทันทีในเตาต้มหน่อไม้ที่มีการออกแบบเตาไว้เฉพาะ ใช้เวลาต้มนานประมาณ 40-45 นาทีโดยใน1 เตาจะต้มหน่อไม้ได้ทีละ 500 กก. มี 2 เตาก็เท่ากับต้มได้ 1 ตัน/รอบ พอสุกหรือครบตามเวลากำหนดแล้วก็จะเอาหน่อไม้ที่ต้มขึ้นมาแล้วนำไปแช่เย็นเพื่อจะให้เปลือกเย็นตัวลงก่อน หลังจากนั้นก็จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการปอกเปลือกและบรรจุลงถุง ๆ ละ 5 กก. ตามออร์เดอของแม่ค้าที่จะเข้ามารับ คุณบารมีเน้นย้ำด้วย การต้มหน่อไม้ให้มีรสชาติที่อร่อยตรงตามตลาดต้องการ สำคัญคือต้องใช้ไฟในการต้มให้แรงเข้าไว้ อย่างน้อยต้องได้ 100 องศาขึ้นไป จึงจะทำให้หน่อไม้ต้มสุกอย่างทั่วถึง ข้อไม่แข็ง รสไม่ขมกินได้ทั้งหมดอร่อย ที่ตลาดต้องการ
จากผลผลิตเฉลี่ยซึ่งก็ขึ้นอยู่ตามฤดูกาลด้วย คือตั้งแต่เดือนพฤศจิกา-ตุลาจะได้ไม่เท่ากัน “ถ้าเกิดสมมุติว่าตอนช่วงเดือนพฤศจิกา เนี่ยเราได้ไร่นึงประมาณ 8 กก./วัน แล้วก็ไปอย่างเงี้ยไปจนถึงเดือนกุมภา จะเพิ่มเป็น 12 กก./ไร่/วัน ไปจนถึงเดือนกรกฎา จะได้ 17 กก./ไร่/วัน แล้วก็มาถึงช่วงนี้ ช่วงที่จะปลายฤดูเนี่ยอย่างเงี้ย 200 ไร่จะได้ 1,300 กก./วัน ก็อยู่ในเกณฑ์ 7 กก./ไร่/วัน เพราะว่ามันจะเข้าฤดูฝนซึ่งหมดฤดูแล้วไง พอถึงตอนนั้นก็จะอยู่ที่ 7-8 กก./ไร่/วัน ช่วงพฤศจิกาถึงปลามกราเนี่ย 7 กก./ไร่/วัน แต่ถ้าช่วงเยอะ ๆ เลยก็ประมาณ 3 -3.6 ตัน/วัน น้อยสุดเฉลี่ยประมาณ 1.5 ตัน/วัน ก็คือตอนนี้น้อยสุด” คุณบารมีบอกด้วยหน่อไม้จะพีคสุด ได้น้ำหนักสุดที่กลาง ๆ เดือนเมษายน หรือประมาณสงกรานต์ ที่นี่จะเก็บได้มากขึ้นถึงกว่า 3,000-3,600 กก./วัน เลยทีเดียว แถมราคาจำหน่ายในช่วงนี้ก็จะดีกว่าด้วยคือตั้งแต่ 50 บาท/กก.เป็นอย่างน้อยในขณะที่สวนอื่น ๆ ช่วงนี้จะไม่มีผลผลิตออก เทคนิคง่าย ๆ ที่สวนใช้จัดการอยู่เจ้าของเผยให้ฟังว่า ต้องมีการทำสาวต้นก่อน อย่างพอเข้าสู่ในช่วงเดือนกันยายนจะเริ่มไว้ “ลำใหม่” เพื่อให้ขึ้นมาแทนลำเก่า ซึ่งลำใหม่นี้ก็จะมีอายุการพักตัวอยู่ประมาณ90 วัน แล้วจากนั้นพอถึงช่วงต้นเดือนมกรา “หน่อไม้” จากต้นใหม่ที่เราไว้ลำใหม่เตรียมการเอาไว้ก็จะออกพอดี แต่ว่าในช่วงประมาณสักวันที่ 20 กว่า ๆ ของพฤศจิกาเราก็จะต้องตัดลำเก่าที่มีอยู่ในกอเอาออกไปให้หมดเลย เหลือไว้แต่ต้นใหม่จากการไว้ลำใหม่พอ “โดยเฉลี่ยเราจะคิดให้เดือนมกราไปยันเดือนมิถุนายน ใน 1 ต้น เขาจะออกให้เรา 40 หน่อ (4 หน่อ : โลครึ่ง) ถ้าเราจะไว้ลำปกติก็คือ 4-5 ต้น/กอ เราก็จะไปได้หน่อไม้ช่วงหน้าแล้งที่เราไว้ลำใหม่ นี่คือเทคนิคการทำหน่อไม้นอกฤดูก็คือไว้ลำใหม่ ตัดลำเก่าออกไปเท่านั้นพอ”
แต่ทั้งนี้การผลิตก็ต้องเลือกใช้ “สายพันธุ์ดี” ด้วยซึ่งที่สวนจะเน้นปลูกไผ่เลี้ยงหวาน(พันธุ์เบา) มาตั้งแต่ตอนเริ่มสวนไผ่มาเลยข้อดีของพันธุ์นี้ก็คือว่าหลังจากปลูกได้ 3-4 เดือนไปแล้วจะให้หน่อเก็บขายได้เรื่อยไปอย่างไม่ต้องมีการเว้นระยะเลย เก็บหน่อได้ทุกวัน ในขณะที่การจัดการดูแลก็ไม่ยุ่งยากเพียงให้ปุ๋ยบ้าง จะใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 (10 ไร่/กระสอบ/เดือน) หรือไร่ละประมาณ 5 กก./เดือน โดยจะเฉลี่ยให้ได้ทั้งปี ใน 1 ไร่จะใช้ปุ๋ย 60 กก./ปี จากระยะปลูกที่ใช้คือ1 ไร่จะมี 100 กอ ส่วนน้ำก็ไม่ต้องทำอะไรเลยเพราะที่สวนจะเป็นการจัดการแบบร่องสวนเดิมที่มีน้ำอยู่ในท้องร่องตลอดแบบนี้ จึงไม่ต้องมีการรดหรือการให้น้ำเพิ่มแต่อย่างใด
คุณบารมีบอกว่า การปลูกไผ่แบบนี้จะเก็บผลผลิตได้ 365 วันหรือ 1 ปี โดยจะไม่มีการแบบเว้นช่วงเก็บ หรือจะไม่มีการหยุดเก็บ จะเก็บอย่างนี้ทั้งปี ไผ่เลี้ยงหวานพันธุ์เบาจะเน้นในการให้หน่อ แต่ว่าข้อเสีย คือ ลำจะใช้งานไม่ได้เพราะสูงแค่ประมาณ 1.5 เมตร ใช้ไม่ได้แล้ว มันจะงอมันจะเสีย การปลูกในระยะแรกจะใช้เวลาเพียงแค่ 100-120 วันเท่านั้น ถ้าถามว่าใน 1 ไร่ที่ลงทุนไปช่วงเริ่มต้น จะสามารถคืนทุนทั้งหมดได้ภายใน 1 ปี แล้วที่เหลือก็เป็นกำไรไป ซึ่งถ้าหากท่านใดสงสัยว่าแล้วมันจะเป็น “เงินล้าน” ได้อย่างไรล่ะ? ท่านก็ลองคูณตัวเลขปริมาณผลผลิตกับราคาที่ได้ในแต่ละช่วงของปีตลอดทั้งปีลองดูเอาเองเถิด แล้วก็จะรู้ว่าทำไมสวนไผ่บารมีเจ้านี้เขาถึงยืนหยัดได้นานมาถึงตอนนี้ได้!“การทำไผ่เลี้ยงมันสำคัญเรื่องการตลาด ขอเน้นว่าขอเน้นนะครับ การที่เราจะทำไผ่ให้สำเร็จได้ การตลาดต้องดีและต้องมีคนบุกเบิกตลาดด้วย”
ทั้งนี้สำหรับใครสนใจอาชีพสวนไผ่ (กินหน่อ) ต้องการปลูกเสริมรายได้หรือทำเป็นอาชีพอย่างจริงจังสามารถสอบถามเพิ่มเติมไปได้ที่ “สวนไผ่บารมี” อ.วิหารแดง จ.สระบุรี โทร.086-031-3173 ขอบคุณ: ชมรมเกษตรดิจิทัลและเอสเอ็มอีไทย ฟอร์ด(ประเทศไทย) พาหนะสุดแกร่งพาลงพื้นที่ตะลุยสวนเกษตรในครั้งนี้
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *