xs
xsm
sm
md
lg

นวัตกรรมการเลี้ยงจิ้งหรีดแบบ "คนเมือง" ฟาร์มจิ้งหรีดแนวตั้ง ใช้พื้นที่น้อยแต่ให้ผลผลิตสูง ตอบโจทย์การสร้างรายได้หลักแสน/เดือน!!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ฟาร์มสามารถผลิตจิ้งหรีดได้ครั้งละประมาณ 2-2.5ตัน/เดือน หรรือสามารถจับจิ้งหรีดได้ปริมาณ 40กก./ตู้ ผลผลิตถือว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ณ ปัจจุบันโดยจะเน้นที่การขายจิ้งหรีดแช่ฟรีซเป็นหลัก ตอนนี้ราคาอยู่ที่ 120-200 บาท/กก.คิดเป็นรายได้ประมาณ 2 แสนกว่าบาท/เดือน"

ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากจิ้งหรีดของทางฟาร์ม
คุณบัญชร นามธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท สามสิบสอง อินโนเวท จำกัด (32 BUG FARM) ตั้งอยู่ที่ ตำบลบางยี่โถ อำเภอธัญบุรี จ.ปทุมธานี ผู้ประกอบธุรกิจฟาร์มจิ้งหรีดแนวตั้ง นวัตกรรมการเลี้ยงจิ้งหรีดด้วยระบบให้อาหารและน้ำอัตโนมัติเจ้าแรกในไทย แม่นยำ ผลผลิตสูง ประหยัดพื้นที่ สะดวกต่อผู้เพาะเลี้ยง ปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยคุณบัญชรเล่าให้ฟังว่า ฟาร์มจิ้งหรีดแนวตั้ง มีจุดเริ่มต้นมาจากการต่อยอดธุรกิจเดิมที่ตนเองทำ คือการผลิตเครื่องจักรกลอัตโนมัติขายให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ทำให้คุ้นเคยกับฟาร์มปศุสัตว์ในหลากหลายรูปแบบและเข้าถึงแหล่งข้อมูลว่าการทำปศุสัตว์จะทำระบบให้ดีได้นั้นต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง "จนมาถึงวันที่โลกต้องเผชิญกับไวรัสโควิด-19ที่แพร่ระบาด ซึ่งก็ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจผลิตเครื่องจักรที่เป็นอาชีพหลักต้องหยุดชะงักลง ไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้แต่ในขณะที่ยังต้องคงทีมงานเอาไว้ต่อไป การต่อสู้เพื่อความอยู่รอดจึงต้องเกิดขึ้น" 

ฟาร์มจิ้งหรีดแนวตั้ง
จากการเห็นข่าวว่า มกอช. มีการสนับสนุนการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อการส่งออก ตนจึงเกิดความสนใจจากนั้นมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อดูความเหมาะสมว่าการเลี้ยงจิ้งหรีดในประเทศไทยมีมากน้อยแค่ไหน กระทั่งพบว่าประเทศไทยเหมาะสมที่สุด เพราะจิ้งหรีดชอบอากาศร้อน หากมีระบบารเลี้ยงที่ดีน่าจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก สำหรับนวัตกรรมการเลี้ยงจิ้งหรีดแนวตั้งเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาต่อยอดมาจากวิธีการเลี้ยงจิ้งหรีดแบบเดิม ซึ่งเป็นรูปแบบของการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ที่นิยมใช้กันทั่วไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งตามมาก็คือว่า เลี้ยงแล้วไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร การเลี้ยงจิ้งหรีดในบ่อซีเมนต์มักจะมีปัญหาเรื่องการตาย จนทราบสาเหตุว่าในบ่อเลี้ยงค่อนข้างที่จะมีการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ใต้บ่อ เป็นเพราะอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้การเลี้ยงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

"เราจึงได้ออกแบบเป็นตู้เลี้ยงแนวตั้งขึ้นมาทดเลี้ยงแล้วได้ผลดีเกินที่คาดเอาไว้ จนนำมาสู่การขยายทำฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดแห่งนี้ขึ้นมาแต่กว่าจะเป็นรูปแบบที่สำเร็จได้ ก็ต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่พอสมควร"

ตู้เลี้ยงจิ้งหรีด
โดยรูปแบบของฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดแนวตั้ง ตู้เลี้ยงจะมีความกว้าง 1.20 เมตร สูง 2เมตร ปิดคลุมด้วยตาข่ายอย่างมิดชิด แต่สามารถถ่ายเทอากาศได้ดี ไม่มีปัญหาเรื่องความชื้นภายในตู้เลี้ยง และไม่เกิดการหมักหมมของมูลจึงทำให้จิ้งหรีดมีสุขภาพอนามัยที่ดี จากทั้งหมดที่ฟาร์มเลี้ยงอยู่ปัจจุบันมี 60ตู้คู่ ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพและปริมาณสูง "โดยหลังจากการอนุบาลไข่ ชั่งน้ำหนัก นำเข้าตู้เลี้ยงตามอายุ จากนั้นจะนับไปอีกประมาณ 30 วัน ก็สามารถจับขายได้แล้ว ซึ่งที่เลี้ยงอยู่จะมีทั้งจิ้งหรีดทองแดงและก็แมงสะดิ้งที่ตลาดนิยมบริโภคกันอยู่แล้ว แมงสะดิ้งจะใช้เวลานานกว่าหน่อยนึง คือ 40 วันจึงจับขายได้ การเลี้ยงไม่ต้องดูแลอะไรมากเพราะจะมีระบบให่น้ำและอาหารอัตโนมัติ ที่สั่งการผ่านทางตู้ควบคุม และยังสามารถดูอายุ ดูวันจับ ดูอุณหภูมิ ภายในตู้เลี้ยงได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถืออีกด้วย"

แมงสะดิ้งที่กำลังเลี้ยงอยู่ในตู้เลี้ยงของฟาร์ม
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรูปแบบการเลี้ยงในบ่อแนวราบทั่วไปแล้ว สิ่งที่เห็นชัดเจนเลยคือ การเลี้ยงระบบแนวตั้งสามารถลดการสูญเสียจากการถูกรบกวน อีกทั้งการให้อาหารด้วยระบบอัตโนมัติในแนวสูงทำได้ง่าย และประหยัดพื้นที่ สะดวกในการจัดการประหยัดเวลา ได้ผลผลิตในปริมาณที่มากกว่าแต่ใช้พื้นที่น้อยกว่า นอกจากนี้ทางฟาร์มยังได้รับมาตรฐาน GAP ในการรับรองฟาร์มเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีเป้าหมายต่อไปคือการขยายตลาดเพื่อการส่งออกสินค้า และการจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดต่อไปด้วย

ตู้เลี้ยงจิ้งหรีดแบบฟาร์มจิ้งหรัดแนวตั้งของ 32 BUG FARM
คุณบัญชรบอกว่า ตลาดของที่ฟาร์มตอนนี้คือจะมีลูกค้าทั้งเข้ามารับสินค้าเองถึงที่ฟาร์ม และในส่วนของการจัดส่งไปให้ลูกค้าถึงที่ มีทั้งที่ซื้อไปทอดแปรรูปขาย รวมถึงซื้อไปเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงด้วย ฟาร์มตอนนี้ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 120-200บาท หรือคิดเป็นรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 200,000กว่าบาท เมื่อเทียบกับต้นทุนถือว่าคุ้มค่า เพราะว่าปัจจุบันการขายตัวสดทางฟาร์มได้ทุนคืนมาแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการขอเครื่องหมาย อย. สำหรับสินค้าแปรรูปจากจิ้งหรีดด้วยมองว่าการสร้งรายได้อย่างยั่งยืนคือต้องมาจากการแปรรูป หากทำได้หลายรูปแบบก็จะยิ่งส่งผลดีต่อการทำธุรกิจ ในขณะที่ปัจจุบันเทรนด์อาหารแห่งอนาคตเพื่อรองรับตลาดส่งออก หากสามารถส่งออกต่างประเทศได้นั้นคือ ช่องทางการสร้างรายได้ที่สำคัญ ตอนนี้ฟาร์มเองมีระบบการเลี้ยงที่ค่อนข้างสมบูรณ์แล้วพร้อมที่จะต่อยอดไปสู่ผู้เลี้ยงรายอื่น ๆ ทั้งในรูปแบบของการจำหน่ายอุปกรณ์ หรือเป็นการร่วมทุน เพื่อจะขยายให้ได้ปริมาณจิ้งหรีดที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดต่อไป


ปัจจุบันที่ฟาร์มมีคนสนใจ "ฟาร์มจิ้งหรีดแนวตั้ง" ทั้งคนไทยแบะต่างประเทศที่เข้ามาศึกษาดูงานอยู่ไม่ขาด รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในส่วนของคณะดูงานจากต่างประเทศที่ติดต่อขอเข้ามา มีทั้งจากประเทศญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ อินโดนีเซีย และ อินเดีย เป็นต้น เข้ามาดูแล้วก็สนใจระบบอยากนำไปเลี้ยงที่ประเทศของเขา เพราะทุกคนมองว่า "โปรตีน"จากแมลงน่าจะเป็นอาหารสำหรับอนาคตที่ได้รับความสนใจมาก ๆ ต่อไป

ขอบคุณงานสัมมนา เทรนด์อาหารแห่งอนาคต ไข่ผำ-จิ้งหรีด ซูเปอร์ฟู้ด จากธรรมชาติ เข้าใจ เข้าถึง นวัตกรรมแห่งอนาคต จัดโดยกรมประมง และนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน
ทั้งนี้สำหรับผู้ที่สนใจ "ฟาร์มจิ้งหรีดแนวตั้ง" ซึ่งต้องขอบอกว่างานนี้คนเมืองหรือคนมีพื้นที่จำกัดก็สามารถเลี้ยงหรือทำฟาร์มจิ้งหรีดได้ สามารถติดต่อไปได้ที่ โทร.081-697-3539 เพจเฟซบุ๊ก : 32 BUG FARM

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น