xs
xsm
sm
md
lg

สมาชิกสหกรณ์ฯ จ.อุดรธานี ใช้ประโยชน์ที่ดิน คทช. ทำเกษตรผสมผสานรวมตัวทำนาแบบประณีต เพิ่มผลผลิต สร้างความพอเพียงเลี้ยงตัวเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่อุดรธานีตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินพื้นที่ คทช. พร้อมชมการลงแขกดำนาปลูกข้าวแบบประณีต ปรับเปลี่ยนการทำนาลดต้นทุนการผลิต หากสำเร็จพร้อมขยายผลพื้นที่อื่นด้วย


นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วยว่าที่ร้อยตรี สุระศักดิ์ บุญชาญ สหกรณ์จังหวัดอุดรธานี และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแปลงเกษตรผสมผสานของ นายไชยยา อินทรถ สมาชิกสหกรณ์การเกษตรโคกไผทป่าไม้งาม จำกัด และได้เข้าร่วมโครงการการขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรพื้นที่โครงการส่่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร (คทช.) จังหวัดอุดรธานี ณ บ้านหว้าน ตำบลดอนกลอย อำเภอพิบูลย์รักษ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมี นายไชยยา อินทรถ และสมาชิกสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ ให้การต้อนรับ


โอกาสนี้ อธิบดีฯ ได้ให้กำลังใจและชื่นชมสมาชิกสหกรณ์ที่มีแนวความคิดในการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการประกอบอาชีพโดยเน้นการพึ่งพาตนเอง การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิตข้าว โดยการทำนาแบบประณีต และอยากเน้นย้ำให้สมาชิกรักษาและใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกิน พัฒนาอาชีพ สร้างรายได้เพื่อเลี้ยงครอบครัว และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ อธิบดีฯ ได้มอบปัจจัยการผลิต ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เมล็ดพันธุ์ผัก รวมถึงสมุดบันทึกบัญชีครัวเรือน บัญชีต้นทุน ให้กับตัวแทนสมาชิกสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ จากนั้นตรวจเยี่ยมแปลงเกษตรของนายไชยยา อินทรถ มีพื้นที่ทำการเกษตร20 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ ปลูกผัก เลี้ยงไก่ ปลูกไม้ยืนต้น ทำให้มีรายได้จากการขายผลผลิตทางการเกษตรปีละ 1 แสนบาท โดยได้กู้ยืมเงินจากสหกรณ์ฯ เพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ ปีละ30,000 บาท ซึ่งสามารถส่งชำระคืนเงินกู้ได้ตามกำหนด นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมแปลงนา และชมกิจกรรมลงแขกดำนา “ปลูกข้าวแบบประณีต ลดการใช้ทรัพยากรเพิ่มผลผลิต มีความพอเพียง เลี้ยงตัวเองได้” ในพื้นที่ คทช. ซึ่งนายไชยยา ได้แบ่งพื้นที่ทำนา จำนวน3 ไร่ ซึ่งแต่เดิมทำนาแบบนาหว่าน ซึ่งต้องใช้ต้นทุนค่อนข้างสูงเฉลี่ยไร่ละ2,500 – 3,000 บาท จึงมีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาแบบดั้งเดิม หรือนาหว่านมาทำนาแบบประณีต เพื่อลดต้นการผลิต ได้ชักชวนเพื่อนสมาชิกที่มีความสมัครใจเข้าร่วมโครงการ โดยมีเงื่อนไข ดังนี้ จะต้องมีการทำนาทั้งแบบดั้งเดิมและแบบประณีต เพื่อเปรียบเทียบ ผลผลิต รายได้ ค่าใช้จ่าย มีการบันทึกบัญชีฟาร์ม เน้นการปักดำโดยการใช้ต้นกล้ากอเดียว งดการใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทน มีกิจกรรมลงแขก ประชุมกลุ่มหมุนเวียนเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ มีการปลูกพืชหลังนาเพื่อบำรุงดิน ปลูกแหนแดง มีการเลี้ยงปลาในนาข้าว มีการปลูกพืชผักสวนครัวตามคันนา ซึ่งมีสมาชิกสมัครใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน5 ราย มีเนื้อที่ทำนาร่วมกัน29 ไร่ โดยจะแบ่งพื้นที่ทำนาแบบประณีต คนละอย่างน้อย1 - 3 ไร่ รวมเป็นพื้นที่ทำนาแบบประณีต7 ไร่ โดยตั้งเป้าหมายเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการทำนาลงให้ได้ไร่ละ1,500 - 2,000 บาท/ไร่ ผลผลิตข้าวได้รับการรับรองGAP มุ่งสู่ข้าวอินทรีย์1 ไร่/ราย


“ในพื้นที่อำเภอพิบูลย์รักษ์ เป็นพื้นที่ คทช. ที่รัฐบาลจัดสรรพื้นที่ให้กับพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ป่าสงวน ได้ทำกินในพื้นที่ ซึ่งมีหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เข้ามาส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแก่สมาชิกโดยใช้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาขับเคลื่อนในพื้นที่ โดยให้เกษตรกรปลูกพืชแบบหลากหลาย ใช้แนวทางของเกษตรอินทรีย์มาทำในพื้นที่ เช่นวันนี้ที่ได้ลงพื้นที่ของสมาชิกซึ่งได้ทำการเกษตรที่หลากหลาย มีแหล่งน้ำต้นทุนใช้ในการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการทำประมงในพื้นที่ วัตถุประสงค์หลักคือให้เกษตรกรมีอาหารรับประทานครบทุกมื้อ ถ้ามีเหลือก็นำไปขาย และเป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อที่จะขยายผลให้กับสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่ คทช. ในส่วนการทำนาแบบประณีต มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสหกรณ์จังหวัดร่วมกับกรมการข้าว สำนักงานเกษตรจังหวัด ได้เข้ามาแนะนำให้สมาชิกทำนาแบบประณี ใช้ต้นกล้าจำนวนน้อย ซึ่งแตกต่างจากการทำนาแบบหว่านที่ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ค่อนข้างมาก การทำนาแบบประณีตจะลดต้นทุนเรื่องเมล็ดพันธุ์ลง และลดค่าใช้จ่ายโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ปุ๋ยหมักที่ได้ทำเอง รวมถึงการเลี้ยงแหนแดงในนาเพื่อให้เป็นแหล่งสร้างปุ๋ยในนา นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงปลาในนา ซึ่งสำนักงานประมงจังหวัดเข้ามาร่วมส่งเสริมทำให้ได้ผลผลิตทั้งข้าวและปลา ซึ่งผลผลิตสองชนิดนี้มากกว่าการทำนาเพียงอย่างเดียว รายได้ของสมาชิกเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายลดลง” นายวิศิษฐ์ กล่าว


ภาพรวมการใช้พื้นที่ คทช. ในจังหวัดอุดรธานีมีทั้งหมด6 แปลง จัดตั้งเป็นสหกรณ์แล้ว1 แปลง มีสมาชิกประมาณ 200 กว่าราย ถ้าการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ คทช. แปลงนี้เห็นผล จะขยายไปพื้นที่อื่นด้วย เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมอาชีพแก่สมาชิก ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่ม ให้องค์ความรู้ เรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้สมาชิกใช้พื้นที่ที่รัฐบาลมอบให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ให้คนอยู่กับพื้นที่ป่าได้ แล้วสร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่ายและไม่รุกที่พื้นที่อื่นเพิ่ม เป็นการจัดพื้นที่ให้พี่น้องประชาชนได้ทำกินตรงในพื้นที่ที่เคยอยู่อาศัย โดยต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐ และภาคเอกชนในพื้นที่ เข้าไปสนับสนุนความรู้ด้านการผลิต ส่งเสริมด้านการตลาด จะช่วยให้สมาชิกมีรายได้ที่ดีขึ้น




สหกรณ์การเกษตรโคกไผทป่าไม้งาม จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์ เมื่อวันที่25 พฤศจิกายน2559 ปัจจุบันมีสมาชิก 289 คน ธุรกิจหลักของสหกรณ์ คือ ธุรกิจสินเชื่อ มีทุนดำเนินงาน864,362 บาท สหกรณ์แห่งนี้เป็นสหกรณ์ระดับอำเภอ และเป็นสหกรณ์ที่อยู่ในโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร ภายใต้โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ทั้งนี้ สหกรณ์มีแผนงานและโครงการพัฒนาศักยภาพของสหกรณ์ในการดำเนินธุรกิจวางแผนระบบการผลิต การตลาด และทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ส่งเสริมการรวมกลุ่มในพื้นที่จัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในรูปแบบสหกรณ์ฃ ส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาดในรูปแบบเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ตลอดจนส่งเสริมการเลี้ยงปลาตะเพียน เพื่อส่งเป็นวัตถุดิบผลิตปลาส้มออกจำหน่าย โดยสร้างแบรนด์และบรรจุภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จัก เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความอยู่ดี กินดี มีสันติสุข และสร้างความเข้มแข็งในชุมชนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น