xs
xsm
sm
md
lg

คณะวิทย์ มธ. เปิดตัว ‘Oryzwel’ ผลิตภัณฑ์ข้นหวานจากข้าวและธัญพืชเติมหวานแคลอรี่ต่ำ ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SCI-TU) เอาใจคนรักสุขภาพ ที่ชื่นชอบรับประทานรสหวาน แต่ให้แคลอรี่น้อย น้ำตาลในเลือดไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ยกระดับสู่อาหารทางเลือก ‘Oryzwel’ ผลิตภัณฑ์ข้นหวานจากข้าวและธัญพืช ที่อัพเกรดต่อยอดความสำเร็จเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ภาคเกษตรกรรมไทย ด้วยการผสานความรู้ด้านฟู้ดไซน์ร่วมกับข้าวไทย ที่มีดัชนีน้ำตาลปานกลางถึงต่ำและธัญพืช ไม่ใส่วัตถุกันเสีย มาพร้อมคุณค่าทางโภชนาการ เหมาะกับผู้ที่รักสุขภาพ ผู้มีอาการแพ้กลูเตน และผู้ที่หลีกเลี่ยงการรับประทานนมจากสัตว์

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ ‘Oryzwel’ ได้พัฒนาเชิงพาณิชย์แล้ว 3 สูตร ได้แก่ สูตรออริจินัล สูตรเมล็ดฟักทอง และสูตรงาดำโกโก้ ในขนาดบรรจุถุง 120 กรัมจำหน่ายในราคาถุงละ 129 บาท ทั้งนี้ ผลงานวิจัย ‘ผลิตภัณฑ์ข้นหวานจากข้าวและธัญพืช สูตรมังสวิรัติ’ ได้รับรางวัลเหรียญทอง จากเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ “Inventions Geneva Evaluation Day – Virtual Event” เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤติยา เขื่อนเพชร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤติยา เขื่อนเพชร อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SCI-TU) เผยว่า  เทรนด์การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เพื่อลดภาวะเสี่ยงการเกิดโรคจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็มเกินไป จึงนำไปสู่ความร่วมมือกับทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อยอดความรู้ฟู้ดไซน์ (Food Science) ยกระดับข้าวไทยสายพันธุ์ กข 43 ที่มีดัชนีน้ำตาลปานกลางถึงต่ำ พัฒนาเป็นนมข้าวข้นหวานต้นแบบที่ลดการเติมน้ำตาล เทียบปริมาณน้ำตาลกับนมข้นหวานทั่วไป จาก 40 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 8 เปอร์เซ็นต์

ผศ.ดร.กฤติยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการต่อยอดจากโจทย์ของผู้บริโภค เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ อาทิ ผู้ที่แพ้กลูเตนและนมวัว ทำให้ทีมวิจัยคณะวิทย์ มธ. ร่วมกับ บริษัท อิมฟู้ด ครีเอชั่น จำกัด ได้พัฒนาสูตรใหม่ ด้วยการไม่เติมน้ำตาลทราย ไม่ใส่นมวัว ไม่ใส่วัตถุกันเสีย และเพิ่มธัญพืชชนิดต่างๆ สู่ฟู้ดฟังก์ชัน (Functional Food) จึงได้เป็นสูตรใหม่ในชื่อ ‘Oryzwel’ ผลิตภัณฑ์ข้นหวานจากข้าวและธัญพืชสูตรมังสวิรัติ ที่มาพร้อมพรีไบโอติกและใยอาหาร อาทิ ฟรักโทโอลิโกแซ็กคาไรด์ (Fructo-Oligosaccharide) และอินูลิน (Inulin) ที่นอกจากจะให้ความหวานแล้ว ยังเพิ่มประโยชน์แก่ผู้บริโภคในการปรับสมดุลลำไส้ ช่วยระบบขับถ่าย เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่รักสุขภาพ สายมังสวิรัติ สายวีแกน ผู้ที่อยู่ในระหว่างการควบคุมน้ำหนัก ตลอดจนผู้ที่แพ้นมวัวและกลูเตน สามารถลิ้มรสความหวานอร่อยได้ตามปกติ โดยไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ แคลอรี่น้อย ไม่เพิ่มน้ำตาลในเลือดอย่างรวดเร็ว


งานวิจัยนี้ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรในนามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยปัจจุบันมีการขอใช้สิทธิและนำไปต่อยอดโดยบริษัท อิมฟู้ด ครีเอชั่น จำกัด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังได้เข้าสู่กระบวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรมที่มีความปลอดภัย และได้จดแจ้งเป็นผลิตภัณฑ์ข้นหวานจากข้าวและธัญพืช จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ทั้งนี้ ผลงานวิจัย ‘ผลิตภัณฑ์ข้นหวานจากข้าวและธัญพืช สูตรมังสวิรัติ’ ได้รับรางวัลเหรียญทอง จากเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ “Inventions Geneva Evaluation Day – Virtual Event” เมื่อปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

ทั้งนี้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ถือเป็นกรณีศึกษา (Case Study) สำหรับคนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นแบบอย่างในการต่อยอดองค์ความรู้ ที่สามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือก ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเกษตรของไทย และเกิดเป็นธุรกิจ SMEs ที่สร้างรายได้ในอนาคต โดยที่ผ่านมา ภายหลังจากที่ทีมวิจัยได้ประสบความสำเร็จจากการประกวดดังกล่าว ทำให้มีผู้ประกอบการร้านอาหารและคาเฟ่ ติดต่อขอซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปประกอบธุรกิจอาหารทางเลือก เจาะกลุ่มคนรักสุขภาพ ที่มียอดการสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง


“คณะวิทย์ มธ. มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมไอเดียของคนรุ่นใหม่ ต่อยอดศักยภาพของ Gen Z โดยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เชื่อมโยงโอกาสตามความสนใจของผู้เรียน พร้อมถ่ายทอดความรู้ที่ครอบคลุม ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการอาหาร และแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ โดยคณะวิทย์ฯ มธ. เตรียมเปิดรับสมัครนักศึกษาปริญญาตรีเข้าศึกษาต่อ รอบแอดมิดชัน (Admission) ระหว่างวันที่ 7-13 พฤษภาคมนี้ จำนวน 2 สาขา ได้แก่ 1. สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร (Food Science and Technology) และ 2. สาขาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร (Food Science and Innovation) “ ผศ.ดร.กฤติยา กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้สนใจเข้าศึกษาต่อหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร สามารถตรวจสอบคุณสมบัติและกรอกข้อมูลการสมัครได้ที่เว็บไซต์ http://student.mytcas.com หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจาก คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SCI-TU) ได้ที่เว็บไซต์ www.tuadmissions.in.th, www.facebook.com/ScienceThammasat และ https://sci.tu.ac.th หรือติดต่อ 02-564-4490 ต่อ 2094


กำลังโหลดความคิดเห็น