xs
xsm
sm
md
lg

“ป้าตาโอบะซัง” สุดยอดเชฟอาหารมังสวิรัติ คนญี่ปุ่นข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชื่อ “ป้าตาโอบะซัง” สุดยอดเชฟอาหารไทยมังสวิรัติวัย 66 ปี เสน่ห์อาหารมังสวิรัติในแบบของป้าตา โดนใจคนญี่ปุ่นจนหลายคนต้องหอบหิ้วมาเรียนการทำอาหารมังสวิรัต กันถึงสวนสุขใจสวนเล็กๆ ที่ป้าตาทำขึ้นมาเพื่อเป็นที่พักอาศัยช่วงบันปลายชีวิตหลังวัยเกษียณ ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองแม่แตงประมาณ 1 ชั่วโมง


เชฟอาหารมังสวิรัติชื่อดัง ซ่อนตัวอยู่ที่ไม่มีไฟฟ้า ประปา

ปัจจุบัน ป้าตาโอบะซังอาศัยอยู่ที่บ้านพักสวนสุขใจ ที่ไม่มีแม้กระทั่งไฟฟ้า หรือ น้ำประปา แต่ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับคนที่หลงรักเสน่ห์การทำอาหารของป้าตา เพราะหลายคนที่เคยได้ชิมรสมือสักครั้ง ก็ต้องยอมดันด้น เพื่อที่จะเข้าไปเรียนการทำอาหารมังสวิรัติกับสุดยอดเชฟที่ไม่มีใบการันตีอะไรเลย นอกจากการบอกต่อ

นอกจากฝีมือการทำอาหารสุดยอดแล้ว “ป้าตาโอบะซัง” คนนี้ แก่ยังเป็นคนจิตใจดี ชอบทำบุญ โดยได้แบ่งพื้นที่บางส่วนของสวนสุขใจจำนวน 7 ไร่ บริจาคแก่พระอาจารย์สร้างเป็นสำนักสงฆ์ เพื่อให้ทุกคนได้มาปฏิบัติธรรมท่ามกลางธรรมชาติที่เงียบสงบ และได้กินอาหารมังสวิรัติฝีมือเชฟป้าตาโอบะซัง ปัจจุบันทุกคนรู้จักกันในชื่อของ “วัดสวนสุขใจ”


ทำไมถึงมาเป็นเชฟทำอาหาร

หลายคนสงสัยว่าแล้ว ป้าตา “นางจำเนียร เอี่ยมเจริญ” ไปเป็นเชฟอาหารมังสวิรัติได้อย่างไร และฉายา “ป้าตาโอบะซัง” มาจากไหน วันนี้ ป้าตา “จำเนียร” จะมาบอกเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปว่า จุดเริ่มต้นของการได้ฉายา “ป้าตาโอบะซัง” เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อ ครั้งหนึ่งป้าตาต้องการจะหาเงินช่วยเหลือเด็กญี่ปุ่นคนหนึ่งอยากจะกลับบ้านแต่ไม่มีเงิน ป้าก็เลยเสนอตัวช่วยพาเค้ากลับบ้าน โดยร่วมกับเพื่อนๆ ระดมทุนกันและได้พาน้องเค้ากลับไปญี่ปุ่น แต่การเดินทางมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ตอนนั้นคิดว่าแล้วเราจะทำอะไรเพื่อจะได้หาเงินมาเป็นค่าใช้จ่าย และค่าเดินทางในครั้งนี้

“ป้าไปกับเพื่อน ๆ อีก 4-5 คน ช่วยกันลงขันแชร์ค่าใช้จ่าย แล้วป้าก็ได้มีโอกาสไปจัดกาดมั่วเล็ก ๆที่โตเกียว มีการสาธิตการทอผ้า การทำศิลปหัตถกรรมพื้นเมืองทางเหนือ และ ทำอาหารเจขายที่นั่น ป้าเอาวัตถุดิบที่เขามีอยู่แล้วมาประยุกต์ เช่น มิโซะ เราเอามาทำเป็นน้ำสมุนไพรหรือน้ำบูดู ทำข้าวยำบ้างหรือไม่ ก็นำมาทำเป็นน้ำพริก ได้เป็นน้ำพริกมิโซะ ส้มตำก็ใช้แครอทแทน เป็นต้น ที่ญี่ปุ่นมีวัตถุดิบอะไรไม่เหมือนกับบ้านเรา เราก็ต้องนำมาดัดแปลงให้สามารถทำเป็นอาหารมังสวิรัติแบบไทยๆ ได้ ที่สำคัญต้องอร่อยและรสชาติกลางในแบบที่คนญี่ปุ่นชื่นชอบ”

ตอนจัดกิจกรรมกาดมั่วเล็กๆ ที่ป้ากับเพื่อนร่วมกันทำที่ประเทศญี่ปุ่น ตอนนั้น ก็มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นทำข่าว ป้าก็เริ่มเป็นที่รู้จัก ก็ได้เชิญไปทอล์กโชว์ หลังจากนั้นก็เริ่มมีชื่อเสียง มีคนญี่ปุ่นติดต่อเข้ามาหาเพื่อเรียนการทำอาหารมังสวิรัติกับป้าตาอยู่เรื่อย


ที่มาของชื่อ “โอบะซัง” ฟังแล้วว้าว !!

แม้ว่าป้าตาจะเดินทางกลับมาประเทศไทยแล้วก็ยังมีสำนักข่าว NHK สถานีโทรทัศน์อันดับหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ก็ยังเดินทางมาสัมภาษณ์และมาเป็นลูกศิษย์เรียนทำอาหารกับป้าตาถึงบ้านสวนสุข และถ้าไม่เจอกับสถานการณ์โควิด ป้าตาโอบะซังจะต้องเปิดบ้านสวนสุขใจรับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่ตั้งใจเดินทางมาเรียนทำอาหารกับป้าตา อย่างต่อเนื่อง

“ที่มาของ โอบะซัง มาจากเมื่อครั้ง สถานีโทรทัศน์ NHK มาสัมภาษณ์ ป้าตาได้สอนทำอาหาร และหนึ่งในนั้น คือ เมนูลิ้นจี่ลอยแก้ว ซึ่งชื่นชอบกันมาก เอาสูตรน้ำลิ้นจี่ของป้าไปขายให้กับบริษัทคิริน จนเป็นเครื่องดื่มที่ขายดีมาก ถึงขั้นเอารูปป้าไปออกแบบเป็นโลโก้ติดข้างขวด และก็มาถ่ายทำโฆษณาน้ำลิ้นจี่ที่สวนสุขใจและให้ป้าเป็นแบบชิมน้ำลิ้นจี่ นำไปฉายที่ญี่ปุ่น หลังจากนั้นป้ามีชื่อเสียง ถึงเรียกกันว่า “ป้าตา โอบะซัง”


รายได้ป้าตา หลังเจอโควิด

ป้าตาโอบะซัง เล่าว่า หลังจากสถานการณ์โควิดคนญี่ปุ่นมาเรียนทำอาหารไม่ได้ ป้าตามีรายได้ จากการทำอาหารมังสวิรัติและนำพืชผัก ผลไม้ ผลผลิตในสวนสุขใจออกมาจำหน่าย ที่ตลาดเกษียณมาร์เก็ต เดือนละ 2 ครั้ง หรือไม่ก็จะไปจัดกิจกรรมกาดมั่วเล็กๆ รูปแบบลานนา บนถนนคนเดิน คนที่ต้องการจะกินอาหารมังสวิรัติฝีมือป้าก็จะไปกินกันที่นั่น

“ที่ป้าไม่เปิดบ้านสวนสุขใจ ให้คนเข้าไปกินอาหาร หรือ รับนักท่องเที่ยว เพราะกลัวว่าจะไปรบกวนกับส่วนของวัดสวนสุขใจ และการเปิดเป็นร้านอาหารจะทำให้พื้นที่สงบของวัดเปลี่ยนไป จะดูไม่สงบและผิดวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก ที่ต้องการจะบริจาคที่ให้วัดเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมจริงๆ ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว หรือ ร้านอาหาร”


ชีวิตของป้าก่อนจะมาเป็นเชฟสอนทำอาหาร

ป้าตาโอบะซัง เดิมป้าทำบริษัททัวร์ มาก่อน และเมื่อปี 2526 น้ำท่วมหนักป้าเลยลาออกมา และซื้อที่เชียงใหม่ และทำตุ๊กตางานฝีมือที่ป้าชอบในวัยเด็กขึ้นมาทำขาย จะมีขายนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาเที่ยวเชียงใหม่ ขายดีมากจนได้สร้างเป็นโรงงานทำตุ๊กตา ส่งไปขายหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่นฯลฯ ทำมาได้ 10 ปี เจอปัญหาเศรษฐกิจโลก จาก IMF ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเกิดจากความโลภทำอะไรเกินตัว ทำให้ป้าต้องเป็นหนี้หลักล้านบาทจากโรงงานตุ๊กตา ป้าก็เลยหยุดโรงงานทำตุ๊กตา และเริ่มหันหหน้าเข้าวัดปฏิบัติธรรม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ป้าก็ทำอาหารมังสวิรัติไปถวายพระ และ ตัวเองก็กินแต่อาหารมังสวิรัติ มาตลอด


จุดเริ่มต้นการทำอาหารของป้า เกิดมาจาก แม่ให้เราเข้าไปช่วยเป็นลูกมือในการทำอาหาร แม้ว่าป้าเองในวัยตอนนั้นไม่ได้ชอบการทำอาหารเลย แต่พอได้ช่วยทุกวันก็ซึมซับการทำอาหารไปเอง โดยไม่รู้ตัว พอเวลาต้องมาทำอาหารก็ทำได้เองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องไปเรียนที่ไหน อาหารมังสวิรัติของป้าไม่เคยได้รับดาว หรือ ป้ายการันตีความอร่อยใดๆ แต่วันนี้ เชฟชื่อดังหลายคนที่ได้มาชิมต่างก็ยอมรับ พร้อมกับบอกกันแบบปากต่อปาก

“ป้าไม่เคยคิดว่าจะเข้าประกวดแข่งขันอะไร คิดแค่ว่าการทำดีไม่ต้องมีการประกวด เป็นเรื่องที่คนเค้าศรัทธาและยอมรับกันเอง ป้าต้องการแค่ทำอาหารให้คนกินและเค้าไม่เสียความรู้สึก ทำด้วยความตั้งใจและทำให้คนกินมีความสุขและให้คนหันมากินมังสวิรัติกันเยอะ เพื่อจะได้ละเว้นจากการฆ่าสัตว์แค่นี้ป้าก็มีความสุขแล้ว"

คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น