xs
xsm
sm
md
lg

ใช้พื้นที่น้อยเลี้ยง 30-35 วันขายได้! “ตั๊กแตนโมไข่” เสิร์ฟตลาดแมลงทอด ราคาดีกิโล 400-500 บาท สนใจไหม!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำหรับคนเกษตรอย่างพวกเราที่ทางเลือกก็มีไม่มาก แต่ละทางมันก็ยาก ๆ ทั้งนั้นที่จะดำรงชีพได้ ลองดูไหมอีก 1 ทางเลือกเผื่อมันจะง่ายและก็อาจเปลี่ยนชีวิตเราได้บ้าง วันนี้ตั๊กแตนก็ยังคงกิโลหลายร้อย ลุยกันอีกสักตั้งกับอาชีพใหม่ ๆ เลี้ยงตั๊กแตนโมไข่กัน!

ตั๊กแตนปาทังก้าจีน (โมไข่) แบบฟรีซแข็งนำเข้ามาจากต่างประเทศที่ตลาดแมลงทอดใช้บริการด้านวัตถุดิบหลักอยู่
เมื่อวิศวกรมาทำเกษตรเราจะเห็นได้อย่างหนึ่งว่า การคิดเป็นระบบของพวกเขาย่อมสร้างความแตกต่างจากธรรมดาทั่วไปแน่นอน “สัมพันธ์ พิพัฒน์วรการ”เจ้าของเฟรชวิลล์ ฟาร์ม คือหนึ่งในนั้นโดยวิชาชีพหลักจริง ๆ ของเขาก็คือเป็น “วิศวกร” และทุกวันนี้ก็ยังคงทำอาชีพนั้นอยู่ด้วย จากข้อความบางส่วนที่เขากล่าวไว้ในข้างต้นซึ่งได้หยิบยกมา และยังมีที่พูดถึงไว้อีกตั๊กแตนปาทังก้าโมไข่จีนผมก็เลี้ยงของผมมา 2-3 เดือน ผมก็ว่ามันไม่น่าจะยากตรงไหน ขอให้มีหญ้าให้มันเยอะ ๆ ขอให้มีแสงแดดให้มันได้นอนอาบแดด ขอให้มีร่มกันฝนให้มันด้วยเท่านี้จริง ๆ”วันนี้ฟาร์มเกษตรในเมืองซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 10 ซอยรามคำแหง 118 (แยก 44) แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ กลายเป็นแหล่งพบปะเพื่อศึกษาเรียนรู้เรื่องอาชีพการเกษตรที่น่าสนใจมาก ๆ ยกตัวอย่างของ การเลี้ยงตั๊กแตน ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายอาชีพที่เปิดให้ผู้สนใจได้เข้ามาเยี่ยมชมดูงานที่นี่ด้วย

ตั๊กแตนปาทังก้าจีน (โมไข่) ที่เลี้ยงได้ดีแล้วในบ้านเรา
ทำไมต้องเลี้ยง “ตั๊กแตน”?
เจ้าของ “เฟรชวิลล์ ฟาร์ม” เล่าว่า กว่า11 ปีแล้วที่ปักหลักทำฟาร์มเกษตรแบบคนเมืองมา รู้สึกว่ามันก็ดีระดับหนึ่ง จนกระทั่งเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้วได้เข้าไปอยู่ในวงการหนึ่งที่ว่า “โปรตีนทางเลือก” หรือที่ทำเกี่ยวกับ “แมลงเศรษฐกิจ” กินได้ มีโอกาสที่ได้ทดลองเลี้ยง ทดลองทำ เกี่ยวกับ “การเลี้ยงตั๊กแตน” ขณะที่จริง ๆ แล้วตั๊กแตนกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ ซึ่งมีมูลค่าสูงมาก อัตราการเติบโตของแมลงชนิดนี้กว่า 47% ในโลกนี้ เติบโตได้ไวมาก กลายเป็นว่าตั๊กแตนเป็น “เบอร์ 1” ส่วนในบ้านเราเองหนอนรถด่วน เป็นเบอร์1 และตั๊กแตนเป็นเบอร์2 แต่วันนี้เราจะได้ยินเรื่องของแค่ ด้วงสาคู หรือเรื่องของตัวจิ้งหรีด


“แต่วันหนึ่งเรามาเลี้ยง “ตั๊กแตน” เห็นว่ามันเป็นสัตว์ที่สะอาด กินเฉพาะหญ้า เพราะหญ้าที่นี่มันรกก็เอาหญ้าให้มันกิน มันก็กลายเป็นปุ๋ย แล้วเอาปุ๋ยไปใส่พืช คิดแค่นั้นเองจริง ๆ เลี้ยงไป 30 กว่าวันปรากฏว่ามีคนที่ทำธุรกิจแมลงส่งออก ติดต่อขอซื้อเดือนละ 3 ตัน จากสิ่งที่เราทำเล่น ๆ เขาขอซื้อเดือนละ 3 ตัน!!! พอ 3 ตันปุ๊บเราก็คิดเลย เอ๊ะจะเลี้ยงยังไง เลี้ยงยังไง ไม่เห็นยากเลย เอาอ้อยให้มันกิน เอาใบกล้วยให้มันกิน มีอะไรก็ให้มันกิน กินไปกินมา 30 วันแป๊บเดียวเอง แมลงกิโล 500-600 บาท 400-500 บาท ทำได้ง่ายมากแถมต้นทุนไม่กี่บาท น้ำก็ไม่ต้องให้ แล้วมันเป็นสัตว์ทะเลทราย มันกิน มันทนร้อน มันได้ทุกอย่างแล้วราคาแพง ทอดขายกิโล 1500 แล้วทำไมเราไม่ส่งเสริมให้คนทำ”


รู้จัก “ตั๊กแตนปาทังก้าโมไข่” สายพันธุ์ที่เลี้ยง และการจัดการดูแล
คุณสัมพันธ์ บอกด้วย วันนี้ความต้องการของตลาดมีการนำเข้าจากต่างประเทศเดือนหนึ่ง ๆ กว่า 30 ตู้คอนเทนเนอร์ ยกตัวอย่างที่ตลาดอรัญฯ เข้ามาทีจะแย่งกันซื้อวันละเป็นล้านบาท ตั๊กแตนแบบที่ฟรีซแข็งมา พ่อค้าแม่ค้าขายแมลงทอดจะแย่งซื้อตั๊กแตนกัน สำหรับ “ตั๊กแตนปาทังก้าโมไข่” (BOMBAY LOCUST) หรือปาทังก้าจีน(โมไข่) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ประยุกต์หรือสายพันธุ์ที่มันกลายพันธุ์มาแล้ว จนมันสามารถเติบโตได้ตลอดปี ถ้าหากเป็นการเลี้ยงตั๊กแตนไทยจะใช้ระยะเวลานานกว่า 7 หรือ 8 เดือนแต่ตั๊กแตนสายพันธุ์นี้ใช้เวลาเลี้ยงเพียง เดือนกว่าเก็บขาย ๆ ซึ่งเป็นอะไรที่มันทำธุรกิจได้ดี

การเลี้ยงตั๊กแตนต้องมีแปลงหญ้าใช้เป็นแหล่งอาหารหลักสำหรับการเลี้ยงด้วยจะดีมาก
การจัดการเลี้ยง& ดูแล
1.การบ่มไข่: เตรียมดินร่วนความสูงครึ่งหนึ่งของกล่องที่จะใช้บ่ม ตามด้วยขุยมะพร้าวพอหมาด ๆ นำไข่ที่ได้รับมาวางทับลงบนขุยมะพร้าว และคลุมไข่ด้วยขุยมะพร้าวหมาดอีกชั้น จากนั้นใช้ฟ๊อกกี้ช่วยพรมน้ำให้มีความชื้นและใช้ดินร่วนปิดท้ายบาง ๆ แล้วปิดฝากล่อง นำไปไว้บริเวณอุ่น ๆ ใช้เวลาประมาณ14 วัน ถึงจะเริ่มฟัก
2.วงจรชีวิตตั๊กแตนโมไข่: เริ่มนับอายุตั๊กแตนเมื่อฟักออกจากไข่เป็นวันที่ 1 ช่วงเวลาการเติบโตตั้งแต่เป็นตัวอ่อนจนถึงตัวเต็มวัย ใช้ระยะเวลาประมาณ 4 สัปดาห์ จะมีการลอกคราบ 4-5 ครั้ง(เก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงนี้) หลังจากนั้นประมาณ 4-5 วันจะเริ่มจับคู่และเกาะกันใช้เวลาทั้งหมด ประมาณ 2 สัปดาห์จะเริ่มวางไข่
3.การเก็บเกี่ยว: เก็บเกี่ยวช่วงอายุ30-35 วัน หรือช่วงก่อนโตเต็มวัย(ลอกคราบครั้งที่4)
4.การดูแล&อาหาร : ตั๊กแตนชอบอากาศร้อน ยิ่งร้อนยิ่งเจริญเติบโตได้ดี ไม่ชอบอากาศเย็นและฤดูฝน การให้อาหารตั๊กแตนชอบกินหญ้าหรือใบไม้อ่อน ๆ เช่น ใบอ้อย ใบตอง ใบข้าวโพด หรือหญ้าเนเปียร์ที่ช่วยเพิ่มโปรตีน โดยให้ทุกวัน วันละ 1 ครั้ง(หลังจากฟักประมาณ 7 วัน ตั๊กแตนจะเริ่มกินอาหาร)
5.การสืบพันธุ์: เตรียมกระบะสำหรับวางไข่ไว้ในโรงเรือนตั้งแต่ช่วงที่มีการเริ่มผสมพันธุ์ โดยใช้ดินร่วนผสมขุยมะพร้าวอัตราส่วน 1 :1 ให้มีความสูง 8-9 ซม. ตั๊กแตนตัวเมียจะวางไข่โดยเสียบก้นลึก 3-5 ซม.

พืชสมุนไพรที่กำลังอยู่ในกระแสก็มีปลูกที่นี่ด้วยนะ
ใช้พื้นที่น้อย แต่สร้างรายได้หลายหมื่นบาท/เดือน!
“พื้นที่ก็ใช้แค่นิดเดียว ถ้าคุณมีแค่ 3x3 เมตรเนี่ย ก็เลี้ยงได้เป็นหลายหมื่นตัวแล้ว! ยิ่งพื้นที่ 3x10 เมตรนะ เลี้ยงได้เป็นแสนเป็นล้านตัวเลย สามารถมีรายได้เป็นหลาย ๆ หมื่นต่อพื้นที่เล็กนิดเดียว”

คุณสัมพันธ์ พิพัฒน์วรการ เจ้าของเฟรชวิลล์ ฟาร์ม
ช่วงเดือนกว่ามานี้ คุณสัมพันธ์เล่าให้ฟังว่าได้เปิดโครงการซึ่งมีชื่อว่า “1 อำเภอ1 ฟาร์ม” ขึ้นมา โดยมีจุดประสงค์คือต้องการเกษตรกร1 คนจาก 1 อำเภอ เพื่อเป็นตัวแทนในการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงตั๊กแตนใช้เป็นต้นแบบสำหรับการขยายสู่เพื่อนเกษตรกรรายอื่น ๆ ต่อไป ปรากฏว่าได้รับความสนใจมีการสมัครเข้ามาร่วมโครงการนี้กันเป็นจำนวนมาก เกินกว่าโควตาที่กำหนดให้ต่อ1 อำเภอด้วยซ้ำ และนอกจากเรื่อง “การเลี้ยงตั๊กแตน” แล้วก็ยังมีอาชีพอื่น ๆ อาทิ การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ การปลูกผักดิน ปลูกพืชสมุนไพร การเพาะเห็ด ฯลฯ เปิดรับคนที่สนใจเข้ามาอบรมเพื่อการสร้างเป็นอาชีพต่อไปด้วย ซึ่งในส่วนของการอบรมเรื่อง “การเลี้ยงตั๊กแตน” ก็จะประกอบทั้งองค์ความรู้ต่าง ๆ ในการเลี้ยงที่จะถ่ายทอดให้ พ่อแม่พันธุ์ อุปกรณ์การเลี้ยง และยังรวมไปถึงผลผลิตที่ได้ซึ่งหากใครที่หาตลาดเองไม่ได้ในช่วงแรก ๆ ไม่รู้ว่าจะขายใคร ทางโครงการฯ ก็มีการเปิดรับซื้อผลผลิตคืนด้วย

การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ของที่นี่ก็มีองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ
“ใครอยากจะมีอาชีพ ใครที่กำลังตกงาน ใครที่อยากมีอาชีพเสริม ถ้าคุณพอมีที่มีพื้นที่หญ้าบ้าง หาหญ้าให้เขากินได้บ้างผมไม่ได้ขายพันธุ์ตั๊กแตน ผมต้องการเพื่อส่งเสริมให้เขาเลี้ยงแล้วเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ ที่สร้างรายได้ให้เขาอยู่ได้ วันหนึ่งผมเชื่อมั่นว่า เกษตรกรที่เลี้ยงไม่ได้มาขายผมหรอก เขาก็ขายข้างนอกได้กิโลละ 400-500 ผมเชื่อมั่นว่าเขาไม่มาขายผมหรอกหรือขายก็ขายน้อย แต่ถ้าเกิดอยากขายก็มาขาย แต่ผมจะดีใจมากกว่าถ้าเขาตั้งตัวเองได้”

ขอบคุณ: ชมรมสื่อเกษตรดิจิทัลและเอสเอ็มอีไทย ข้อมูลจาก FB : ร้าน เพื่อนเกษตรสัมพันธ์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โทร.
099-296-5656

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น