xs
xsm
sm
md
lg

ทางเลือกใหม่เกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีดแปรรูป “อบแห้ง” ผลิต “แป้งเบเกอรี่” ส่งนอกราคาพุ่งหลัก 1000/กก.!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รู้หรือไม่ จิ้งหรีดเพียงแค่ 3 ขีด ให้โปรตีนเท่ากับ เนื้อ 1 กิโลกรัม “แป้งจิ้งหรีด” แป้งเบเกอรี่ทางเลือกใหม่ ที่นอกจากอุดมไปด้วยโปรตีนแล้ว ยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย เป็นแหล่งของ อะมิโน แอซิด แมกนีเซียม วิตามิน บี12 โอเมก้า 3 และไคติน

จิ้งหรีด แมลงเศรษฐกิจไทยที่ให้โปรตีนสูงกำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภคชาวต่างชาติ
ผศ.นนทนันท์ พลพันธ์ จาก ม.ราชภัฏร้อยเอ็ด เล่าให้ฟังว่า หลังการลงพื้นที่ไปดูงานฟาร์มเลี้ยง “จิ้งหรีด” แมลงเศรษฐกิจเพื่อเสริมรายได้ ของกลุ่มเกษตรกรที่อำเภอเกษตรวิสัย และส่วนตัวเองคือที่บ้าน(แม่ยาย) ก็เลี้ยงจิ้งหรีดอยู่ด้วย ทำให้รู้ถึงปัญหาของคนเลี้ยงจิ้งหรีดว่า การเลี้ยงมีปัญหาอะไรบ้างตลอดจนไปถึงในกระบวนการจำหน่าย “ผลผลิต” ที่ได้หลัก ๆ ที่ผ่านมา คือจะเน้นเป็นแบบแช่แข็ง และ “ตัวสด” ซึ่งก็จะมีข้อจำกัดว่าอายุการเก็บ ที่ไม่นาน เพราะจิ้งหรีดเวลาออกไข่แล้วก็จะตายไป ส่วนที่ทำ “แช่แข็ง” เองก็มีปัญหาเรื่องต้นทุนที่ใช้ในการเก็บรักษาด้วย กว่าจะขายได้ทั้งหมดก็ต้องใช้เวลาในการแช่แข็งและเก็บไว้นาน จึงทำให้มีต้นทุนที่สูงเกินไป

ลักษณะฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดของเกษตรกร
“การเลี้ยงจิ้งหรีดของเกษตรกร จะใช้ระยะเวลาประมาณ 45 วันต่อ 1 รุ่นหรือ 1 รอบการผลิต เลี้ยงในบ่อเลี้ยงขนาด 120 ซม. x 2.40 เมตร จะได้ผลผลิตต่อครั้งอยู่ราว 20-25 กิโลกรัม/บ่อ ในขณะที่การจำหน่ายสร้างรายได้ทั้งแบบ “แช่แข็ง” และตัวสดราคาก็จะอยู่ที่ ประมาณ 100-120 บาท/กก. โดยมีต้นทุนผลิตโดยเฉพาะค่าหัวอาหารเลี้ยงอยู่ประมาณ 50%”

เครื่องอบแห้งระบบปั๊มความร้อน
แปรรูปจิ้งหรีดโดยใช้เทคโนโลยี “เครื่องอบแห้งระบบปั๊มความร้อน”
“เนื่องจากว่าตัวจิ้งหรีดเองเรามองว่า มันโปรตีนสูงแล้วก็ในกระบวนการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีด มันต่อยอดได้เยอะมากไม่ว่าจะ นำไปทำเป็นคุกกี้ เอาไปทำเป็นสปาเก็ตตี้ เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ ได้ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเป็นผลิตภัณฑ์พวกนั้น คือต้องแปรรูปเป็นรูปผงก่อน”

กำลังการผลิต 300 กิโลกรัม/วัน/ครั้ง
การนำเอาเทคโนโลยีอบแห้งเข้าไปสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีด ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงจิ้งหรีดและแปรรูป ต.เกษตรวิสัย อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อนเอ็ด เพื่อการสร้างต้นแบบ “ผลิตภัณฑ์” ก่อนขยายผลไปสู่เกษตรกรกลุ่มอื่น ๆ ต่อไป โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก iTAP และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เข้าไปดำเนินงานในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา การแปรรูปอบแห้งโดยใช้ “เครื่องอบแห้งระบบปั๊มความร้อน” นี้ ยังช่วยประหยัดค่าพลังงานอีกด้วย โดยหลักการคือจะอาศัยหรือดึงเอาความร้อนที่อยู่รอบโดยบริเวณที่ติดตั้งเครื่องฯ ดึงเข้ามา ถ้าไม่พอก็จะผลิตเพิ่ม โดยใช้หลักการเหมือนกันกับเครื่องปรับอากาศ เพียงแต่ว่าจะเอาฝั่งความร้อนเข้าไปในห้องอบ แล้วปล่อยฝั่งที่เป็นความเย็นออกมาสู่ภายนอก เพราะฉะนั้นตัวเครื่องอบฯ นี้ก็จะไม่สร้างมลภาวะให้กับอากาศ(ปล่อยลมเย็นออกมา-แล้วดึงเอาลมร้อนเข้าไปข้างในแทนเพื่อใช้ในกระบวนการอบแห้ง) และข้อดีอีกอย่างคือว่า คุณภาพผลิตภัณฑ์ที่อบด้วยเครื่องอบแห้งระบบปั๊มความร้อน จะใกล้เคียงกับของสดหรือผลิตภัณฑ์เดิมก่อนหน้า อย่างเช่น สี กลิ่น ก็จะไม่ค่อยเปลี่ยนมากหลังเข้าสู่กระบวนการนี้

ผงจิ้งหรีดหรือแป้งจิ้งหรีด แป้งเบเกอรี่ทางเลือกใหม่
สร้างมูลค่าจากราคาหลักร้อยสู่ “หลักพัน” ต่อกิโลกรัม
ผศ. นนทนันท์ บอกด้วย สำหรับต้นกำลังหลักที่ใช้ในการเปิดทำงานของเครื่องนี้ จะใช้แบบไฟฟ้าสามเฟส โดยมีอัตราในการใช้พลังงานใน 1 ห้องอบขนาด 2.4x3 เมตร จะใส่รถเข็นเข้าไปได้ประมาณ 5 คัน ความจุของชั้นวางของ 10 ชั้น สามารถอบวัตถุดิบ/หรือผลผลิตได้ครั้งละ ประมาณ 300 กิโลกรัม โดยใช้ระยะเวลาในการอบ 24 ชั่วโมง คิดเป็นค่าไฟต่อครั้งอยู่ที่ประมาณ 100 หน่วย หรือหากเทียบจากเรทค่าไฟสมมุติอยู่ที่ราคาหน่วยละ 4 บาท ก็จะตกกิโลกรัมละประมาณบาทกว่า ๆ เท่านั้นเอง ทั้งนี้ จากผลผลิตสด 4 กิโลกรัม เมื่อผ่านกระบวนการแปรรูปอบแห้ง-บดผง แล้วก็จะเหลือน้ำหนักแห้งอยู่ที่ประมาณ 1 กิโลกรัมหรือเทียบสัดส่วนก็คือ 4 : 1 แต่ว่าจากราคาสด/แช่แข็งเดิมหลักร้อยที่ได้ก็จะขยับเพิ่มขึ้นมาทันที 1,000 บาท/กก. เป็นต้นไป

“หลังจากแปรรูปเป็นผงแล้วก็เพิ่มมูลค่า จากเดิมเขาขายกิโลละ 100 เราก็ได้จิ้งหรีดผงกิโลละ 1,000 บาท แต่ว่าอาจจะใช้จิ้งหรีดสดประมาณ 4 กิโล จะได้เป็นจิ้งหรีดผง 1 กิโล หรือคิดเป็นการเพิ่มมูลค่าขึ้นมากว่า 200%”

ผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดทอด (แบบสุญญากาศ) ที่คงคุณภาพความกรอบนานและคุณค่าทางโภชนาการที่ไม่เปลี่ยน
เพิ่มโอกาสในการส่งออก “ผงโปรตีน” จากแมลงเศรษฐกิจไทย
ณ ปัจจุบันเนื่องจากว่าด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจ ที่ยังไม่ค่อยดีเท่าไร การใช้ในส่วนของจิ้งหรีดอบแห้งหรือจิ้งหรีดผงก็ยังมีการใช้น้อย แต่ว่าในส่วนของเกษตรกรผู้เลี้ยงเองก็มีการนำผงจิ้งหรีดที่ได้ไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ด้วย เช่น ข้าวเกรียบจิ้งหรีด น้ำพริกเผาจิ้งหรีด และก็โจ๊กจิ้งหรีด เป็นต้น


“ปีนี้เราก็ได้เข้าไปส่งเสริมเพิ่มอีกในเรื่องของ กระบวนการเลี้ยงจิ้งหรีด เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงได้มาตรฐาน GAP ฟาร์มด้วย ซึ่งเราก็ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. เพื่อเปลี่ยนจากรูปแบบเดิมในการเลี้ยงตามบ้านทั่วไป การที่จะแปรรูปเพื่อส่งออกหรือส่งให้กับโรงงานผลิตอาหารต่าง ๆ ก็จะมีปัญหาแต่ถ้าเราส่งเสริมให้เขามี กระบวนการเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน GAP ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับเขาได้ เพราะตอนนี้เกษตรกรก็รอได้ GAP แล้วก็มี “ผู้ค้า” จากต่างชาติที่เข้ามาติดต่อไว้ เพื่อจะรับซื้อแล้ว”

ทีมวิจัยจาก ม.ราชภัฏร้อยเอ็ด ร่วมนำผลงานโชว์ในงาน ครบรอบ 63 ปี วช. จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-28 ตุลาคม ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร
การแปรรูปอบแห้ง “จิ้งหรีด” โดยใช้เครื่องอบแห้งระบบปั๊มความร้อน ทำให้สามารถเก็บรักษาในรูปแบบของวัตถุดิบเพื่อใช้ปรุงเป็นเมนูต่าง ๆ มีอายุอยู่ได้นานเป็นปี ภายใต้อุณหภูมิแบบเย็นหรือเก็บในตู้เย็นได้ และยังมีน้ำหนักที่เบากว่าในการขนส่งซึ่งช่วยเพิ่มความคุ้มค่าการส่งต่อครั้งได้อีกด้วย โดยเครื่องฯ ต้นแบบนี้ยังเปิดให้บริการ “อบแห้ง” สำหรับเกษตรกรกลุ่มอื่น ๆ ที่สนใจด้วย และยังประยุกต์ใช้งานกับพืชผลการเกษตรอื่น ๆ อาทิ กล้วย ลำไย ฯลฯ ก็สามารถนำมาเข้าอบแห้งได้ นอกจากนี้ ทางทีมวิจัยยังได้พัฒนาเทคโนโลยี  “การทอดภายใต้สภาวะสุญญากาศ” ควบคู่ ซึ่งข้อดีคือ เป็นการทอดที่ใช้อุณหภูมิต่ำ (90oC) โดยใช้ระยะเวลาต่อรอบประมาณ30 นาที: วัตถุดิบที่ลงทอด4-5 กก./ครั้ง และข้อดีอีกอย่างของการทอดด้วยอุณหภูมิต่ำ คือคุณค่าทางโภชนาการยังอยู่ครบโดยไม่ถูกทำลายไปกับความร้อน และตัวของ “น้ำมัน” ยังใช้ทอดซ้ำได้อีก(นานถึง20 รอบ)แบบไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพแต่อย่างใด และหลังจากที่ทอดเสร็จแล้วก็จะนำเข้าเครื่อง “สลัดน้ำมัน” เพื่อแยกออกไปอีกครั้งด้วย ทำให้ดีต่อเรื่องของ “ความกรอบ” นานและไม่มีปัญหาน้ำมันที่ตกค้างทำลายสุขภาพของคนกิน เป็นการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้สำหรับเกษตรกรต่อไป

สอบถามเพิ่มเติมโทร.098-104-6832 , 098-046-5855

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น