xs
xsm
sm
md
lg

กรมอนามัยแนะทำความสะอาด 7 จุดซ่อนฝุ่นในบ้าน ลดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในช่วงนี้อาจทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และบางจังหวัดในภาคอีสาน ประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 มีค่าสูง อยู่ในระดับที่เกินค่ามาตรฐาน โดยวันนี้ (25 ต.ค.) ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ และกรุงเทพมหานคร พบค่า PM 2.5 ระหว่าง 13-70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินมาตรฐานจำนวน 16 สถานี ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยค่าสูงสุดอยู่บริเวณริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

การป้องกันและลดการเพิ่มฝุ่น PM 2.5 จึงควรเริ่มตั้งแต่ภายในบ้าน ด้วยการทำความสะอาดเพื่อลดแหล่งสะสมฝุ่น ได้แก่

1. เครื่องปรับอากาศ เช็ดทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศ หรือหน้ากากเครื่องปรับอากาศ ด้วยผ้าเปียกบิดหมาด หรือเปิดน้ำเบาๆ แล้วใช้แปรงขนอ่อนถูเบาๆ จนสะอาดและนำไปผึ่งแดดหรือลมจนแห้ง อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง รวมทั้งหมั่นตรวจเช็กสภาพเครื่องปรับอากาศทุก 6 เดือน

2. ผ้าม่าน ปลดผ้าม่านลงจากราง นำผ้าม่านไปแช่น้ำผสมผงซักฟอกประมาณ 30-60 นาที เพื่อให้ฝุ่นผงที่ฝังติดลึกในเนื้อผ้าคลายตัวออก ทำความสะอาด และนำไปตากจนแห้ง

3. หลังตู้เสื้อผ้า ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดเป็นประจำ
4. มุ้งลวด ถอดออกมาฉีดน้ำล้าง ใช้แปรงขนอ่อนขัดเบาๆ อาจใช้น้ำยาทำความสะอาดร่วมด้วยล้างให้สะอาด แล้วนำไปผึ่งแดดหรือลมจนแห้งก่อนนำมาติดตั้งใหม่
5. ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ซักทำความสะอาดผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน แล้วนำไปตากจนแห้ง และควรเปลี่ยนเป็นประจำ
6. พรม ควรดูดฝุ่นเป็นประจำ สำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้หรือหอบหืด ควรเลี่ยงการใช้พรมในบ้าน

7. พัดลม ถอดใบพัดและตะแกรงออกมาฉีดน้ำล้าง และใช้แปรงขนอ่อนขัดซี่ตะแกรง จากนั้นนำชิ้นส่วนที่ล้างเสร็จแล้วไปเช็ดด้วยผ้าสะอาดให้แห้งสนิท หรือนำผึ่งลมจนแห้งและนำชิ้นส่วนมาประกอบตามเดิม โดยขณะทำความสะอาด ควรสวมถุงมือ สวมหน้ากากปิดจมูกและปากทุกครั้ง

สำหรับสถานที่มีกลุ่มเสี่ยง เช่น ศูนย์เด็กเล็ก ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 ควรจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงอยู่ในห้องปลอดฝุ่น โดยเลือกห้องที่ห่างจากแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง เช่น ถนน ลานจอดรถ พื้นที่ก่อสร้างไม่มีแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองภายในห้อง เช่น จุดธูป หรือกิจกรรมอื่น ที่เป็นแหล่งกำเนิดควัน มีช่องว่างของประตู หรือหน้าต่างน้อยที่สุด และไม่มีสิ่งของที่เป็นแหล่งสะสมของฝุ่นละอองภายในห้อง เช่น พรม หนังสือ ตุ๊กตาที่มีขน เป็นต้น ในช่วงที่ฝุ่นสูงให้ปิดประตู หน้าต่าง ให้มิดชิด และทำความสะอาด โดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดถู เพื่อไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย และสามารถเพิ่มอุปกรณ์ในการลดปริมาณฝุ่นภายในห้อง เช่น เครื่องฟอกอากาศได้ นอกจากนี้ ควรคำนึงถึงจำนวนของผู้ที่ที่เข้ามาพักภายในห้องให้เหมาะสม ไม่ให้แออัดจนเกินไป และควรเปิดประตูเพื่อระบายความร้อน และระบายอากาศในช่วงที่ฝุ่นละอองลดลงด้วย