“เดิมทีก่อนโควิด ที่ตลาดค้าส่งแห่งนี้เคยมีแผงค้ามะละกออยู่กว่า 50 แผงซื้อขายกันวันหนึ่ง ๆ เฉลี่ย 3-10 ตัน/แผง ถือว่าเยอะมากเฉพาะตลาดเดียว แต่พอโควิดมาตลาดตาย! ทั้งคนขายคนปลูกหายไปเกินครึ่ง! ถึงตอนนี้ตลาดเริ่มดีแต่ว่าของก็ยังมีไม่พอ!”
มุมมองด้านการตลาดที่สะท้อนผ่านทางผู้ที่อยู่ในวงการมะละกอมานาน อย่างแผง “เกด-หนึ่ง ตลาดไท” โดยแกนนำคนสำคัญคือ“หนึ่งฤทัย แพรสีทอง” กว่า10 ปีที่เริ่มค้ามะละกอมาโดยแผงอยู่ในโซนตลาดผลไม้ฤดูกาล ของตลาดไท และถ้าหากจะเล่าให้ฟังอีกด้วยว่า “เป็นผู้รอด”! เพียงไม่กี่คนในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบกับพืชเกษตรแทบทุกชนิด ไม่เพียงเท่านั้นยังสามารถขยายตลาดไปสู่การส่งนอก (ส่งไปสิงคโปร์) ได้ในช่วงวิกฤตของมะละกอไทย และขายดีต่อเนื่องมาจวบกระทั่งถึงตอนนี้ได้ พอจะทำให้เชื่อใจได้มากขึ้นหรือยัง? ว่าหากจะฟังเรื่องราวอัพเดตสถานการณ์ของมะละกอจริง ๆ ล่าสุดเวลานี้ เพื่อจะชั่งใจได้ว่าควรปลูกหรือมีความน่าสนใจเพียงใด? สำหรับคนที่กำลังมองหาพืชเศรษฐกิจน่าปลูกอยู่ในขณะนี้ ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจต่อไป
มือใหม่หัดขาย
จากจุดเริ่มต้นคือเป็น “นักข่าว” สายเกษตรที่ลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์เกษตรกรเจ้าของแปลงผลิต คุณหนึ่งเล่าว่าแต่มีจุดที่คลิก!
ขึ้นมาตอนนั้นย้อนไปเมื่อ10 ปีที่แล้ว คือไปสัมภาษณ์เกษตรกรที่ จ.ชุมพร ปลูกมะละกอ “พันธุ์ฮอลแลนด์” อยู่กว่า 10 ไร่ และกำลังจะได้เก็บผลผลิตชุดแรกขาย แต่ด้วยความที่เป็นมือใหม่กอปรกับในช่วงนั้น “มะละกอ” ถือเป็นพืชหน้าใหม่ของทางภาคใต้ที่ยังปลูกกันไม่มากนัก เจ้าของสวนบอกช่วยหาตลาดรับซื้อผลผลิตให้หน่อยได้ไหม ซึ่งตอนแรกก็ยังไม่ได้คิดอะไรแต่ก็ไปหาตลาดเพื่อลองติดต่อสอบถามเรื่องการซื้อการขายมะละกอให้ โดยมาที่ “ตลาดไท” ซึ่งก็ได้เห็นว่ามีแผงค้ามะละกออยู่เยอะมากพอเข้าไปสอบถามข้อมูลเรื่องการรับซื้อจากเจ้าแผงซึ่งเขาก็ให้รายละเอียดต่าง ๆ มาอย่างดี จะมาส่งให้เขาที่แผงก็ได้หรืออยากเข้ามาค้าขายเองก็ทำได้เช่นกัน ประจวบเหมาะที่ตอนนั้นมีแผงที่เพิ่งว่างอยู่พอดี สรุปคือวันนั้นกลับบ้านมาไม่ใช่แค่ไปหาตลาดให้กับสวนแต่ยังได้เป็น “เจ้าของแผงค้า” ทำสัญญาเช่ากับทางตลาดพร้อมวางเงินมัดจำล่วงหน้าไว้กว่า 5 หมื่นเป็นที่เรียบร้อย!
แต่ประเด็นก็คือ พอมีแผงแล้ว “หน้าใหม่” เข้าไปขายแต่ยังไม่มีของ ต้องรอผลผลิตจากสวนอีกกว่า1 เดือน แล้ว “ความยาก” ก็เริ่มบังเกิดจากผลผลิตรอบแรก3 ตัน! ส่งเข้ามาแล้วจะขายอย่างไร? เอายังไงต่อ? และเมื่อเปิดแผงขายเหมือนแม่ค้าคนอื่นในตลาดกลับขายไม่ได้เลย! ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นเป็นช่วงฤดูกาลที่มะละกอในตลาดมีน้อย (ช่วงแพง) พอดี ประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม เพราะในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค.ของทุกปี 3 เดือนนี้ มะละกอมักจะขาดตลาดอยู่แล้ว ก็ยังขายไม่ได้เลยสักลูกเดียว เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะซื้อกับแผงประจำ จนกระทั่งชนรอบที่สองที่มะละกอมาเพิ่มอีก 3 ตัน! จะทำอย่างไรดี “ค่ามะละกอที่ซื้อเข้ามาครั้งละ 4 หมื่น! เพราะเป็นช่วงที่มะละกอแพง กิโลละ 30 กว่าบาท มะละกอที่เข้ามา2 รอบ รวม 6 ตัน! วางเต็มแผง ตอนนั้นต้องหาทางออกให้ได้ แล้วทางรอดก็มา แม่ค้ามะละกอมีอยู่ตอนนั้นตั้ง 50 แผง แล้วไม่ใช่ทุกแผงที่จะมีมะละกอ เพราะเป็นช่วงที่ผลผลิตขาด ทุกคนต้องการมะละกอเพื่อที่จะขายให้ลูกค้าของเขา แต่เรายังไม่มีลูกค้า ก็เลยเดินไปถามขายให้แม่ค้าตั้งแต่แผงที่1 จนไปถึงแผงที่50 เลย เกลี้ยง!6,000 กิโลกรัมหายวับไปกับตา คนนี้เอา 500 คนนั้นเอา1,000 กก. ขายให้ไม่กี่คนก็หมดแล้ว ในวันเดียว หลังจากนั้นมาไม่ต้องหาตลาดเลย แม่ค้าจะมาถามเองว่ามีอีกทีเมื่อไหร่”
คุณหนึ่งเล่าให้ฟังอีกว่า พอเริ่มขายได้แล้ว โดยการขายให้กับแผงที่อยู่ในตลาดด้วยกัน เพราะเราเองยังไม่มีลูกค้าประจำ การจะสร้างตลาดขึ้นมาเองได้มันต้องใช้เวลา หลังจากนั้นก็เริ่มนึกขึ้นมาได้อีกว่ามีเพื่อนที่ทำผลไม้ส่งห้างโมเดิร์นเทรดอยู่ ลองโทรคุยดูซิว่าเราจะทำมะละกอเข้าไปส่งห้างฯ ด้วยได้ไหม เพราะไหน ๆ ก็มาค้ามะละกอแล้ว และต้องหาช่องทางอื่นเผื่อไว้ต่อไปถ้าแม่ค้าที่ซื้ออยู่เขามีของมากแล้ว ที่รับมาจากลูกสวนเขาเอง ก็อาจจะไม่ได้ซื้อกับเรา จึงได้รู้ว่าความน่าสนใจ คือ ทางห้างฯ เองมีความต้องการมะละกอในปริมาณต่อวันเยอะมาก ประมาณ 7-10 ตัน/ทุกวัน! แต่ความยากก็คือ ไม่ใช่ว่าใครก็สามารถเข้าไปขายให้กับทางห้างฯ โดยตรงได้เลย แต่เขาจะมี “ซับพลายเออร์” ที่เป็นผู้จัดหาสำหรับผลผลิตแต่ละชนิดเข้ามาป้อนส่งเท่านั้นด้วยปริมาณที่ใช้มากต่อวันซึ่งก็ทำให้มีซับพลายเออร์หลายรายที่เข้ามาดูเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่เป็นเพราะช่วงจังหวะนั้นมะละกอขาดตลาดอยู่พอดี จึงทำให้ในที่สุดก็มีโอกาสได้ออเดอร์มา ตามที่ต้องการต้องการเลยต่อวัน เฉลี่ยอยู่ที่ 1 ตัน/วัน ในเดือนแรกที่เริ่มส่งมะละกอให้กับห้างเลย จากเดิมที่มีมะละกอของสวนที่ส่งให้อยู่สัปดาห์ละ6 ตัน (ส่ง2 รอบ/สัปดาห์) เริ่มไม่พอ! นำมาสู่การเริ่มขยายฐานของ “ลูกสวน” ที่ปลูกมะละกอส่งให้กับตนเองด้วย ก็ทำควบคู่กันมา และช่วงก่อนจะมีโควิดก็ได้รับโอกาสทำมะละกอส่งให้กับทาง “สายการบิน” ด้วย ก็วันละ1 ตัน ถือเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์สำคัญที่ได้รับมาจากการค้า “มะละกอ”
ในวิกฤตที่กลายมาเป็น “โอกาสใหม่”
“จริง ๆ มะละกอตลาดมันค่อนข้างกว้างนะ ข้อดี ก็คิดดูว่าตลาดไทมีแม่ค้าอยู่ตั้ง 50-60 แผง แต่ละแผงเขาขายมะละกอวันละ1-3 คันรถ (เฉลี่ยคันละ3 ตัน) เขาขายกันถึงขนาดนั้นเลย แล้วหมดทุกวันซึ่งมันก็อยู่ที่ว่า ใครมีลูกค้ามาก ลูกค้าน้อย ถึงบอกว่าในแต่ละวันแผงสามารถขายมะละกอได้ตั้งแต่ 3-10 ตัน อยู่ที่ว่าใครมีลูกค้ามากกว่ากัน”
ตลาดมะละกอมันก็ไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ละปีมันก็เหมือน ๆ กัน จนกระทั่ง “โควิด” ที่ผ่านมา ตลาดมะละกอมันก็ไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ละปีมันก็เหมือน ๆ กัน จนกระทั่ง “โควิด” ที่ผ่านมา มันเปลี่ยนโฉมธุรกิจทุกธุรกิจ กระทบหมดทุกอย่าง รวมทั้งมะละกอด้วย แล้วปีนั้นที่เกิดโควิดครั้งแรก มันส่งผลกระทบมากคือ ตลาดนัดปิดหมด มะละกอรวมทั้งผลไม้อื่น ๆ ก็ขายไม่ได้ ปีนั้นวงการมะละกอก็ได้รับผลกระทบมาก เพราะว่าสวนไม่สามารถขายผลผลิตออกไปได้ ราคาถูกและก็ทิ้ง แม่ค้าก็ขาดทุน หลังจากปีนั้นเกษตรกรที่เคยปลูกมะละกอก็หมดทุน หลายคนเลิกปลูก แม่ค้าหลายคนเลิกขาย ที่ทำมาเป็น 20-30 ปีก็ต้องเลิกไป เพราะถ้าสวนเลิกปลูกมันก็ไม่มีผลผลิตจะส่งให้ขายอยู่แล้ว ก็ต้องเลิก วันนี้น่าจะเหลือสัก 30 แผงได้นับจากโควิดมา
“แต่ปีนั้นเรา รอดชีวิต! มาได้ คือเป็นโชคดีที่ได้ “ตลาดนอก” พอดี โดยช่วงนั้นมีบริษัทของคนไทยที่เขาส่งผลไม้ให้กับห้างฯ ในสิงคโปร์ซึ่ง เขาก็จะรับซื้อผลไม้จากประเทศไทยไปส่งให้กับห้างฯที่ประเทศสิงคโปร์ แล้วมีรุ่นพี่ที่ทำมะม่วงส่งให้กับบริษัทนี้อยู่ ซึ่งพอทางบริษัทที่รับซื้อเขาไปเจอว่า “มะละกอ” มีปริมาณความต้องการที่สิงคโปร์สูงมาก ขายในห้างฯในสิงคโปร์อยู่แล้วโดยเดิมที จะนำเข้ามาจากมาเลเซีย พอดีปีนั้นมาเลเซียน้ำท่วม! สวนมะละกอที่มาเลเซียได้รับความเสียหาย เขาก็เลยเห็นช่องทางมาเอา “มะละกอ” จากไทยไปเสนอห้างฯ ก็เลยเป็นโอกาส”
ได้โอกาสในการทดลองส่งไปก่อนครั้งแรก ล็อตแรกเลยคือ 1,000 กก. (1 ตัน) ส่งไปปุ๊บโอเคเลยคุณภาพผ่าน-ได้! ออร์เดอใหม่ตีกลับมาต่อเลยทันที ก็คือชดเชยจากออร์เดอเดิมของมาเลย์ที่มีทั้งหมด โดยได้ส่งอยู่3 วัน/สัปดาห์ (จันทร์-พุธ-เสาร์) ของปีแรกจะส่งอยู่ครั้งละ 200 กล่อง (กล่องละ 15 กก.) แต่ว่ามาถึงตอนนี้จะส่งอยู่วันละ 300 กล่อง การส่ง 3 วัน/สัปดาห์เท่าเดิม หรือคิดเป็นประมาณ 13,500 กก.(13.5 ตัน)/สัปดาห์ และสำหรับในเรื่องของราคาที่ได้นั้นจะบวกขึ้นไป จากราคาซื้อขายในบ้านเรา อีกประมาณ 4-5 บาท/กก. เป็นอย่างน้อย
ตลาดมะละกอที่สำคัญ ยังคงเน้นการบริโภคในประเทศเป็นหลักอยู่
คุณหนึ่งยังบอกด้วย ที่สิงคโปร์ยังคงสั่งมะละกอจากประเทศไทยอยู่เป็นเพราะว่าเรื่อง “คุณภาพ” ที่ดีกว่า สวย ซึ่งเป็นผลจากการดูแล (ความเก่งเรื่องการทำผลไม้) ของบ้านเราที่ยังเหนือกว่า จะมีที่เสียเปรียบอยู่บ้างก็คือเรื่อง “ราคา” เราต้องแข่งกับทางมาเลย์อยู่พอสมควรเลย และก็เรื่องของ “ระยะเวลา” ในการขนส่งมะละกอไปทางรถถึงสิงคโปร์ เราใช้เวลาประมาณ3 วัน แต่ในขณะที่มาเลย์ใช้แค่1 วันเท่านั้น ซึ่งก็ทำให้พอเวลามะละกอจากเขียว ๆ ไปถึงสิงคโปร์ก็จะเปลี่ยนเป็นสุก (ผิวเหลือง) แล้ว ทำให้มองว่าอายุการวางจำหน่าย (shelf life) เวลาอยู่ในห้างฯ ก็จะสั้นกว่าไปด้วย แต่ทั้งนี้ก็อาจจะยังไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญมากนักเพราะในขณะที่สิงคโปร์ยังคงมีการสั่งซื้อมะละกอจากไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อยู่
“วันนี้ถามว่าตลาดดีขึ้นแล้วหรือยังในบ้านเรา มันก็เริ่มดีขึ้นนะ แต่ว่ายังไม่กลับมาแบบ 100% เหมือนก่อนหน้านี้ คนปลูกเองที่ขาดทุนไปก็ยังไม่กลับมาปลูกอีก เลยทำให้2 ปีที่ผ่านมานี้ มะละกอ มีปริมาณน้อยไม่พอกับความต้องการของตลาด ราคาจึงแพงมาตลอด คือราคาซื้อจากสวน20 บาทขึ้นมาตลอด เพราะว่ามะละกอเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมในการบริโภคอยู่แล้ว เป็นผลไม้เพื่อสุขภาพ นี่คือจุดเด่นของมะละกอเลย กินได้ตั้งแต่เด็กไปจนถึงคนแก่ ในขณะที่ผลไม้อื่นก็มีข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป แต่มะละกอมันไม่มีข้อจำกัดเลย”
ราคาของมะละกอบ้านเราตอนนี้ ตลาดขายส่งจะขายกันอยู่ที่ 30-35 บาท/กก. แพงมาก ตลาดนัดขายไม่ได้เลยเพราะราคามะละกอมันแพง แพงมา 2 ปีแล้ว ในขณะที่ราคาผลไม้อื่นเขาตกต่ำหมด แต่มะละกอแพง จากปกติช่วงก่อนหน้าโควิดราคาของมะละกอ เฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 12-15 บาท/กก. แพงแล้ว! แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาราคามะละกอจากสวน ไม่ต่ำกว่า 20 บาท/กก.เพราะฉะนั้นสำหรับชาวสวนที่ยังยืนหยัดต่อสู้มาในการปลูกมะละกออยู่ เขาจะมีรายได้ที่สูง ต้องบอกว่า 2 ปีมานี้นะ แล้วก็มาปีนี้ (ตอนนี้) จากสถานการณ์ราคาช่วง 2 ปีที่ผ่านมามันค่อนข้างจูงใจ ทำให้หลาย ๆ คนเริ่มสนใจที่จะกลับมาปลูกมะละกอกันอีก ปีนี้คาดว่าจะปลูกกันเยอะ
อยากปลูกมะละกอพิชิต “ช่วงราคาดี” ต้องเตรียมการอะไรบ้าง?
“มะละกอที่มันแพงเพราะว่า มันต้องเป็นมะละกอที่ออกดอกช่วง “มีนาคม-เมษายน” ซึ่งอากาศร้อน ในประเทศไทยมันไม่สามารถติดลูกได้ เพราะดอกจะร่วงหมด ก็เลยทำให้มะละกอขาดในช่วง “สิงหา-กันยา-ตุลา”3 เดือนนี้ ของทุกปี”
จากวันแรกที่เริ่มค้ามะละกอและมีลูกสวนเพียงสวนเดียวที่ปลูกเพื่อป้อนส่งให้ ถึงตอนนี้เจ้าของแผง “เกด-หนึ่ง ตลาดไท” บอกว่ามีการขยายฐานของ “ลูกสวน”เพิ่มขึ้นมาอีกเรื่อย ๆ จากทั่วทุกภูมิภาคทั้ง กำแพงเพชร ลำปาง ชุมพร ตาก จันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งของมะละกอจะส่งเสริมเกษตรกรปลูก จนวันนี้ซึ่งตั้งเป้าการขายมะละกออยู่ที่วันละ 10 ตัน โดยคุณหนึ่งยังได้แนะนำสำหรับคนที่กำลังสนใจด้วยบอกว่า คนจะปลูก ถ้าเกิดว่าใครที่อยู่ไกลตลาด (คือจะต้องมาส่งที่ตลาดไท) ก็ควรจะปลูกอย่างน้อย 10 ไร่ อาจจะรวมกลุ่มกันก็ได้ เพื่อที่จะให้สามารถเก็บมะละกอได้ต่อครั้ง ประมาณ 3,000 กก. (3 ตัน) ให้มีต้นทุนค่าขนส่งที่ถูกหรือคุ้มค่ากว่า ส่วนเรื่องการลงทุนผลิตนั้น ตกไร่ละประมาณ 3 หมื่นบาท คือรวมทุกอย่างหมดแล้วคิดจากเริ่มปลูกจนถึงเริ่มเก็บผลขายได้ ประมาณ 8 เดือน จากนั้นพอมะละกอเริ่มเก็บได้แล้วจะทยอยเก็บทุก3 วัน/ครั้ง เรื่อยไป ซึ่งระยะเวลาของการเก็บผลผลิตได้จะขึ้นอยู่กับการดูแล หรืออาจอยู่ได้นานถึง 1-1.5 ปี สำหรับสายพันธุ์ที่ปลูกคือ พันธุ์ฮอลแลนด์ เพราะมีตลาดรองรับอยู่แล้ว เป็นพันธุ์ยอดนิยมสำหรับการบริโภคผลสุกในตอนนี้
“คิดว่าในปีหน้ามะละกอน่าจะยังราคาดีอยู่ น่าจะไม่ต่ำกว่า 15 บาท และถึงแม้ว่าค่าปุ๋ยหรือต้นทุนผลิตจะแพงขึ้น แต่ถ้าราคา 10 บาทขึ้นไปคนปลูกก็สามารถอยู่ได้แล้ว คือตลาดมะละกอมันกว้าง มันได้เปรียบกว่าพืชอื่นคือ เป็นพืชที่ดูแลไม่ยากจนเกินไป ใส่ปุ๋ยประมาณเดือนละ 2 ครั้ง แล้วก็โรค-แมลงมันไม่เยอะมากมาย อย่างโรคไวรัสจุดวงแหวนที่กลัวกัน มันอาจจะมีบ้างในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเดิม คือเป็นพื้นที่ที่ปลูกมะละกอมานาน ก็มีโอกาสที่มีความเสี่ยงสูง แต่ในพื้นที่ใหม่ ๆ จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้มากนัก แล้วก็การลงทุนไม่ได้เยอะจนเกินไป เก็บผลผลิตขายได้ 3-4 เดือน ก็สามารถคืนทุนหมดแล้ว”
สอบถามเพิ่มเติมโทร. 089-783-5887
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *