xs
xsm
sm
md
lg

“น้ำผึ้งชันโรง” หมักบ่มข้ามปี อาหารเป็นยาจากงานอดิเรกที่สร้างเงิน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“นัยในการกินน้ำผึ้งจริง ๆ ประโยชน์ของมันคือ เขาต้องการกิน ‘เอนไซม์’ จากกระเพาะผึ้งแต่ ‘ความหวาน’ มันคือของแถม น้ำผึ้งชันโรงจะมีรสชาติเปรี้ยวก็คือ ‘กรดอะมิโน’ เอนไซม์สูง ผ่านการหมักบ่มข้ามปี หรือยิ่งนานขวด 500 ml ราคาเป็นแสนก็มี”

เริ่มต้นจากการเลี้ยงเป็นงานอดิเรกหลังบ้าน
จากความตั้งใจแรกเริ่ม อยากจะทำเกษตรปลอดสารพิษ เพื่อผลิตอาหารปลอดภัยสำหรับตนเองและครอบครัว ในขณะที่ตัวของ“คุณแมน-กฤตภาส พรามพิทักษ์” เองเป็นเจ้าของธุรกิจปุ๋ยทางการเกษตรอยู่เดิม แต่ด้วยปัญหาสุขภาพจากเมื่อช่วงหลายปีก่อนเคยป่วยหนัก(โรคมะเร็งตับ) ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาตัวอย่างเข้มข้น จนกระทั่งสามารถข้ามผ่านวิกฤตครั้งนั้นมาได้ และยังคงต้องเฝ้าระวังโดยอยู่ในความดูแลแนะนำของแพทย์อย่างต่อเนื่องต่อไป จึงเริ่มสนใจการเลี้ยง“ชันโรง”ผึ้งจิ๋ว (Stingless bee)เพราะมีการพูดถึงประโยชน์ทางด้านการเกษตร ช่วยผสมเกสร ทำให้พืชติดผลผลิตดียิ่งขึ้น และพอศึกษาข้อมูลด้านอื่น ๆ เพิ่มอีกอย่างจริงจังพบว่า“น้ำผึ้งชันโรง”ที่ได้จากการเลี้ยงมีประโยชน์ในเชิงของการ “อาหารเป็นยา” อาศัยช่วงเวลาว่าง ๆ ในท่ามกลางวิกฤต “โควิด-19” ที่เกิดขึ้น3 ปีที่ผ่านมา ทดลองเลี้ยง ศึกษา เรียนรู้จนเกิดความเข้าใจดี กระทั่งนำมาสู่ผลผลิต(น้ำผึ้ง) ที่หอมหวานในวันนี้

ผึ้งจิ๋ว ชันโรง
เริ่มต้นจากการเลี้ยงเป็นงานอดิเรกข้าง ๆ บ้านก่อน
ด้วยวิถีชีวิตแบบคนเมืองโดยคุณแมนกับครอบครัวอาศัยอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ ในตัวเมืองของ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรีหลังการได้“พันธุ์”ผึ้งชันโรงมาจากแหล่ง/ฟาร์มที่มีคุณภาพเชื่อถือได้แล้ว การเริ่มต้นทดลองเลี้ยงดูเพื่อจะศึกษาเกี่ยวกับวงจรชีวิตของผึ้งชันโรงอย่างใกล้ชิด แน่นอนว่าส่วนหนึ่งคือได้มีการติดตั้งกล่องเลี้ยง “ชันโรง” เอาไว้อยู่ในบริเวณข้าง ๆ บ้านไปด้วย คุณแมนเล่าว่าแหล่งอาหารหลักของมันก็คือ“น้ำหวาน” ของดอกไม้ต่าง ๆ หรือแม้แต่จากดอกหญ้าเล็ก ๆ ชันโรงก็สามารถเก็บเกี่ยวนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด และยังบินออกหาอาหารได้ไกลถึงในรัศมี 300 เมตรด้วย การปลูกดอกไม้เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้รวมกับการที่ชันโรงเองก็บินออกหากินเพิ่มเติมภายในรัศมีของหมู่บ้าน ที่แต่ละบ้านก็จะมีดอกไม้บ้างดอกหญ้าบ้างตามแต่ พบว่ามันสามารถที่จะเพียงพอสำหรับการสร้างรวงรังของผึ้งชันโรงได้ เวลาออกหากินก็คือช่วงกลางวันที่มีดอกไม้ต่าง ๆ บานรอให้เก็บน้ำหวานได้แต่ว่าการอยู่อาศัยในหมู่บ้านเขตเมืองก็ต้องคอยระวังเรื่อง “การฉีดยาฆ่ายุงลาย” ที่จะต้องมีการปิดกล่องเลี้ยงบ้างเพื่อไม่ให้ได้ชันโรงได้รับผลกระทบโดยตรงจากยา และการติดตั้งกล่องให้สูงจากพื้นดินประมาณ 70 ซม. เพื่อไม่ให้น้ำฝนกระเด็นใส่ปากรังเสียหายและยังป้องกันศัตรูต่าง ๆ เช่น อึ่งอ่าง ที่จะมาขโมยกินตัวของชันโรงหรือต้องคอยสอดส่องดูว่า ไม่มีจิ้งจกเข้ามารบกวนในกล่องเลี้ยงได้ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งจะใช้ระยะเวลาการเลี้ยงอยู่ประมาณสัก 6 เดือน หรือ 2 รอบ/ปี สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากชันโรงได้แล้ว

ถ้วยน้ำหวานภายในรังเลี้ยงชันโรง
สายพันธุ์ต่าง ๆ ของชันโรงที่น่าสนใจ
สายพันธุ์ที่น่าสนใจ คุณแมนบอกว่าถ้าเอาเรื่องของรสชาติก่อนสำหรับคนที่ชอบชันโรง รสชาติของน้ำผึ้งถ้าชอบรสหวาน สายพันธุ์ที่น่าสนใจก็คือ พันธุ์ขนเงิน(Tetragonula paqdeni Schwarz) จะให้น้ำหวานที่มีรสหวาน มากกว่าเปรี้ยว แต่พอผ่านกระบวนการหมักบ่มสักระยะมันก็จะมี(การบ่มเปรี้ยว) รสยอดนิยม แล้วจะกินง่าย อีกพันธุ์หนึ่งที่ให้รสหวานอร่อย (หวานอมเปรี้ยว) ก็คือ ปากแตร และก็ยังมีพันธุ์เล็กอื่น ๆ ที่ให้รสหวาน ซึ่งก็จะมีไม่ทั่วไปแต่จะมีอยู่เฉพาะถิ่นหรือเฉพาะภาคเท่านั้นเพราะฉะนั้นน้ำหวานที่จะได้ในปริมาณมากและคนจะรู้จักมากที่สุด เริ่มต้นเป็นที่รู้จักจาก น้ำหวานขนเงิน

“สายพันธุ์ที่ผมเลี้ยงอยู่จะเป็นพันธุ์ที่เข้ากับพื้นที่ได้ดี อย่างเช่น สายพันธุ์ขนเงิน ก็เป็นพันธุ์ที่มีบทบาทมีความสำคัญเพราะว่าเขามีคุณค่าทางน้ำหวานสูง และก็เป็นพันธุ์ไทยสวยงามอีกพันธุ์หนึ่ง และก็ผมก็จะเลี้ยง อิตามา เป็นพันธุ์ตัวใหญ่ พันธุ์บาคารี พันธุ์ปากหมู อันนี้คือผมเลี้ยงในฟาร์มเพราะว่าเอาอย่างอื่นมาเลี้ยง มันไม่ค่อยประสบความสำเร็จ และที่ประสบความสำเร็จดีเลยก็คือ พันธุ์ปากหมู แล้วก็มีขนเงิน อิตามา บ้างเล็กน้อย”

การเก็บเกี่ยวน้ำหวานหรือนำ้ผึ้งชันโรงจะใช้เครื่องดูดช่วย
สำหรับสายพันธุ์ “ปากหมู” คุณแมนบอกว่าน้ำหวานจะอยู่ในคุณภาพระดับ “เกรดเอ” ที่ต้น ๆ เลย ถ้าพูดถึงในเรื่องของสรรพคุณ แต่ถ้ารสชาติน่าจะอยู่ในท้าย ๆ เลยเพราะว่าเปรี้ยวมาก เพราะว่านัยในการกินน้ำผึ้งจริง ๆ คนไปหลงประเด็น นัยในการกินน้ำผึ้งจริง ๆ คือเขาต้องการกินเอนไซม์จากกระเพาะผึ้ง แต่ความหวานมันคือของแถม หรือพูดง่าย ๆคือการกินเพื่อที่จะเอา “ตัวยา”ืมากกว่า

การบ่มฟองจะได้ Honey foam ที่สามารถนำมาบริโภคแบบแยมทาขนมปังได้ รสชาติอร่อยจะออกรสเปรี้ยวอมหวาน มีประโยชน์ต่อร่างกาย
เริ่มขยายอาณาบริเวณและปริมาณการเลี้ยงสู่ “ฟาร์ม” ที่ใหญ่ขึ้น!
ปัจจุบันคุณแมนได้มีการขยายแหล่งเลี้ยง “ชันโรง” เพื่อการเพิ่มปริมาณขึ้น แล้วกว่า 300-400 กล่อง โดยมีพื้นที่เลี้ยงกระจายอยู่ในเขตต่าง ๆ คือ พื้นที่แปลงเกษตรเดิมที่อยู่ข้าง ๆ โรงงานปุ๋ยในเขต อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี และยังได้ขยายไปเลี้ยงอยู่ใกล้เขตป่าธรรมชาติมากขึ้น2 แหล่งอีกด้วย คือ มีอยู่ที่ อ.บ้านคา จ.ราชบุรี และก็ที่ อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีการจับมือรวมกลุ่มกับเครือข่ายผู้เลี้ยงชันโรงเพื่อวางเป้าหมายในเรื่องของ การตลาด ที่จะต่อยอดต่อไปอีกเรื่อย ๆ รองรับความต้องการใช้ “น้ำผึ้งชันโรง” จากตลาดที่เน้นสรรพคุณทางยาซึ่งมีปริมาณมาก โดยเฉพาะในแถบเพื่อนบ้านอย่าง มาเลย์ หรือจีนรวมไปถึงชาติอื่น ๆ ที่มีการใช้ประโยชน์ในเรื่องนี้กันมานานก่อนหน้าแล้ว

หลังผ่านกระบวนการบ่มแก๊สแล้วจะแยกบรรจุขวดเพื่อหมักบ่มต่อไปจนครบปีจึงจะนำไปใช้ประโยชน์
“น้ำผึ้งชันโรง” ผ่านกระบวนการหมักบ่มข้ามปี ก่อนการนำไปใช้จะให้ผลที่ดีกว่า!
คุณแมนบอกว่า เรื่องผลประโยชน์ทางด้านการเกษตรที่ได้รับหลังการเลี้ยงชันโรง ไม่ต้องห่วงเลยเพราะว่า พืชผลที่อยู่ภายในบริเวณต่างให้ผลผลิตติดดกสะพรั่งที่แตกต่างจากก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัดเจน เมื่ออยู่ในแหล่งอาหารธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์การเลี้ยง “ชันโรง” จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต(น้ำผึ้ง)ได้ตั้งแต่ 2-3 รอบ/ปี โดยในช่วงฤดูของหน้าแล้งจะดีที่สุดทั้งในเรื่องของปริมาณและคุณภาพ น้ำหวานหรือน้ำผึ้งที่เก็บได้ในรอบแรกของรังเลี้ยงต่อปีจะใช้ระยะเวลานานหน่อย จะทำให้ได้คุณภาพเกรดพรีเมียม น้ำผึ้งที่ได้จะมีสีแดงเข้มคล้ายสีของเหล้าสี การเก็บน้ำผึ้งจะใช้วิธีการดูดโดยใช้เครื่องดูด จากน้ำหนักแรกเข้าตอนเริ่มตั้งรังเลี้ยงใหม่ ๆ ภายในกล่องเลี้ยงจะมีผึ้งนางพญาและก็ไข่ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปจะเริ่มมีการขยายรังและสร้างน้ำหวานเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าหมั่นคอยสังเกตดูภายในกล่องจะเห็นเป็นถ้วยเกสรและถ้วยน้ำหวานที่สร้างขึ้นมา จนพอมีน้ำหนักของรังได้สักประมาณครึ่งกิโลกรัมขึ้นไปหรือดูว่ามี “ถ้วยน้ำหวาน”ที่เยอะแล้ว ก็ถึงเวลาเก็บเกี่ยวได้ โดยใน1 กล่องเลี้ยงสามารถเก็บน้ำหวานได้สูงสุดถึง 700 กรัม/รอบ หรือประมาณ95% ของน้ำหนักรังที่เก็บต่อรอบ คิดเป็นน้ำหวานประมาณ70% และอีก25-30% คือจะเป็นชันยางต่าง ๆ หลังจากนั้นการเก็บเกี่ยวครั้งที่2 หรือ3 ต่อปี สีของน้ำหวานที่ได้ก็อาจจะอ่อนลงหรือแปรเปลี่ยนไปตามปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการหาอาหารของชันโรงที่อยู่ในช่วงเวลานั้น ๆ ด้วย ระยะเวลาก็จะสั้นลงกว่าการเก็บผลผลิตในรอบแรกของรังต่อปี

คุณแมนจะคอยดูแลสอดส่องชันโรงที่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด
น้ำหวานหรือน้ำผึ้งชันโรงจะมีค่อนข้างมีความชื้นอยู่สูง การนำมาผ่านกระบวนการของการหมักบ่มด้วยวิธีธรรมชาติไว้อย่างน้อย365 วัน ก่อนการนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ จะให้ผลที่ดีมากกว่า การใช้แบบ “น้ำผึ้งสด” ที่ไม่ผ่านกระบวนการเลย เพราะบางทีมีสิ่งปนเปื้อนมาอย่างเช่น อัลฟาท็อกซิน ที่อาจเกิดได้จากไม้ที่ผุภายในกล่องเลี้ยงหรืออื่น ๆ ซึ่งพอได้น้ำหวานมาจากการเก็บเกี่ยวในรังแล้วจากนั้น อันดับแรกจะต้องนำมากรองเอาเศษสิ่งต่าง ๆ เพื่อแยกออกไปก่อน แล้วจึงนำน้ำผึ้งที่กรองได้แล้วใส่ในลงโหลหมักบ่มที่ผ่านการล้างทำความสะอาดมาอย่างดี โดยคุณแมนบอกว่าตนเองได้ทดลองนำวิธีการ “หมักบ่ม” แบบธรรมชาติเข้ามาใช้ร่วมด้วย โดยในระหว่างขั้นตอนทั้งหมดนี้จะต้องไม่ให้น้ำผึ้งชันโรงมีการโดนแสงโดยตรงอย่างเด็ดขาด (ทำในที่ร่มหรือห้องไม่มีแสงเข้าได้) ในการเริ่มต้นสำหรับการบ่มครั้งแรกเลยก็คือ การบ่มฟอง จะใช้ระยะเวลาประมาณ10-15 วันซึ่งฟองที่เกิดขึ้นมานี้สามารถกินได้ด้วยเป็น Honey foam จะอุดมไปด้วยโปรไบโอติกส์ มีรสชาติออกเปรี้ยวหวานใช้ทาขนมปังแทนแยม กินอร่อยกว่าและมีประโยชน์ด้วย จากนั้นพอจัดการเรื่อง “ฟอง” เสร็จแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของ การบ่มแก๊ส ต่อไปอีกราว 6-8 เดือน เพื่อจะดึงเอาคาร์บอนไดออกไซด์(C02) แยกออกมาจากภายในโหลหมักบ่มน้ำผึ้งที่อยู่ข้างใน จะใช้ขวดโหลที่มีการออกแบบเพื่อการจัดการระบายแก๊สที่อยู่ภายในสามารถดันออกสู่ภายนอกได้เรื่อย ๆ แบบไม่มีการเข้าไปของออกซิเจน(O2) ที่อยู่ข้างนอกไม่สามารถเข้าไปแทนที่ข้างในได้ จนครบเสร็จสิ้นกระบวนการของ “บ่มแก๊ส” แล้วก็จะรอง/ตักตะกอนของ พวกอณูเกสรที่ลอยอยู่แยกออกไปอีกครั้งหนึ่งซึ่งตัวนี้จะต้องตักใส่ภาชนะแยกเก็บไว้เพราะมีประโยชน์อย่างมาก ใช้ทาแผลน้ำร้อนลวก-ไฟไหม้ หรือป้องกันการเกิดรอยแผลนูน ๆ หลังการรักษาแผลสดหายแล้วได้ดีมาก ๆ จากนั้น “น้ำผึ้งชันโรง” ที่ได้ก็จะถูกแยกบรรจุในขวดที่เตรียมไว้เพื่อการหมักบ่มต่อรอให้ครบปีก่อนนำไปใช้ต่อไป

แปลงพืชเศรษฐกิจ อย่างฝรั่งกืมจู หรือแม้แต่ดอกไม้ป่า ดอกหญ้าก็เป็นแหล่งอาหารชั้นดีให้สำหรับชันโรง


สร้างมูลค่าเพิ่มจากงานอดิเรกสู่ “รายได้” ที่น่าสนใจ
หลังผ่านกระบวนการหมักบ่มข้ามปี เป็นอย่างน้อยมาแล้ว รสชาติของน้ำผึ้งชันโรงที่ได้จะมีความอร่อยและกินง่ายขึ้นกว่า ขณะที่คุณประโยชน์ต่าง ๆ ที่เป็นตัวยายังคงอยู่ครบถ้วน ดีกว่าน้ำผึ้งแบบสดหรือว่า น้ำผึ้งที่ผลิตในเชิงอุตสาหกรรมผ่านกระบวนการ “อบลมร้อน” เพื่อไล่ความชื้นออกไปและให้รสชาติที่หวานอร่อยนำ แต่คุณค่าทางยาก็ลดหลั่นลงไปตามการถูกทำลายจากความร้อนที่ใช้ในกระบวนการผลิตด้วย

“ ต่างประเทศที่เขาเก็บน้ำผึ้งกันเนี่ย ถ้าเราไปดูแบบทวีปเอเชียที่เขากินน้ำผึ้งกัน หรือว่าเป็นร้านขายยาแผนโบราณของต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลี พวกนี้ครับเขาจะมีการแยกชั้นของการเก็บน้ำผึ้ง อย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ที่ขายยาแผนโบราณของเขา เขาจะมีชั้นวางน้ำผึ้งที่แยกเก็บเลย ชั้นล่าง จะเป็นน้ำผึ้งใหม่ ชั้นสูงขึ้นมาก็จะเป็นอายุบ่มที่มันยังไม่นานมาก ราคาจะสูงกว่าน้ำผึ้งสด จนไปถึงชั้นบนสุดขวด 500 ml ราคาเป็นแสน ๆ เลยก็มี”

คุณแมนบอกด้วย สำหรับน้ำผึ้งชันโรงที่ตนเองผลิตได้และเน้นวิธีการหมักบ่มข้ามปีก่อน ซึ่งคนที่รู้จักและใช้ประโยชน์เป็นอยู่แล้วก็คือจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มาสั่งซื้อน้ำผึ้งจากตนเองไป ก็ไม่รู้ว่ามาตรฐานเรื่อง “ราคา” ที่จำหน่ายกันทั่วไปมีเรทที่ตั้งไว้ขนาดไหนอย่างไรบ้าง แต่สำหรับของที่ฟาร์มเองตอนนี้ที่จำหน่ายอยู่ราคามาตรฐานที่ตั้งไว้ หากเป็น “น้ำผึ้งสด” ราคาที่ตั้งไว้จะอยู่ที่ ml ละ 2 บาท หรือขวด 500 ml ราคาก็อยู่ประมาณ 1,000 บาท และส่วน “น้ำผึ้งหมักบ่มข้ามปี” แล้วราคาจำหน่ายที่ตั้งไว้คือ ml ละ 3 บาทหรือขวด 500 ml ราคาก็จะอยู่ที่ 1,500 บาท ซึ่งส่วนมากจะเป็นลักษณะของการสั่งจองหรือพรีออร์เดอก่อนล่วงหน้าไว้แล้ว


จากงานอดิเรกที่กลายมาเป็นงานสร้างรายได้ให้อย่างน่าสนใจ และทุกวันนี้คุณแมนยังมีแผนในเรื่องของการผลิตและการตลาดสำหรับ “น้ำผึ้งชันโรง” ไว้อย่างไม่เล็ก ๆ อีกต่อไปแล้ว หลังจากที่ศึกษาเรื่องงานวิจัยที่เกี่ยวกับน้ำผึ้งชันโรงใช้ในการรักษาหรือมีคุณประโยชน์ทางยามาอย่างมากมายแล้ว ความน่าทึ่งจากข้อมูลที่ได้ทราบว่าแม้แต่เพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย เขามีการใช้และประกาศให้น้ำผึ้งชันโรงเป็น “ซูเปอร์ฟู้ด” ที่ช่วยในการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยโรคมะเร็งร่วมกับวิธีการรักษาโดยแพทย์ ซึ่งให้ผลดีมาตั้งแต่ในยุคของผู้นำมหาเธร์ฯ จนนำมาสู่การใช้และมีความต้องการซื้อ “นำผึ้งชันโรง” เป็นจำนวนมากต่อปี และจากการทดลองด้วยตนเองมาอย่างต่อเนื่อง ในระยะเวลากว่า 3 ปี ที่เริ่มเลี้ยงชันโรงมา คุณแมนบอกว่า ทุกเช้าที่ตื่นมาและก่อนเข้านอน ในทุกวันตนเองจะดื่ม“น้ำผึ้งชันโรง” ก่อนในปริมาณที่กำหนดเอง คือ 5 ml (1 ช้อนป้อนยาเด็ก) ตักเข้าปากเพื่อไปกลั้วในคอไว้ก่อนสักพักแล้วจึงค่อยดื่มน้ำตามลงไป ทำแบบนี้มาอย่างมีวินัยเข้มงวด ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าก่อนหน้านี้คุณหมอตรวจพบเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นใหม่ที่ตับอีก(ราว5-6 ซม.) มีการเตรียมการเพื่อวางแผนในการรักษาขั้นต่อไปแล้วแต่อยู่ ๆ หลังจากที่ดูแลตัวเองมาตามที่คุณหมอแนะนำอย่างเข้มงวด และการได้ดื่มน้ำผึ้งชันโรงเป็นประจำก็ไม่ต้องจัดการกับเซลล์ร้ายดังกล่าวตามแผนการรักษาที่วางเอาไว้แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ตัวเองรู้สึกทึ่งมาก ๆ และมีความสุขกับทุกวันในการทำเกษตรแบบปลอดภัย ควบคู่ไปกับการเลี้ยง “ชันโรง” ผึ้งจิ๋วที่สร้าง “อาหารเป็นยา” ให้กับตนเองด้วย

สอบถามเพิ่มเติม โทร.089-733-5188

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น