xs
xsm
sm
md
lg

สะดวกชิมแบบไหน..ผลสดจากต้นหรือแปรรูป? ฤดูกาลของ “อินทผลัม” ในไทยปี 2565 เริ่มขึ้นแล้ว!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ช่วงตั้งแต่ ก.ค. เป็นต้นไป ไทยเรามีไม้ผลเศรษฐกิจใหม่ “อินทผลัม” บริโภคผลสดจ่อคิวรอออกสู่ตลาดให้ได้ชิมรสชาติต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ปีนี้แม้สถานการณ์ “โควิด”ยังไม่ดีอย่างที่คาดไว้แต่ว่าผลผลิตและราคาดีต่อใจของคนกินอยู่ไม่น้อยเลย


คุณหนึ่ง-ธนินท์ภูมิ เดชชัย เจ้าของไร่ภูมิพัตร์ อินทผลัม เล่าให้ฟังถึงการผลิตอินทผลัม (DATE PALM) ฤดูกาปี 2564/2565 ว่าก่อนที่จะเห็นผลผลิตชุดนี้ออกมา ปีนี้ที่ไร่เองค่อนข้างประสบปัญหาจากสภาวะอากาศ (ความเย็นไม่พอ) เลยทำให้การออกดอก-ติดผล เสียหายไปกว่า 40% จากปกติที่เคยได้อยู่บนพื้นที่ผลิตรวม 40 ไร่ พบว่าอินทผลัมพันธุ์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหลายต้นไม่ยอมแทงจั่นออกมาสักช่อให้เห็นเลยก็มี และบางต้นที่เคยได้ผลผลิตสูงถึงหลักสิบขึ้นแต่ปีนี้ได้มากสุดแค่8 จั่น เต็มที่เท่านั้น แต่สำหรับต้นพันธุ์เพาะเมล็ดซึ่งก็มีปลูกอยู่ด้วย กลับไม่ค่อยกระทบในเรื่องนี้ยังคงติดดอกได้ตามปกติ คาดว่าน่าจะมีผลผลิตทยอยตัดขายได้ในช่วงเดือน ก.ค.นี้ รวม ๆ แล้วไปจนหมดฤดูกาลได้อยู่สักประมาณ 60%


อากาศไม่ได้ แถมเจอภาวะ “ปุ๋ยแพง” ซ้ำ!
ร่วม 5-6 ปีมานี้ที่คนชมชอบไม้ผลอย่าง “อินทผลัม” บ้านเรา ได้นำพันธุ์ดีเข้ามามาปลูก ซึ่งเป็นสายพันธุ์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีพันธุ์เด่น ๆ อย่างเช่น “บาฮี” ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นอินทผลัมพันธุ์บริโภคผลสดที่มีรสชาติดีที่สุด
ซึ่งก็จะเป็นคนละชนิดกันกับสายพันธุ์ที่บริโภคแบบผลแห้งด้วย และประเทศไทยเองก็เหมาะสำหรับการปลูกสายพันธุ์ทานผลสดมากกว่า ทั้งนี้ด้วยปัจจัยแวดล้อมหลาย ๆ อย่างรวมถึงเรื่องของสภาพภูมิอากาศ เพราะอินทผลัมเองในช่วงของการออกดอกต้องการสภาวะอากาศที่เย็นพอเหมาะและนานพอ ซึ่งพบว่าในบางพื้นที่ของประเทศไทย เช่น ภาคใต้ ที่ไม่มีฤดูหนาวเลย จึงไม่สามารถที่จะให้ผลผลิตอินทผลัมพันธุ์บริโภคผลสดนี้ได้ และแม้แต่ภูมิภาคอื่น ๆ ที่เคยให้ผลผลิตได้หากช่วงเวลาดังกล่าวที่อาจมีสภาวะอากาศไม่เอื้ออำนวยในปีนั้น ๆ อย่างเช่นกรณีของที่ไร่ภูมิพัตร์ฯ เจอมาปีนี้ จากต้นอายุ 5-6 ปีขึ้นที่ผ่านการให้ผลผลิตต่อเนื่องมา ทั้งนี้แต่ก็พบว่าในกรณีของต้นสาว(อายุ3-4 ปี) ที่เริ่มให้ผลผลิตใหม่ในปีนี้ก็ยังดีอยู่ ประจวบกับมาเจอ “ปุ๋ยแพง” ที่ซ้ำเติมอีกในปีนี้! การผลิตในท่ามกลางสถานการณ์ “โควิด19” ที่ยังไม่รู้ว่าอาจพลิกผันไปในทิศทางใดอีกบ้าง ซึ่งก็ทำเต็มที่ทำได้คือสามารถฟื้นฟูผลผลิตกลับมาแม้ไม่เต็ม 100% แต่ก็ยังดีกว่า


พันธุ์เนื้อเยื่อ “บาฮี” ผลผลิตหลักในปีนี้
บนเนื้อที่ผลิต 10 ไร่ที่ทำได้ในปีนี้จากทั้งหมดคือ 40 ไร่ คุณหนึ่งบอกว่าผลผลิตส่วนใหญ่ที่คาดว่าจะตัดออกสู่ตลาดได้เป็นสายพันธุ์บาฮี (สีเหลือง) ส่วนนอกนั้นพันธุ์อื่น ๆ และโดยเฉพาะลูกสีแดง อย่างเช่น สายพันธุ์โคไนซี ถึงแม้ว่าราคาจะดีกว่า แพงกว่ากันขึ้นไปอีก แต่ทว่าปีนี้กลายเป็นของยาก!ในการทำได้ของไร่ภูมิพัตร์ ซึ่งปริมาณที่ได้มีไม่มากพอ ดังนั้นหลัก ๆ คาดว่าที่ออกตลาดได้ก็น่าจะเป็น “บาฮี” ผลผลิตจากต้นอายุ 5-6 ปีขึ้นนี้ ซึ่งเรื่องของความครบรสด้านรสชาติที่ตรงตามสายพันธุ์รับรองได้ว่า คนกินไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน

บาฮี ที่มีรสชาติเข้มข้นขึ้นจากต้นอายุ 5-6 ปีขึ้น

โคไนซี ที่แสนหวานอร่อยแต่เสียดายปีนี้ที่ไร่ผลิตได้น้อยมาก ๆ กว่าที่เคย
เปิดราคาที่ 450 บาท(ปลีก) ใช้จำนวนมากมี “ราคาส่ง” ให้ด้วย
ในช่วงก่อนที่จะมีการระบาดของโรค “โควิด19” พอถึงฤดูกาลของอินทผลัมพันธุ์ทานผลสดในไทย ซึ่งจะเริ่มขึ้นประมาณเดือน กรกฎาคม เป็นต้นไป หลาย ๆ สวนมีการเปิดให้เข้าชม ชิม ช้อป ได้อย่างสร้างความตื่นตาจากผลผลิตที่อยู่บนต้น และคนที่ไปเห็นก็อยากจะถ่ายรูป โพสต์ขึ้นโซเชียลมีเดียส่วนตัวเพื่ออวดเพื่อน ๆ ด้วย จนกระทั่งพอมีโควิดเกิดขึ้นก็ทำให้สวนทั้งหมดต้องปิดเพื่อปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐ บางรายที่ปรับตัวได้ไวก็จะใช้วิธีการขายออนไลน์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ช่วยแก้ปัญหาไปก่อน แต่ว่าในปีที่ผ่านมาฤดูกาลปี 2564 ก็เริ่ม ๆ มีการเปิดสวนบ้างให้เข้าชมได้แต่ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด พอมาปีนี้ 2565 ที่จะมีการประกาศเป็น “โรคประจำถิ่น” แต่ทว่าก็มีการระบาดของเชื้อฯ BA.5 ซึ่งทำให้ต้องเฝ้าระวังต่อและยังคงรักษาระดับของการป้องกันตัวเองกันอย่างเข้มข้นอยู่ ไม่ได้ห้ามการไปมาหาสู่กันแต่ก็ขอให้ทุกคนมีการป้องกันตัวเอง ดังนั้นก็คาดว่าปีนี้หลาย ๆ สวนจะเริ่มเปิดให้คนเข้าชมได้ ส่วนในกรณีของไร่ภูมิพัตร์ฯ เองนั้นเจ้าของบอกว่า เนื่องจากเส้นทางที่ไม่ค่อยสะดวกนักเป็นทางดินและเวลามีฝนตกหนักจะทำให้รถยนต์ไม่สามารถวิ่งเข้า-ออกโดยสะดวกได้ ดังนั้นทุกปีก็เลยแก้ปัญหาโดยการนำผลผลิตจากสวน(อยู่ในเขต จ.กาญจนบุรี) กลับเข้ามาขายในกรุงเทพฯ แทนพิกัดที่ขายอยู่ประจำคือ ถนนเทียนทะเล ควบคู่การขายออนไลน์ผ่านเพจ: สวนชัยลัดดา อินทผลัม โดยปีนี้เปิดราคาอยู่ที่ 450 บาท/กก.(บาฮี) แต่หากสั่งปริมาณมากก็จะมี “ราคาส่ง”(ประมาณ 280 บาท/กก.) ให้ต่างหากด้วย

น้ำอินทผลัมพร้อมดื่ม ความหวานจากธรรมชาติ

มีสูตรผสมน้ำเลม่อนด้วย

ผลิตภัณฑ์แบบชงดื่มสำหรับคุณแม่ที่ให้นมบุตร

ต้นที่ไม่ไให้ผลผลิตปีนี้ก็ต้องดูแลกันต่อไป
ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เพิ่มมูลค่า&ทางเลือกสำหรับผู้บริโภค
นอกจากผลผลิตสดจากต้นแล้ว ต้องนับว่าเจ้าของไร่ภูมิพัตร์ฯ แห่งนี้ถือเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าตัวจริง คุณหนึ่งบอกว่าผลผลิตส่วนหนึ่งได้นำมาทำการแปรรูปเพิ่มมูลค่า พัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สำหรับการตอบโจทย์ของคนรักสุขภาพด้วย เป็นการใช้ “ความหวาน” ตามธรรมชาติจากอินทผลัมทดแทนการใช้น้ำตาล โดยองค์ความรู้เหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาจาก ม.เกษตรศาสตร์ ที่ตนเองมักจะเข้าไปขอรับคำแนะนำปรึกษาอยู่บ่อยครั้ง ตั้งใจว่าเมื่อทำการเกษตรแล้วจะเน้นขายผลผลิตสดอย่างเดียว “ความเสี่ยงสูง” จำเป็นจะต้องเพิ่มช่องทางการตลาดอื่น ๆ เพื่อเข้ารองรับไว้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากอินทผลัมผลสดนี้อย่าง น้ำอินทผลัม(พร้อมดื่ม) สามารถเก็บในอุณหภูมิปกติได้ประมาณ 1 สัปดาห์ โดยที่ไม่ได้มีการใส่สารกันบูดใด ๆ จากนั้นสามารถเก็บในอุณหภูมิการแช่เย็น (ตู้เย็น) ต่อได้อีกราว1 เดือน ซึ่งก็ทำให้สามารถจัดส่งลูกค้าที่สนใจผ่านทางระบบโลจิสติกส์ต่าง ๆ ได้ทั่วประเทศ ทำสดใหม่ตามออร์เดอ ในราคาปลีก 25 บาท/ขวด แต่หากสั่งมีจำนวนก็สามารถส่งให้ในอีกเรทราคาได้เช่นกัน มีรสชาติต่าง ๆ ทั้ง ต้นตำรับ ผสมน้ำเลม่อน และกระชายขาว อีกทั้งมีแบบผงชงดื่มเป็นสูตรสำหรับคุณแม่ที่ให้นมบุตร มีส่วนผสมของ “หัวปลี” เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการรวมอยู่กับอินทผลัมด้วย คุณหนึ่งบอกว่าผลผลิตสดปีนี้มี ประมาณ 2.5 ตัน คาดว่าขายหมดก็ปิดฤดูกาลปีนี้เพียงแค่นี้เลย แต่สำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ สามารถสั่งซื้อได้ตลอดทั้งปี

สอบถามเพิ่มเติมโทร.081-731-6054

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น