ประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่ การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วย งานวิจัยและนวัตกรรม การลงทุนด้านงานวิจัยเป็นสิ่งสำคัญที่มีการนำงบประมาณมาใช้ค่อนข้างสูง การบริหารจัดการทุนวิจัยเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน หน่วยงานที่ได้รับหน้าที่ในการบริหารทุนวิจัย อย่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะหน่วยงานหลักในการบริหารทุนวิจัย และนวัตกรรมของประเทศ ได้ออกมา เปิดบ้านกรอบงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566 NRCT Open House 2022 เพื่อให้นักวิจัย และคนไทยได้รู้ว่า เป้าหมายหลักของการวิจัยในครั้งนี้ คือ อะไร และจะสามารถแก้ปัญหาเร่งด่วนของประเทศ และ รองรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต ได้หรือไม่
ยุทธศาสตร์สำคัญ งานวิจัยนวัตกรรมปี 2566
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยถึง กรอบงานวิจัยและนวัตกรรม ในปี 2566 ว่า กรอบงานวิจัยและนวัตกรรมจะมุ่งเน้นผลสำเร็จการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในหลายๆ มิติ ได้แก่ มิติด้านวิชาการ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และชุมชน ด้านนโยบาย โดยยึดหลักยุทธศาสตร์สำคัญ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ความท้าทายการปรับตัวให้ทันต่อพลวัฒการเปลี่ยนแปลงของโลก ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคน ยุทธศาสตร์สร้างเสริมคุณค่าทางเศรษฐกิจ โดยการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และยุทธศาสตร์ด้านความพร้อมของประเทศในอนาคต
ทั้งนี้ วช. ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม สกว. โดยการประสานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ในการจัดการบริหารทุนวิจัย นวัตกรรม โดยอยู่ภายใต้กิจกรรม NRCT Open House 2022 ซึ่งมุ่งหมายการมีส่วนร่วม และการเตรียมความพร้อม รวมถึงการทำความเข้าใจกับประชาคมวิจัย ในการกลั่นกรองพิจารณาการให้ทุน ซึ่งการพิจารณาการให้ทุนจะมีบอร์ดมาตรฐานในการพิจารณาแผนงานโครงการในด้านต่างๆ ประกอบด้วย ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม สุขภาพ จะมี ดร.สนิท อักษรแก้ว เป็นประธาน ด้านเทคโนโลยีและอุตสาหรรม มี ศ.กิติตคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เป็นประธาน ด้านพัฒนาเชิงพื้นที่ มี ดร.ปิยะวัติ บุญหลง และด้านเศรษฐกิจและการเกษตร มี รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอด เป็นประธาน เป็นต้น ส่วนด้านสัตว์เศรษฐกิจและโควิด และอื่นๆ มี ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมดูแลขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเป้าหมาย
โดยการจัดการบริหารทุนวิจัยในครั้งนี้ ทาง วช. ได้เปิดรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมในรูปแบบของ open call เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่ 12 มิถุนายน 2565 ไปจนถึง 11 สิงหาคม 2565 ซึ่งจะนำข้อเสนอการวิจัยนวัตกรรมผ่านระบบ NRIS ในช่วงไตรแรกของปีงบประมาณ 2565 ซึ่งเป็นการนำเสนอการวิจัยผ่านระบบออนไลน์แบบ 100% เพียงอย่างเดียว เป็นระบบที่ได้ดำเนินการมาช่วงหลายปี เป็นสิ่งที่นักวิจัยคุ้นเคยกันดี
ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
สำหรับโปรแกรมที่ทางวช. กำหนดไว้ สำหรับเปิดรับข้อเสนอโครงการในรูปแบบ open call จะมีโปรแกรมที่เกี่ยวข้องด้านทุนวิจัยนวัตกรรม และ ทุนพัฒนาบุคลากร เป้าหมาย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนทุน ให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง ได้แก่ โปรแกรมเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ซึ่งครอบคลุมเรื่องผู้สูงอายุในประเด็นต่างๆ โดยเน้นการเกิดศักยภาพพึ่งพาตนเองได้ ทั้งมิติเมือง และชนบท มิติด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม การสร้างอาชีพ การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และการอยู่ร่วมกันของผู้สูงอายุ และคนรุ่นใหม่
นอกจากนี้ โปรแกรม การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ความยากจน และความเหลื่อมล้ำ โดยในช่วงที่ผ่านมา เราให้ความสำคัญกับการทำการเกษตรในรูปแบบใหม่ หรือ สมาร์ทฟาร์มมิ่ง Smart farming เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง สร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรระดับฐานราก ให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านอาชีพ และมีเรื่องเกี่ยวกับสัตว์เศรษฐกิจใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น โดยการนำเทคโนโลยี ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วย ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมหมุนเวียน
แก้ปัญหาคอร์รัปชัน บริหารจัดการสิ่งแวดล้อม
ในส่วนมิติคุณภาพทางสังคม เป็นสิ่งสำคัญที่ยังคงต้องให้ความสำคัญ ไม่แพ้ในมิติ หรือยุทธศาสตร์อื่น เพราะประเทศขับเคลื่อนไปได้ จะต้องครอบคลุมในทุกมิติ ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องสังคมคุณธรรม และ การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น โดยการส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล ซึ่งการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ยังช่วยลดปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย รวมถึง ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน และยังรวมไปถึงความปลอดภัยบนท้องถนน โดยงานวิจัยและนวัตกรรม จะต้องตอบโจทย์ในมิติเหล่านี้ด้วย
โดยยุทธศาสตร์สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ ผลักดันในเชิงนโยบายงานวิจัย ด้วยการนำองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาช่วยสนับสนุน บริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจสีน้ำเงิน การทำให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำ การแก้ปัญหามลพิษของภาคอุตสาหกรรม และการใช้วัสดุเหลือใช้เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาและดูแลการบริโภคอย่างยั่งยืน เช่น ZERO WEST การจัดการของเสียให้เป็นศูนย์ ฯลฯ ซึ่งเรื่องของสิ่งแวดล้อม จะไปเชื่อมโยงกับเรื่องของภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสามารถจะใช้ ววน. เข้ามาช่วยหนุนเสริม เป็นการทำงานอย่างบูรณาการเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ ดังนั้นในปีงบประมาณนี้ จึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษ กับเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่สามารถเชื่อมโยงทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจไปพร้อมกัน และถ้าสามารถแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เกิดความมั่นคงในทุกๆมิติ
พัฒนากำลังคนและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
ส่วนยุทธศาสตร์ในเรื่องของการพัฒนากำลังคน อันนี้เป็นยุทธศาสตร์ที่เน้นเรื่องสร้างการพัฒนา ประเด็นเป้าหมายต้องการพัฒนาการผลิต การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน การมองหาผู้ที่มีทักษะสูง ที่เป็นกำลังในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต สิ่งสำคัญที่ช่วยพัฒนากำลังคน ทั้งระบบการศึกษา สถาบันการศึกษา การสร้างเส้นทางอาชีพ ให้เหมาะสมกับการเติบโตของสายอาชีพ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และ นวัตกร
ในส่วนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมนั้น เนื่องจาก เทรนด์เทคโนโลยีทางอุตสาหกรรมตามกระแสโลก แบ่งได้เป็น อุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัล และอุตสาหกรรมเฉพาะ เมื่อนำมาเชื่อมเข้ากับแผนงานที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ ววน. ในการส้รางโอกาสเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และการใช้ความรู้จากงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งและยกระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีการกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการพัฒนา SME และวิสาหกิจเพื่อสังคม
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวต่ออีกว่า ในกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ปี 2566 วช. ได้มีการวางแผนงานเพื่อยกระดับคุณภาพสังคมด้วยเทคโนโลยีและการวิจัย แบ่งเป็น 1. การพัฒนาวัสดุขั้นสูงเพื่ออุตสาหกรรม 2. การยกระดับการตลาดและเพิ่มมูลค่าสินค้า Innovative House 3. การพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพและเศรษฐกิจหมุนเวียน และ 4. การพัฒนาด้านดิจิทัล เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เพื่อตอบโจทย์ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป
NRCT Open House 2022 กรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566 เป็นประเด็นท้าทายของประเทศ เพราะหลังจากนี้ไป การเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ เกิดขึ้นให้คนบนโลกต้องรับมือให้ทัน ประเทศที่มีงานวิจัยและนวัตกรรมเท่านั้นจะสามารถเอาชนะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ รวมถึงประเทศไทย
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด