xs
xsm
sm
md
lg

“หนูดี” พริกไทยจันทน์ กับแนวทางการปลูกเพื่ออนุรักษ์! แปรรูปทำมือ ก่อนส่งตรงถึงคนกิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พริกไทย” ได้ชื่อว่าหนึ่งในของดีเมืองจันทน์ เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ พอ ๆ กับยุคที่ “พลอย” กำลังรุ่งเรือง แต่ปัจจุบันตลาด “ทุเรียน” ที่มาแรงบวกกับมี “พริกนอก” เข้ามาแข่ง! การปลูกค่อย ๆ หายไปและสวนที่ยังอยู่ก็ต้องปรับใหม่ให้รอด!

เกษตรผสมผสานปลูกพริกไทยร่วมสวนทุเรียนตามแบบฉบับคนเมืองจันทน์
มีโอกาสได้คุยกับคนเมืองจันทน์ ถึงสถานการณ์ผลิต “พริกไทย” ในฐานะพืชเศรษฐกิจว่ายังดีอยู่ไหม? หลังจากที่หลายปีมานี้กระแส “ทุเรียน” ฟีเวอร์! มากเกินได้ทำให้การปลูกและผลิตเปลี่ยนไปกี่มากน้อย พี่ศักรินทร์ ตองอ่อน หนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกพริกไทยและเจ้าของผลิตภัณฑ์ “หนูดี” พริกไทยจันทน์ จากอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี บอกว่าวิถีของพริกไทยจันทน์ พืชเศรษฐกิจร่วมสวนผลไม้ เวลานี้ในละแวกบ้านของตนเองเริ่มค่อย ๆ หายไปกันมากแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ากระแสของทุเรียนที่มาแรงเรื่องมูลค่าทำให้ดึงดูดใจได้มากกว่า กับอีกอย่างเริ่มมีพริกนอกจากเขมรและเวียดนามเข้ามาตีตลาดมากขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าการต้านทานก็ชักเริ่มจะอ่อนแรงลงไปทุกขณะแล้วเหมือนกัน

ถ้าสุกแบบนี้จะเก็บไปทำเป็นพริกไทยขาว
วิถีเกษตรผสมผสานปลูก “พริกไทย” พืชร่วมทุเรียน

พี่ศักรินทร์ เล่าให้ฟังว่า ตนเองได้รับสืบทอดการทำพริกไทยต่อมาจากพ่อแม่ ที่ปลูกคู่กันกับ “ทุเรียน” ตามแบบดั้งเดิมมา พอเข้ารับช่วงต่อซึ่งตอนนี้มีแปลงเก่าที่ยังให้ผลผลิตดีอยู่ทั้งพริกไทยและทุเรียนปลูกร่วมกัน บนพื้นที่ 2 ไร่ กับแปลงใหม่ที่เพิ่งลงปลูกไปอีก 3 ไร่(อายุเกือบปีแล้ว) ก็ทำแบบเดียวกันคือมีทั้งพริกไทยและทุเรียนด้วย ข้อดีของการทำแบบผสมผสานคือได้ทั้งผลผลิตจาก “พริกไทย” ซึ่งปลูกเพียงปีครึ่งก็เริ่มให้ทยอยเก็บเกี่ยวได้เรื่อย ๆ แล้ว การปลูกร่วมกับทุเรียนจะช่วยเรื่องการพรางแสงให้เพราะพริกไทยชอบแดดเพียงลักษณะรำไร ๆ มากกว่าปลูกแบบเดี่ยว ๆ รับแสงแบบ 100% ซึ่งพบว่าการให้ผลผลิตไม่ค่อยดีนัก และพอทุเรียนมีอายุได้ 5-7 ปีขึ้นไปก็เริ่มให้ผลผลิตด้วย ประโยชน์สองต่อ แต่ว่าก็ต้องคอยระวังดูแลเรื่องการจัดการ “โรค” ที่เกิดจากเชื้อรา(ไฟทอปธอรา) ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากพริกไทยด้วย “เชื้อรา” เป็นศัตรูประจำของพืชพริกไทย ต้องคอยกำจัดให้ดีเพื่อไม่ให้เกิดเชื้อโรคสะสมไปสู่ทุเรียนได้ ดังนั้นพอถึงในยุคซึ่งทุรียนกลายเป็นพืชที่มีมูลค่าทางการตลาดดึงดูดมากกว่า จึงเป็นสาเหตุว่าชาวสวนเริ่มตัดสินใจที่จะเลือกทุเรียนมากกว่าพริกไทย ทำให้การปลูกใหม่เดี๋ยวนี้เรียกได้ว่าน้อยลงไปทุกที อย่างพันธุ์ที่ปลูกอยู่ก็จะมี มาเลย์, ซีลอน และจันทบุรี(บ้าง) ซึ่งอย่างหลังนี้ที่สวนเองก็พยายามจะอนุรักษ์ไว้ เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ไม่อยากจะให้สูญหายไป

พริกไทยดำ

พริกไทยขาว
ปรับสู่แนวทาง “การผลิตปลอดภัย” สร้างอาหารเป็นยา

พริกไทยแต่ละสายพันธุ์นั้น ก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไปอย่าง พันธุ์ซีลอน จะเน้นการเก็บอ่อนกว่า เพื่อสำหรับนำไปใช้ประกอบอาหารในเมนูจำพวกผัดฉ่า ผัดเผ็ดต่าง ๆ เป็นต้น พันธุ์มาเลย์ จะมีความเด่นเรื่องเมล็ด “โต” และมีความแข็ง นิยมนำไปทำพริกไทยดำ และพริกไทยขาว ซึ่งจะใช้สายพันธุ์นี้กันเป็นส่วนใหญ่เพื่อผลิต และส่วน “พันธุ์จันทบุรี” ก็มีเมล็ดที่ใหญ่คล้าย ๆ กันกับมาเลย์ แต่ว่าการติดผลจะไม่ดกเท่า ก็เลยทำให้ไม่ค่อยได้รับความนิยมปลูกกันมากนัก ซึ่งจุดเด่นเรื่องสรรพคุณทางยาต่าง ๆ ตอนนี้ก็พยายามที่จะศึกษาเพิ่มอยู่ เพราะอยากจะอนุรักษ์รักษาเอาไว้ให้อยู่คู่กับจังหวัดจันทบุรีต่อไป สำหรับการปลูก “พริกไทย” ของทางจันทบุรีจะนิยมใช้ท่อนพันธุ์ดี ผ่านการชำมาจนเกิดระบบรากที่สมบูรณ์ดีแล้ว จากนั้นก่อนนำลงปลูกจะรดน้ำให้ดินอิ่มน้ำจนพอ การปลูกจะต้องมีหลักหรือเสาให้พริกไทยยึดเกาะไว้ ใช้แบบเสาปูนที่มีความสูงประมาณ4 เมตร(ฝังลึก 1เมตร) ปลูกท่อนพันธุ์ 2 ท่อน/เสา หลังปลูกเสร็จดูแลเรื่องการให้น้ำ(ทุกวัน) ไปจนกว่าต้นจะรัดหรือปลูกติดดีแล้ว การให้น้ำสามารถเว้นช่วงได้โดยดูจากลักษณะของใบเป็นหลัก และในช่วงที่ปลูกใหม่ ๆ ต้องมีการผูกเชือกเพื่อช่วยยึด “ยอด” ที่แตกใหม่ให้เกาะติดอยู่กับเสาเพื่อการเติบโตต่อไป และต้องช่วยพรางแสงด้วยซาแรนให้อีกทางหนึ่ง ส่วนการดูแลที่สวนเองมีการปรับเปลี่ยนมากว่าปีแล้วโดยการ ไม่ใช้สารเคมีเลย เน้นใช้วิธีการผลิตปลอดภัยด้วยการใส่ “ปุ๋ยหมัก” สูตรธาตุอาหารสูงของกรมวิชาการเกษตร แทนการใช้ปุ๋ยเคมีโดยตรง เดือนละครั้ง และการป้องกันศัตรูพืชโดยใช้ “น้ำส้มควันไม้” ร่วมกับการใช้น้ำหมักสมุนไพรสูตรไล่แมลงต่าง ๆ ฉีดพ่นทุก 15 วัน/ครั้ง เพื่อแทนสารเคมี เป็นต้น


เน้นการ “แปรรูปทำมือ” เพื่อสร้างความมั่นใจ

เจ้าของผลิตภัณฑ์ “หนูดี” พริกไทยจันทน์ ยังบอกด้วย การหันมายึดแนวทางการผลิตปลอดภัยเพราะมองว่า พริกไทยไม่ได้เป็นแค่เครื่องปรุงในอาหาร แต่ยังมีสรรพคุณเป็น “ยา” นำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการเข้าสูตรยารักษาโรคต่าง ๆ ได้อีกด้วย จึงอยากให้มีความปลอดภัยตั้งแต่ต้นทางการผลิตก่อนจะไปสู่การบริโภคหรือใช้ประโยชน์ทางด้านยาต่อไป รวมถึงกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว-การแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์ ที่นี่ก็ยังคงอนุรักษ์การทำแบบวิธีโบราณเอาไว้ ก็คือ “ทำมือ” โดยไม่ใช้จักรกลหรือสารเคมีฟอกขาวเข้ามาช่วย ยกตัวอย่าง พริกไทยดำ การทำคือจะเก็บพริกไทยที่มีความแก่จัดได้ที่ ดูจากขั้วที่เหลืองหรือต้องมีเมล็ดสีออกส้ม ๆ ติดอยู่สัก 1-2 เมล็ด/รวงหรือช่อขึ้นไป จากนั้นนำไปตากแดดก่อนแล้วค่อย “สี” เพื่อการแยกเอาก้าน-ขั้ว ออกไปจากเมล็ดพริกไทย แล้วจึงนำเข้าตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งวิธีนี้จะใช้เวลาเพียง1 วัน(จากเดิมตากแดดต้อง 3 วัน) ก็เป็นอันแห้งได้ที่ดีแล้ว จากนั้นจึงจะนำไปอบต่ออีก 7 ชม. โดยใช้ระบบลมร้อนเพื่อให้เกิดความเสถียรสำหรับการเก็บรักษาแบบแห้งได้อย่างยาวนานต่อไป ส่วนการทำ “พริกไทยขาว” จะต่างกันตรงที่ต้องเก็บแบบเมล็ดสุกแล้ว นำมาแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืนก่อนจะแยกเอาเนื้อกับเมล็ดออกจากกัน ด้วยการใช้มือจะไม่ใช้สารฟอกขาวเหมือนที่อื่นทำกันอยู่ พอคัดแยกได้เมล็ดสีขาวแล้วก็จึงจะนำไปเข้าสู่กระบวนการแบบเดียวกันกับทำพริกดำ ซึ่งการเก็บเกี่ยวในระยะหรือมีอายุที่เหมาะสมนี้(แก่จัด) จะทำให้ได้พริกไทยที่เม็ดเต็ม ไม่ฝ่อไม่ยุบไร้คุณภาพ ที่สำคัญได้รสชาติความเผ็ดและกลิ่นหอมครบเครื่องมากกว่าด้วย



พริกไทยแบบป่น


จากพริกไทยสดที่เก็บเกี่ยวมา 100% เมื่อผ่านการแปรรูปทำแห้งแล้วจะได้ประมาณ 30% เท่านั้น พี่ศักรินทร์บอกว่าการทำพริกไทยนั้น จะมีต้นทุนเรื่องค่าแรงงานในการเก็บอยู่บ้าง จ้างเป็น “กิโลกรัม” กรณีพริกติดดกมากคนเก็บจะเรียกค่าแรงอยู่ที่ 10 บาท/กก. แต่หากของมีน้อยก็คิดค่าแรงเป็นแบบเหมาวันซึ่งตกราว ๆ 400 กว่า-500 บาท/คน/วัน ถึงกระนั้นแรงงานบางครั้งก็ยังหายากมากในยุคนี้ และก็มีวิธีจัดการกับตลาดรูปแบบใหม่คือ หันไปขายผ่านออนไลน์แทนการส่ง “ล้ง” แบบเดิม ทำให้สวนพอมีความคุ้มค่าอยู่ได้มากกว่า จากราคาขาย 500 บาท/กก. (พริกไทยดำ) ถึง 700 บาท/กก.(พริกไทยขาว) ซึ่งปีนี้ผลผลิตพร้อมขายของสวนมีอยู่ราว 500 กก. รวมกับทุเรียนปีที่ตัดขายเพิ่งหมดไปได้ 20 กว่าตัน เมื่อคิดเป็นรายได้ต่อปีถือว่าอยู่ได้เลยเพราะ “พริกไทย”! และจากการมีโอกาสได้ไปออกงานต่าง ๆ ด้วย ตอนนี้ก็เริ่มมีตลาดใหม่ ๆ อย่างห้างฯ เข้ามาติดต่ออยากให้มีสินค้าไปวาง หากเป็นไปได้! ก็จะช่วยให้ตนและคนอื่น ๆ สามารถมีทางเลือกเพิ่มในอาชีพนี้กันต่อไป

สอบถามเพิ่มเติมโทร.081-865-8207

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น