xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) พลิกวิกฤตจากศูนย์! สู่ “แสน”!! ด้วย “ข้าวเข่ง” อาหารไทย สไตล์เบนโตะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พลิกวิกฤตจากศูนย์! สู่ “แสน”!! ด้วยการปั้นแบรนด์ “ข้าวเข่ง” อาหารไทย สไตล์เบนโตะ ต่อยอดน้ำพริกและอาหารไทยจับเอามาใส่เข่ง! ความอร่อยบวกคุ้มค่าที่มาพร้อมการดีไซน์ ตอบโจทย์โดนใจคนรุ่นใหม่


คุณเงาะ-จิรศักดิ์ บุญยะเมศสลวย เจ้าของแบรนด์ “ข้าวเข่ง”เล่าว่า แต่เดิมครอบครัวทำธุรกิจน้ำพริก(ราชินีพริกสด) มานานกว่า 20 ปีแล้ว ขายอยู่ใน Food Court ในห้างฯ มีหน้าร้านเองมากถึงกว่า 30 สาขา จนกระทั่งพอเจอวิกฤต “โควิด-19” ห้างฯปิดทุกอย่างกลายเป็น “ศูนย์”! ทันที ก็เลยทำให้ต้องหันหน้ามาปรึกษากันจะเอายังไงต่อไป? ซึ่งตนเองมีพื้นฐานคือเรียนมาทางด้านการออกแบบกราฟิกดีไซน์ และทำงานเกี่ยวกับงานอีเว้นต์&ออร์แกไนซ์มา จึงนำมาพัฒนาเพื่อแตกแบรนด์ใหม่ขึ้นมา
มีการออกแบบแพ็คเก็จจิ้ง และกลายเป็น “ข้าวเข่ง”ในที่สุด


“จริง ๆ ในยุคนี้เราก็คือกินอาหาร เป็นบ๊อกเซ็ต กิน 1 จาน 1 กล่อง 1 ยูนิต อยู่แล้ว แล้วทีนี้คือโดยส่วนตัวผม ชอบทานอาหารญี่ปุ่นไปญี่ปุ่นมา มีแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งเหมือนกัน และก็จริง ๆ แต่ว่าบ้านเราทำอาหารไทย ครอบครัวทำอาหารไทย ทีนี้เราก็เห็นข้อดีหรือข้อเสียเนี่ย เอามาผสมกันแล้วก็ออกแบบใหม่ เพราะว่าปกติเลยของเราพอไปเสร็จเนี่ย กินด้วยจาน กินด้วยกล่อง หรือเวลาส่งไปเนี่ยมันยังมีจุดอ่อนอยู่นิดหนึ่ง คือมันยังไม่เกิดความประทับใจ รสชาติอาหารโอเคอร่อย คนยอมรับ แต่ทีนี้เราก็อยากว่าทำยังไงมันได้มากกว่าการอร่อย ก็คือนอกจากอร่อยรสมันต้องอร่อยตา กินแล้วรู้สึกอร่อยใจ เพราะว่าในการเลือกสินค้าหรือว่าเลือกจะซื้อของ เวลาเราไปเดินจะสั่งอาหารหรืออะไรต่าง ๆ เรามองหน้าตาเป็นอันดับแรกอยู่แล้วครับ “ข้าวเข่ง”เป็นแบรนด์ กับเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการออกแบบ เริ่มต้นเลยเกิดจากการออกแบบ ออกแบบจากพื้นฐานคือธุรกิจของที่บ้านเรา
ที่บ้านเราขายน้ำพริกทำข้าวน้ำพริกใน Food Court มาประมาณ 20 ปีแล้วครับ”



เพราะฉะนั้นก็เลยต้องเกิดการพัฒนาหน้าตาขึ้นมา อันดับแรกก็คือเรื่อง แพคเก็จจิ้ง จะเอาอะไรมาใส่ เป็นกล่องแบบไหนดี เป็นวัสดุอะไร แต่สุดท้ายก็พบว่าวัสดุที่ใกล้ตัว อย่าง “เข่งปลาทู” ซึ่งก่อนหน้านี้ทำข้าวน้ำพริกปลาทูอยู่แล้ว ต้องสั่งปลาทูมาเยอะมาก และพอมาโฟกัสที่ “เข่งปลาทู” ปรากฏว่ามันสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ต้นทุน รูปลักษณ์ จากการที่เข่งเองมันถูกออกแบบมาให้เป็นแพ็คเก็จ และพอมองดูแล้วมันมีสตอรี่มีคอนเท้นต์ของความเป็นไทย มีคอนเท้นต์ของงานหัตถกรรม ของความเป็นเอเชียครบถ้วนอยู่ในตัว! จบหมดแล้วเพียงแต่ต้องเอามาปรับเพิ่มในเรื่องของการนำมาใช้งาน การบรรจุอาหารของกิน ที่ต้องคำนึงเรื่องสุขอนามัยและความสะอาดเป็นสำคัญ

โดยใช้วิธีการออกแบบดีไซน์ ออกแบบเลยใน 1 อัน จะต้องใส่อะไร วางตรงไหนบ้าง มันจะต้องมีcompos แบบไหนถึงจะดี
คนกินอะไร เอาดีไซน์นำฟังก์ชัน “คอนเซ็ปต์ของมัน คือ ไทยเบนโตะ อาหารไทย สไตล์เบนโตะเพราะว่าโดยหลักของเรา คือ หัวใจ DNA ของแบรนด์เราคือเอาอาหารไทยมาใส่เข่ง เพราะฉะนั้นมันไม่ได้จำกัดแค่ จะต้องเป็นข้าวน้ำพริกอย่างเดียว เป็นอาหารไทยทุกอย่างที่มีความเป็นไทย เพราะว่าเราอยากทำเบนโตะก็คือ กล่องอาหารของคนไทยจริง ๆ ที่เป็นรสชาติไทยจริง ๆ
เพราะว่าอาหารรสไทยเราจินตนาการรสชาติได้ก่อนซื้ออยู่แล้ว เราทุกคนผมเชื่อว่ารู้ว่าน้ำพริกรสชาติยังไง ข้าวคลุกกะปิรสชาติยังไง แกงเขียวหวานรสชาติยังไง ก็เลยดีไซน์ออกมาเป็น ไทยเบนโตะ”



สำหรับเมนูเริ่มต้นคือ ตระกูลข้าวคลุกน้ำพริก เพราะเป็นสิ่งที่ถนัดอยู่แล้ว เป็นเหมือนโปรดักส์ฮีโร่ หลังการทำมาทดลองเป็นสิบปีแล้วว่าควรจะใช้น้ำพริกรสชาติประมาณขนาดนี้ ผสมกับข้าวปริมาณขนาดนี้ กินกับเครื่องเคียงอะไรบ้าง ตัวอย่างเมนู5 เมนูได้แก่ ข้าวคลุกน้ำพริกกะปิ ข้าวคลุกน้ำพริกกะปิมะม่วง ข้าวคลุกน้ำพริกตาแดง ข้าวคลุกน้ำพริกลงเรือ ข้าวน้ำพริกปลาร้า และก็ยังมีอีก1 เมนูด้วย คือ ข้าวปลาทูแมว ซึ่งเป็นเมนูโบราณ เราจะเคยได้ยินมา เช่น ข้าวแมวขโมย ข้าวคลุกปลาทู ฯลฯ จะมีการเรียกหลากหลายกันมาแต่ได้นำมาตั้งชื่อให้เข้าหมวดของร้าน คือเอาทุกอย่างมารวมกันก็เลยได้เป็น “ข้าวปลาทูแมว” ซึ่งก็จะเป็นข้าวสวยร้อน ๆ คลุกกับเนื้อปลาทูที่แกะก้างออกหมดแล้ว มีการมิกซ์ “พริกเกลือ” ของภาคตะวันออก(เป็นคนจันทบุรี) หรือน้ำจิ้มซีฟู้ดใส่ลงไปและมีเครื่องเทศต่าง ๆ ตะไคร้ซอย หอมแดง พริกสด มะนาว ตัวหัวกับหางจะทอดให้กรอบ ๆ มาประดับไว้อีกทีหนึ่ง ซึ่งก็จะทานได้ทั้งหมดเลย ได้รับความนิยมอย่างถ้าเป็น Best Seller เลยคือ ข้าวคลุกน้ำพริกกะปิ-กะปิมะม่วง คนจะเคยชินกันอยู่แล้วแต่พอเห็นมีชื่อ ข้าวปลาทูแมว ด้วยลูกค้าก็จะสั่งด้วย ต่อจากนั้นมาในสเต็ปที่2 ก็เริ่มมีเมนูอื่น ๆ ด้วยก็จะมี ข้าวหมูฮ้อง เป็นสามชั้นชิ้นใหญ่ตุ๋นเครื่องสูตรต้นตำรับมาเลย พร้อมผักเครื่องเคียง ซึ่งเป็นเมนูใหม่ที่ค่อย ๆ พัฒนาเพิ่มเติมขึ้นอย่างต่อเนื่อง


“เราก็ทดลองตลาดออกไปอยู่สักพักหนึ่ง แล้วพอส่งไปส่งมาเราก็ได้Influencer หลาย ๆ คนพอสั่งไปกินเสร็จก็มีการบอกต่อ ๆ เลย ซึ่งมันพิสูจน์ได้เลยว่ามันไปได้ด้วยตัวโปรดักส์จริง ๆ พอเขาชอบเขาก็โพสต์ต่อกันไปเรื่อย ๆ มันก็เลยเกิดไวรัลเล็ก ๆ เพราะว่าเราขายออนไลน์ครับ ก็คือว่าทุกคนเห็นรูปอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคอนเซ็ปต์หรือคนที่ประทับใจของเรา หนึ่งคือเหมือนในรูปเป๊ะ(ตรงปกไม่จกตา) รูปลักษณ์โดยรวมคือเราให้เต็มให้ล้นทุกอย่างแบบนั้นเลย เบสราคาทั้งหมดเลยครับ เราวางไว้ที่99 บาท ยกเว้น ข้าวหมูฮ้อง ที่เมนูมันมากกว่าก็จะเป็น 119 บาท และก็ยังมีไซส์แบบครอบครัว ทานได้ 5-6 คนด้วย”

มีอินฟลูเอนเซอร์คนดังช่วยบอกต่อ
การตลาดโดยเน้นระบบ ”พรีออร์เดอ”ทั้งหมดคือจะต้องสั่งก่อน1 วัน สั่งวันนี้ก็ได้พรุ่งนี้(อย่างน้อย) แต่หากจะสั่งล่วงหน้าไปจัดเลี้ยงหรือทานกันเองก็สามารถสั่งก่อนได้เลย เหตุผลที่ต้องพรีออร์เดอ คือ การเตรียมของที่เน้นสดใหม่เสมอ เพราะเป็นอาหารของสดอย่าง ปลาก็ต้องทอดใหม่ ผักทอดก็ต้องทอดใหม่ อย่างนี้เป็นต้น ถ้าเตรียมไว้แต่เช้าแล้วค่อย ๆ ทยอยขายของก็จะไม่ค่อยสดใหม่เท่าไร หรือถ้ามาเริ่มทอดเริ่มทำหลังจากรับออร์เดอมาของก็จะไปถึงมือคนทานช้าไปอีก ก็เลยเลือกทั้งหมดเป็นการพรีออร์เดอดีกว่า และก็อีกส่วนหนึ่งมีแพลนไว้เรื่องของ “แฟรนไชส์” ซึ่งออร์เดอที่ได้มาก็จะแบ่งให้กับร้านสาขาหรือแฟรนไชส์ด้วย

“ตอนนี้ที่ทดสอบแบรนด์พอเราเปิดมา 2 ปีแล้ว เราเปิดจากของตัวเราเองแล้วเราก็เคยไปเปิดหน้าร้านที่ตลาดจอร์จแฟร์ หรือว่าในห้างฯ ตามงานแฟร์ต่าง ๆ ที่อยู่ทีละครึ่งเดือน อย่างจอร์จแฟร์เราเคยอยู่ประมาณ2 เดือนกว่า ๆ เพื่อไปทำตลาดตัวนี้เหมือนกัน ก็คือเราเซ็ตไว้เลยว่าวันหนึ่ง ๆ เราขายได้ขั้นต่ำ 30 เข่ง หรือถ้าตีเป็นกลม ๆ ราคา 99 บาทก็ตีว่า 3,000 บาท ซึ่งจริง ๆ เรามีกำไรอยู่ 1,000 บาท/วัน เพราะฉะนั้น 30 วันขายไปเรื่อย ๆ แบบว่าเป็นมินิมัมเลย ก็จะได้เดือนละ9 หมื่นบาทซึ่งเขาก็จะมีกำไรอยู่ 3 หมื่นบาท นี่คือเราจะทำให้คนอยู่ได้เลย แต่ว่าปกติที่เราขายก็จะอยู่ประมาณสัก 50-60 เข่ง ในการออกงานและก็เฉลี่ยกับการจัดออร์เดอ ก็จะอยู่ประมาณนั้น เพราะฉะนั้นรายได้ถ้าทำตลาดกลาง ๆ เองขยันแบบกลาง ๆ เดือนนึงหยุดสัก 2 วัน ก็จะอยู่ประมาณสักแสนกว่าบาท นี่ยอดขายเข้ามาครับ”


เจ้าของแบรนด์ “ข้าวเข่ง” บอกว่า ในช่วงแรก ๆ การตั้งเป้ากลุ่มลูกค้าเป็นconsumer ทั่วไป คือเป็นผู้ซื้อ-ผู้ทานในครอบครัวหรือที่ทำงานก็แล้วแต่ เป็นรายปลีกทั่ว ๆ ไปเลย ซึ่งปรากฏว่าในระหว่างที่ขายไป ๆ ก็จะได้เจอกลุ่มใหม่ด้วย ซึ่งจริง ๆ ก็วางไว้เป็นสเต็ป 2 ในการทำ ก็คือเป็นกลุ่มจัดเลี้ยง บ๊อกเซ็ต หรือว่าซื้อไปทานมีปริมาณเยอะ ๆ การประชุม หน่วยงานราชการ เอกชนต่าง ๆ ที่เคยสั่งทีละเยอะ ๆ มากสุดก็ประมาณ 400 กล่อง ได้มาจากการสั่งของธนาคารแห่งหนึ่ง


เป้าหมายการพัฒนาต่อไปของแบรนด์ “ข้าวเข่ง” ก็คือ เมนูหลักทั่วไปก็จะมีเพิ่มขึ้นด้วย จานหลัก จานกลาง มีของหวาน-ของว่าง ที่บรรจุอยู่ในเข่ง หลังจากที่ออกไปขายก็เริ่มเกิดการ collabs กับเพื่อนร่วมธุรกิจรายอื่น ๆ อย่างเช่น ขนมไทยของลุงอเนก จากเพชรบุรี อาจจะนำมาแพ็กใส่เข่งหรือขายทั้งแพ็คเก็จเดิมเอามารวมอยู่ในเข่งขาย เช่น 3 อัน 100 เป็นต้น เพื่อให้เป็นไปตามโครงสร้างที่วางไว้แล้วว่า “อาหารไทย สไตล์เบนโตะ” ของทุกอย่างที่อยู่ในเข่งเราผลิตได้ รวมตั้งแต่ของคาว-ของหวาน

“ตอนนี้ของเรามันเป็นอาหารสด เพราะฉะนั้นก็เลยได้กรุงเทพฯ-ปริมณฑลที่ไปส่งได้ แล้วก็อีกอย่างพอเรามีของคาว ของหวาน เราก็ต้องมี “ของฝาก” ซึ่งเราก็เอาน้ำพริกมาบรรจุขวดอันนี้ก็ส่งไปทั่วประเทศแล้ว แต่เราอยากให้คนจำภาพว่า ถ้าเราจะต้องสั่งบ๊อกเซ็ต สั่งเบนโตะ ไม่ว่าจะเป็นข้าวกลางวันหรือข้าวกล่องที่จะไปที่ไหนต่าง ๆ แล้วยังมีความเป็นไทยอยู่ และก็ได้คุณภาพ ก็นึกถึง.. ข้าวเข่งครับ

สอบถามเพิ่มเติมโทร. 098-654-5909



คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ”รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น