xs
xsm
sm
md
lg

สอวช.ปรับการสื่อสารยุคนิวนอร์มัล นำเสนอผลงานรายเดือนในรูปคลิปวิดีโอผ่านแพลตฟอร์มโซเชียล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำร่องสรุปผลงานรายเดือนเพื่อนำเสนอต่อสาธารณะในรูปแบบของคลิปวิดีโอพร้อมคำบรรยายแบบกระชับ เพื่อรายงานความก้าวหน้า การดำเนินโครงการตามแผนงานในรอบปีงบประมาณ 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศยังคงเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19

ผลงานในเดือนมกราคม 2565 ที่ทาง สอวช.ได้สรุปไว้นั้น ประกอบด้วย การจัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการ สอวช. ครั้งที่ 1/2565 โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกับ (อว.) เป็นประธาน โดยมีการเสนอให้มีการจัดตั้งสถาบันพัฒนาที่ยั่งยืน ในพื้นที่ “อุทยานธรณีสตูล” จ.สตูล ทั้งนี้เพื่อต่อยอดเป็นเมืองเศรษฐกิจพิเศษโดยใช้บีซีจีโมเดลในการขับเคลื่อน อีกทั้งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังทำให้เกิดแนวคิด “คนไทยคืนถิ่น” โดยการดึงคนไทยที่มีความรู้ความสามารถกลับมายังถิ่นกำเนิด เพื่อมาสืบสานต่อยอดความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่ของตนเอง ผลักดันเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในระดับพื้นที่ พร้อมเสนอให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ควบคู่กับเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งสอดคล้องกับโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อเข้าหนุนการขับเคลื่อนเป้าหมาย GHG Net Zero 2065 ของประเทศไทย

สอวช.ยังได้นำเสนอถึงเป้าหมายการใช้ อววน.เพื่อหนุนนำการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทุนอารยธรรม เสริมสร้างการพัฒนาเชิงพื้นที่ สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก การต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจดิจิทัล การเสริมสร้างความสุข ความภูมิใจในชุมชน เป็นตาน้ำความคิดสร้างสรรค์แบบไทย รวมถึงการสร้าง Soft Power เพื่อสร้างคุณค่าและความผูกพันต่อแบรนด์ไทยในระดับนานาชาติ


นอกจากนี้ สอวช.ยังได้ลงนามความร่วมมือเพื่อผลิต พัฒนาคนและส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เพื่อร่วมกันส่งเสริมให้ประชาชนในประเทศไทยมีการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น ช่วยลดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และร่วมกันกำหนดเป้าหมายในการสนับสนุนการใช้งานและการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่เน้นพัฒนาทักษะอาชีพของผู้เรียน นำไปสู่การสร้างอาชีพและรายได้ที่เหมาะสมต่อไป รวมถึงร่วมกันส่งเสริมการผลิต และพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า ผ่านการดำเนินการจัดกิจกรรม ประกวด/แข่งขัน การฝึกอบรม การสัมมนาทางวิชาการ ตลอดจนการส่งเสริมการสร้างทักษะด้านยานยนต์ไฟฟ้าของบุคลากรผ่านการปฏิบัติงานในเครือข่ายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งใน และต่างประเทศ

อีกหนึ่งการดำเนินงานสำคัญของ สอวช.คือการร่วมจัดอบรมสัมมนาออนไลน์ “Rethink Together: Co-Creating Circular Economy with Circular Design” ซึ่งเป็นเวทีขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน แลกเปลี่ยนประสบการณ์และการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ ได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy (CE) ว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่เศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยมีการพัฒนาก้าวหน้าไปมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างร่วมมือกันทำงานอย่างเข้มแข็งจนนำไปสู่การรวบรวมข้อมูล ทำเป็นสมุดปกขาว CE Innovation Ecosystem 2030 เพื่อให้เห็นเป็นภาพรวมการทำงานในด้านนี้ที่จะมีระบบเชื่อมโยงกันอย่างครบวงจร และการจัดสัมมนาครั้งนี้จะเป็นจุดสำคัญในการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะโครงการศึกษากระบวนการออกแบบหมุนเวียนที่ สอวช.ผลักดันร่วมกับ GCNT มี CIRCO Hub Thailand เป็นกึ่งแพลตฟอร์มที่จะช่วยสถานประกอบการภาคเอกชนในไทยให้สามารถมีแนวทางและมีกระบวนการในการออกแบบหมุนเวียนสำหรับธุรกิจของตนเองได้ต่อไป

อีกประเด็นที่มีความสำคัญคือ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ได้พิจารณาอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวง อว. กรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ ตามที่สภานโยบายฯ เสนอ โดยได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษา จำนวน 114,634.7682 ล้านบาท ซึ่งใช้หลักการตอบสนองด้านอุปสงค์ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับแผนที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดแนวทางการบริหารงบประมาณ และกรอบวงเงินงบประมาณด้าน ววน. ประจำปีงบประมาณ 2566 จำนวน 29,100 ล้านบาท ซึ่งมีแนวทางการจัดสรรและบริหารงบประมาณเป็นแบบเงินก้อน และต่อเนื่องหลายปี ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก ครม. จำนวนรวมทั้งสิ้น 143,734.7682 ล้านบาท

และในสัปดาห์ถัดมา คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ได้อนุมัติการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา” ซึ่ง ดร.กิติพงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ก็บอกว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีของวงการอุดมศึกษาไทยที่จะเป็นกลไกสำคัญในการปรับบทบาทของระบบการอุดมศึกษาสู่ระบบการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 คณะรัฐมนตรีได้รับทราบรายงานการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปี 2564 ตามที่สภานโยบายฯ เสนอ และมอบให้เสนอต่อรัฐสภาทราบต่อไป โดยรายงานฉบับดังกล่าว นำเสนอในหัวข้อหลักเรื่องการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 สู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม แสดงให้เห็นถึงการใช้ศักยภาพของระบบ อววน.ในการสนับสนุนการแก้ปัญหารองรับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมีสถานการณ์การแพร่ระบาด และความท้าทายเกิดขึ้นในหลายมิติ เช่น ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ปัญหาเศรษฐกิจกระจุกตัว ความเหลื่อมล้ำ กระแสพหุวัฒนธรรม แนวโน้มการลดลงของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น

ปิดท้ายด้วย สอวช. โดยผู้บริหารและพนักงานได้ร่วมสมทบทุนจำนวน 132,000 บาท เพื่อมอบแก่มูลนิธิบ้านนกขมิ้น ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีผู้บริจาคลดลง ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของมูลนิธิทั้งในส่วนค่าอาหาร และค่าเล่าเรียนของเด็กๆ ที่อยู่ในความดูแล นอกจากนี้ สอวช.ยังได้เข้ารับรางวัล “องค์กรคุณธรรมต้นแบบ” จากการประเมินองค์กรคุณธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง อว. โดยคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบผลการประเมินและแนวทางการประกาศยกย่องชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564




กำลังโหลดความคิดเห็น