นายกฯ ประชุมพอใจการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ BCG มุ่งเน้นทำงานเชิงรุก ย้ำ ปี 65 ทุกฝ่ายต้องทำงานสอดประสาน เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ให้ประชาชนมีรายได้ เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
วันนี้ (7 ก.พ.) เวลา 13.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ครั้งที่ 1/2565 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล และผ่านระบบประชุมทางไกล Zoom Meeting ร่วมกับ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินการของคณะกรรมการ BCG ที่ผ่านมาเป็นไปอย่างน่าพอใจ โดยขอให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และทุกฝ่าย บูรณาการขับเคลื่อนการทำงานและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ BCG ร่วมกัน เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อมุ่งหวังไม่เพียงแต่การให้ประเทศไทยมีรายได้ แต่ยังมุ่งเน้นให้ประชาชนคนไทยมีความสุข เพื่อทำให้ปี 2565 เป็นปีที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนโดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอแนะในที่ประชุม ขอให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระที่ลงลึกไปในระดับพื้นที่ รวมทั้งต้องหาวิธีการปลดล็อกในเชิงกฎหมาย ที่จะอำนวยความสะดวกให้เกิดกับการดำเนินนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG ด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนขับเคลื่อนแนวคิด BCG และขอให้ทุกฝ่ายนำแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG ไปประยุกต์ให้เข้ากับกรอบของความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่วาระหลักของการประชุม APEC ซึ่งไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพในปีนี้อีกด้วย เพื่อทำให้เห็นภาพการทำงานของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ติดตามผลลัพธ์ของโมเดล BCG ที่นำมาปรับใช้ ตลอดจนให้สำนักงบประมาณนำเอาแนวคิด BCG ไปเป็นแนวในการจัดสรรงบประมาณอีกด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ปี 2565 นี้ จะต้องเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงโดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการพลิกโฉมประเทศไทย ทำให้ประชาชนมีรายได้ และเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
สำหรับมติที่สำคัญของที่ประชุมฯ มีดังนี้
ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ปี พ.ศ. 2564 โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG Model ให้เป็นรูปธรรมตามแนวทางที่กำหนดในร่างแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 ภายใต้วิสัยทัศน์ “เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ประชาชนมีรายได้ดี คุณภาพชีวิตดี รักษาและฟื้นฟูทรัพยากร จากความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมให้มีคุณภาพที่ดี ด้วยการใช้ความรู้ เทคโนโลยี และ นวัตกรรม” ดังนี้ 1. ภาครัฐปรับแผนและเริ่มขับเคลื่อนแผน BCG ซึ่งกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการปรับแผนงาน จัดทำยุทธศาสตร์ จัดตั้งคณะกรรมการ และจัดทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับ BCG อีกทั้งมีการจัดทำแผน BCG เป็นการเฉพาะ ตลอดจนการปรับแก้กฎหมายและกฎหมายใหม่ 2. การตอบรับนโยบายของภาคเอกชน โดย 9 เดือนแรกของปี 2564 มูลค่าโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงกว่า 128,000 ล้านบาท 3. การขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมของจตุภาคี ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และวิชาการ อาทิ การยกระดับรายได้ของเกษตรกรแบบบูรณาการเชิงพื้นที่โดยนำร่องที่จังหวัดราชบุรี (ราชบุรีโมเดล) เพื่อสร้างเกษตรมูลค่าสูง รวมทั้งการท่องเที่ยวคุณภาพสูง การพัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ก้าวพ้นความยากจน ครอบคลุมพื้นที่ 13 อำเภอ ใน 5 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ สุรินทร์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มีเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง 20,000 คน และมีคนจนในมิติเศรษฐกิจ 2,329 คน ด้วยการนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปพัฒนาทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม ตลอดจนพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ นวัตกรชุมชน เชื่อมโยงการตลาดกับภาคเอกชน รวมถึงยกระดับเกษตรกรเพื่อการเป็นผู้ประกอบการ โดยมุ่งหวังว่าจะลดคนจนในมิติเศรษฐกิจลงได้ร้อยละ 50 ในระยะเวลา 3 ปี รวมถึงการสร้างอาชีพให้กลุ่มเปราะบาง “พัฒนา โครงการ Hygiene Street Food” เพื่อมอบโอกาสการสร้างอาชีพอิสระให้กับผู้เปราะบางใน สังคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้พ้นโทษจากเรือนจำ/ทัณฑสถานหญิง ด้านการท่องเที่ยวก็ยังมี การขับเคลื่อน Happy Model มีการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวแบบ Carbon Neutral 10 เส้นทางใน18 จังหวัด
4. ภาคสังคมขับเคลื่อนงาน BCG โดยมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (เอส โอ เอส) และหน่วยงานพันธมิตร ดำเนินโครงการ “ธนาคารอาหาร” เพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนอาหารช่วงโควิด-19 โดยนำอาหารส่งมอบให้กับประชากรกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาในการเข้าถึงอาหารจำนวน 11 ล้านมื้อ ในพื้นที่ 552 ชุมชน คิดเป็นปริมาณอาหารส่วนเกิน 2,612 ตัน และปริมาณ ก๊าซ CO2 ที่ลดได้ 4,964 ตัน และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 25 ล้านมื้อ ในปี 2570 คาดว่าจะช่วยเหลือผู้ขาดแคลนอาหารได้ 500,000 คน 5. ความคืบหน้าด้านต่างประเทศ ซึ่งนานาประเทศได้ให้ความสนใจโมเดลเศรษฐกิจ BCG ทั้งนี้ มี 7 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา เยอรมนี เดนมาร์ก สหราชอาณาจักร จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอาเซียน โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นมีการลงนาม MOU ระหว่าง สวทช. และ NEDO เพื่อการขับเคลื่อน BCG และ Green Growth Strategy ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 5 นอกจากนี้มีการจัดตั้ง JCC BCG Committee’s Members มี Mr. Take Kato ประธานบริษัท Mitsui & Co, (Thailand) Ltd. เป็นประธานคณะกรรมการ ขณะที่อาเซียน มีการตั้ง ASEAN Network on Bio-Circular- Green Economy เพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สอดคล้องกับ แนวคิด BCG Economy รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี BCG ที่ เหมาะสมระหว่างกัน
ที่ประชุมพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อการบรรลุเป้าหมาย ปี พ.ศ. 2566 โดยเห็นชอบมาตรการเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อน 4 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ 1) การจัดสรรงบประมาณ มอบให้สภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณ พัฒนาแนวทางการจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน BCG ให้สอดคล้องกับแนวทาง มาตรการและโครงการบูรณาการสำคัญที่บรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการ 2) ภาครัฐปรับยุทธศาสตร์บูรณาการ BCG เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่บูรณาการการทำงานในลักษณะจตุภาคีเพื่อพัฒนาโครงการ BCG เชิงพื้นที่โดยให้นำความต้องการของพี่น้องประชาชนเป็นตัวตั้งเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ และสร้างความมั่งคั่งแบบทั่วถึง 3) การสร้างระบบนิเวศเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน มีมาตรการที่เกี่ยวข้องรวม 7 มาตรการ 4) การสนับสนุนภาคประชาสังคม ด้วยการให้การสนับสนุนการจัดตั้ง National Food Bank การจัดตั้งเครือข่ายผู้ประกอบการผลิตอาหาร การให้ภาคเอกชนร่วมกันพัฒนาระบบสนับสนุนต่างๆ เช่น ระบบ Logistics และระบบบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน รวมถึงปรับกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนการบริจาคอาหารส่วนเกินในลักษณะเดียวกับ พ.ร.บ. บริจาคอาหารของประเทศเกาหลีใต้