xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) “เนื้อแคมป์ไฟ” เจ้าของร้านอาหารวัยเพียง 11 ปี “น้องฟิจิ” สานฝัน เวที “มาสเตอร์เชฟจูเนียร์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เส้นทางสร้างธุรกิจ อายุจะไม่ได้เป็นตัวกำหนดอีกต่อไป เพราะครั้งนี้ เด็กน้อยอายุเพียงแค่ 11 ปี เป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหารได้ วันนี้ เราจะพามารู้จักกับเชฟตัวน้อย ที่อายุน้อยที่สุดในการประกวดมาสเตอร์เชฟไทยแลนด์จูเนียร์ ด้วยวัยเพียง 8 ปี “น้องฟิจิ” “กฤตภาส ศิริพงศ์ปรีดา” เจ้าของธุรกิจ เนื้อแคมป์ไฟ


หนุ่มน้อยวัย 11 ปี บทบาทเชฟเจ้าของร้านอาหาร

กฤตภาส (ฟิจิ) เล่าว่า ที่มาของกิจการเนื้อแคมป์ไฟ เกิดขึ้นมาจากความฝันของผมที่ต้องการจะมีร้านอาหาร ในระหว่างการเข้าประกวดมาสเตอร์เชฟไทยแลนด์ จูเนียร์ ซีซั่น 2 ทางคณะกรรมถามผมว่าความฝันของผมโตขึ้นอยากทำอะไร ผมบอกไปว่า ผมอยากจะเป็นเจ้าของร้านอาหาร และพ่อ “นายมณเฑียร ศิริพงศ์ปรีดา” และแม่ “ปฑิตตา เอมโอช” ก็สานฝันของผมให้เป็นจริง ในช่วงโควิดทำให้เราได้อยู่ด้วยกันมากขึ้น และได้มีโอกาสพูดคุยกันมากขึ้น ความฝันในการทำร้านของผมก็เลยมาเร็วกว่าที่กำหนด

โดยพ่อกับแม่ และผมได้ช่วยกันคิดว่า จะทำกิจการร้านอาหารออกมาในรูปแบบไหน สรุปจบลงตรงที่เนื้อ เพราะเป็นสิ่งที่ผม และครอบครัวชื่นชอบรับประทาน ในช่วงเริ่มต้นทำเป็นเนื้อย่างเสียบไม้ ส่งขายออนไลน์ แต่มันก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะการซื้อเนื้อไปย่างเองมันไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีเตาย่าง และจะย่างอย่างไรให้อร่อย ทุกอย่างเป็นเหตุผลที่ทำให้ ผมและครอบครัว คิดว่า ทำให้เนื้อเสียบไม้เรายอดขายยังไม่ดีเท่าที่ควร ช่องทางออนไลน์ และเป็นที่มาของการมาเปิด ร้านเนื้อแคมป์ไฟ โดยพ่อตัดสินใจยอมลาออกจากงานประจำทิ้งงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เงินเดือนหลายหมื่นบาท เพื่อมาสานฝันครั้งนี้ให้กับผม จนได้มาเป็นร้านเนื้อแคมป์ไฟ ถนนสุขุมวิท 23 กรุงเทพฯ



“หลังจากที่ครอบครัวได้มีการพูดคุยและตกลงกันที่จะเปิดร้านแห่งนี้ ขึ้นมา ตอนนั้นเมื่อประมาณ กันยายน 2020 ช่วงนั้นยังทำออนไลน์อยู่ และเริ่มเปิดร้านที่สุขุมวิท เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ซึ่งตอนเปิดร้านไม่มีความรู้เรื่องของการทำร้านอาหารกันเลย ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจะได้รับการตอบรับมากน้อยแค่ไหน ตอนนี้ ผ่านมากว่า 6 เดือนผลตอบรับก็ถือว่าดีในช่วงเริ่มต้น ซึ่งผมเองทำทุกอย่างภายในร้านได้เช่นเดียวกับ พ่อ กับแม่ ไม่ว่าจะเป็นออกไปจ่ายตลาด การเลือกวัตถุดิบ และเข้าครัวเป็นเชฟทำอาหาร ในช่วงเดือนแรก ผมมาร้านทุกวัน เพราะเป็นช่วงปิดเทอม ผมต้องอยู่หน้าเตาเพื่อทำอาหารตามออร์เดอร์ที่ลูกค้าสั่งเข้ามาจากทางหน้าร้าน โดยมีคุณแม่คอยเป็นผู้ช่วย แม้ว่าจะเหนื่อย แต่ผมรู้สึกว่า มันก็สนุกดีและได้เงินด้วย เงินที่ได้ พ่อจะแบ่งเงินเท่าๆ กัน คือ ผม แม่ และพ่อ” ฟิจิ กล่าว

หลายครั้งที่ลูกค้าเข้ามา ต้องการกินฝีมือของเชฟตัวน้อย เขาก็ต้องตั้งใจทำเป็นพิเศษ แต่อย่างไรก็ดี ด้วยความเป็นเด็ก “เชฟฟิจิ” ก็มีหมดแรงและรู้สึกเหนื่อยบ้าง แต่ก็ไม่แสดงอาการเหมือนกับเด็กให้พ่อกับแม่เห็นเลย เพราะเขามีความเป็นผู้ใหญ่มาก แต่ คุณพ่อมณเฑียร บอกว่า ลูกไม่เคยบ่น แต่เมื่อไหร่ที่ลูกรู้สึกเหนื่อยพ่อก็จะให้เขาพัก และพอเขาให้หายเหนื่อยเขาก็จะกลับมาทำงานต่อ ฟิจิ เป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบสูง ไม่ได้แค่ทำอาหารในครัวได้ แต่เขาสามารถทำทุกอย่างได้ เช่นเดียวกับ พ่อ กับแม่ การคิดสูตรอาหารต่างๆ เขาก็ช่วยกันคิดในครอบครัว เพราะด้วยฟิจิ เด็กเกินไป รสชาติที่เขาทำก็อาจจะเป็นรสชาติแบบเด็กๆ ซึ่งตรงนี้ พ่อ กับแม่ก็ต้องเข้ามาช่วย


ทำไมพ่อถึงทิ้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการสานฝันให้ลูก

มณเฑียร เล่าว่า การตัดสินใจลาออกจากงานทิ้งตำแหน่งที่สำคัญนี้ ไม่รู้สึกว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดแม้ว่าจะยังไม่ได้มีรายได้เท่ากับเงินเดือนประจำ แต่สิ่งที่ได้คือ การที่ได้อยู่กับครอบครัวในอดีตทำงานบริษัทผมได้มีโอกาสเจอลูกและสอนเขาน้อยมาก และเราเอาเวลาแทบทั้งหมดไปทุ่มเทให้กับการทำงาน ในขณะที่ลูกก็ต้องการเราเช่นกัน ผมก็เลยตัดสินใจลาออกมาลุยธุรกิจครอบครัว การได้ทำงานด้วยกัน พ่อ แม่ลูก ทำให้เรามีเวลาพูดคุย และได้สอนเขาหลายเรื่อง จนวันนี้ ผมเกิดเป็นอะไร ผมก็สบายใจแล้ว เพราะลูกสามารถอยู่และดูแลตัวเองได้

สำหรับสิ่งที่ เราสองคนรู้สึกภูมิใจในตัวลูก อย่างหนึ่งคือ ความมุ่งมั่นและตั้งใจ แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันมาสเตอร์เชฟจูเนียร์ ซีซั่น 2 แต่ด้วยใจรักในการทำอาหาร ทำให้ฟิจิยังคงมุมานะ เรียนรู้ในการทำอาหาร เพื่อที่จะเป็นเชฟต่อไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ครอบครัวนั่งคุยกัน และเกิดความฝันที่อยากจะทำธุรกิจร่วมกัน เป็นที่มาของการเปิดร้านอาหารเนื้อแคมป์ไฟในครั้งนี้

“สำหรับผม การทำงานกับคุณพ่อคุณแม่ มันก็เหมือนทำงานกลุ่มครับ แต่เป็นการทำงานที่จริงจัง และผมก็มีความสุขที่ได้อยู่กับคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น” ฟิจิกล่าว


ที่มาของ เนื้อแคมป์ไฟ

ทั้งนี้ ด้วยแรงสนับสนุนจากคุณพ่อคุณแม่ ที่เคารพในความฝัน จึงยกการตัดสินใจ และทิศทางของร้านให้เป็นหน้าที่ของ “ฟิจิ” หนุ่มน้อยในการเสนอความคิดต่างๆ ก่อน ที่จะลงคะแนนเสียงกัน เพื่อให้ได้ความคิดที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นตัวอาหารที่เป็นจุดขายอย่าง เนื้อเต๋า ก็มาจากไอเดียของ “ฟิจิ” ที่ว่า ในเมื่อครอบครัวเราชอบกินเนื้อ ทำไมถึงไม่เปิดร้านอาหารที่มีเนื้อเป็นวัตถุดิบตั้งต้น นอกจากนี้คอนเซ็ปท์ของร้านก็มาจากตัว “ฟิจิ” เอง ที่จับจุดเทรนด์แคมป์ปิ้ง จนกลายเป็นชื่อร้านเนื้อแคมป์ไฟ และต่อยอดกลายเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อเสียบไม้

มณเฑียร บอกว่า กว่าจะได้เนื้อเสียบไม้ ไม่ใช่ง่าย เราก็ลองผิดลองถูกกันอยู่สักพักหนึ่ง กว่าจะได้สูตรที่เราคิดว่า ดีที่สุดก่อนจะนำออกมาขาย หรือ อย่างเมนูยอดนิยม ข้าวเนื้อเต๋าพริกเกลือ ของ ร้านเนื้อแคมป์ไฟ ซึ่งเป็นเมนูที่ครอบครัวเราชื่นชอบและทำกินกันเองภายในครอบครัวบ่อยๆ สิ่งที่เราเลือกมาขายเป็นสิ่งที่เราชอบและนำมาต่อยอด เพราะเชื่อว่า ถ้าเราเริ่มทำจากสิ่งเล็กๆ ที่เราชอบ เราก็จะประสบความสำเร็จได้ และสิ่งสำคัญที่เราเชื่อว่า ฟิจิ จะได้จากการทำร้านอาหาร คือ การได้เรียนรู้ไม่ใช่แค่การทำอาหาร เขาจะได้เรียนรู้เรื่องของงานบริการ เรื่องของคน ที่เขาจะได้พบคนหน้าใหม่ๆ ทุกๆ วัน

“เมื่อพูดถึงเนื้อเต๋า หลายๆ คนอาจจะมีความคิดว่า เนื้อที่นำมาใช้เป็นเศษเนื้อรึป่าว แต่เนื้อที่ใช้ในร้านทุกเมนูเป็นเนื้อพรีเมียม ที่นำทั้งชิ้นมาหั่นเป็นเต๋า และตัวฟิจิเองก็คิดสูตรต่างๆ เอง โดยก่อนจะเปิดร้านอย่างเป็นทางการ ก็มีการเทสต์สูตรต่างๆ เพื่อให้รสชาติตรงใจกับผู้บริโภคมากที่สุด ซึ่งถึงแม้ว่าเนื้อเต๋าจะเป็นดาวเด่นของร้าน แต่หากไม่ทานเนื้อ ก็สามารถเลือกปรับเปลี่ยนเป็นเนื้อหมู หรือเนื้อไก่ในเมนูต่างๆ ได้ โดยมีทั้งเมนูเบาๆ รวมไปถึงเมนูอิ่มจุกๆ ที่เหมาะสำหรับทุกเพศ ทุกวัย” มณเฑียร กล่าว


เริ่มทำอาหารเข้าครัวตั้งแต่อายุ 2 ขวบ

“ฟิจิ” เล่าว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาสนใจ ทำอาหารเกิดขึ้นตั้งแต่อายุได้ 2 ขวบ เริ่มช่วยแม่หยิบจับและเรียนรู้การทำอาหารจากแม่ และได้ลงมือทำอาหาร เมื่อตอนอายุ 3 ขวบ และเมนูที่ทำเองคนเดียวโดยไม่ต้องมีแม่ช่วยเกิดขึ้นเมื่อเขาอายุ 3 ขวบ กับเมนูผักโขมอบชีส และก็ยังมีเมนูง่ายอย่างข้าวผัด ผัดผัก ฯลฯ

สำหรับการทำธุรกิจเนื้อแคมป์ไฟ ในครั้งนี้ ฟิจิ เล่าว่า เรามีแผนที่จะขยายธุรกิจ โดยการเปิดร้านเนื้อย่างเสียบไม้ ในห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ หรือ การขยายสาขาร้านเนื้อแคมป์ไฟ แต่เรายังไม่แผนที่จะขยายในรูปแบบของแฟรนไชส์ จะเป็นการขยายสาขาเองก่อน ฟิจิ บอกว่า ในช่วงนี้ เขาได้แบ่งเวลา การทำงานกับการเรียนชัดเจน ตอนนี้เปิดเทอมก็จะไปเรียนตามปกติ และมาช่วยที่ร้านวันหยุด เสาร์ อาทิตย์

ท้ายสุดนี้ มณเฑียร ยังได้ฝากข้อคิดในการเลี้ยงลูก ว่า ที่ผ่านมาผมได้ให้อิสระในความคิดของลูก ลูกชอบอะไร ก็ให้เขาได้แสดงศักยภาพให้เต็มที ผลจะออกมาอย่างไร เป็นเรื่องของอนาคต พ่อ แม่มีหน้าที่ในการสนับสนุนและอยู่เบื้องหลัง และสิ่งสำคัญ คือ การให้ลูกได้รู้จักที่จะเรียนรู้และยอมรับความผิดพลาด หรือ ผิดหวังบ้าง เพราะในชีวิตจริงที่ต้องเดินต่อไป ข้างหน้า สิ่งที่เขาจะต้องเจอแน่ๆ คือ ความผิดพลาด หรือ ผิดหวัง ถ้าเขาได้เจอตั้งแต่ตอนที่มีพ่อ แม่อยู่ด้วยซึ่งจะดีกว่าไปที่เขาจะไปเจอลำพังในวันที่ไม่มีเรา




คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ”รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น