xs
xsm
sm
md
lg

“แหม่ม ซาลาเปา” ออกแบบซาลาเปา“ของไหว้มงคล” ออร์เดอร์ล้น รับเทศกาลตรุษจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กนกลักษณ์ ศรีลา
เทศกาลตรุษจีน ในปี 2565 คนไทยเชื้อสายจีน ได้รับผลกระทบจากราคาของไหว้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาเนื้อสัตว์ อย่างหมู ไก่ ปลา ผัก และผลไม้ ต่างก็พาเหรดปรับราคาขึ้น ทำให้หลายคนอาจจะต้องหันไปพึ่ง ของไหว้ที่พอจะทดแทนกันได้


“ซาลาเปา” หนึ่งใน 8 อย่างของไหว้มงคลวันตรุษจีน

ในช่วงที่ผ่านมา หลายสื่อมีการนำเสนอ เรื่องราวของ “วุ้นกะทิ” ที่ทำออกมาเลียนแบบของไหว้ เช่น วุ้นกะทิรูป หัวหมู ไก่ ผลไม้ หรือแม้แต่ขนมเข่ง ขนมเทียน ถูกรังสรรค์ขึ้นมาจากวุ้นกะทิ เพื่อเป็นทางเลือกให้คนไทยเชื้อสายจีนที่เป็นคนรุ่นใหม่ ไม่ยึดติดหรือ เคร่งครัดกับวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน พอดูเงินในกระเป๋าก็อาจจะหันมาซื้อวุ้นกะทิทำเลียนแบบมาใช้เป็นของไหว้แทนไปก่อน


อย่างไรก็ดี ของไหว้มงคล ที่อยู่ในกลุ่มของไหว้มงคล 8 อย่าง ที่คนไทยเชื้อสายจีนต้องมีในช่วงเทศกาลตรุษจีน นั่นคือ ซาลาเปา และทำไมซาลาเปา ถึงได้ถูกจัดอยู่ในของไหว้มงคล 8 อย่าง ซึ่งจากความหมายของซาลาเปา มีความหมายอันเป็นมงคล เกิดจากการเล่นคำ คำว่า “เปา” ภาษาจีนแปลว่า “ห่อ” ซาลาเปา หมายถึง การห่อเงิน ห่อทองมาให้ลูกหลาน ด้วยเหตุนี้เอง ซาลาเปาจึงได้จัดอยู่ในของไหว้มงคลเทศกาลตรุษจีน

และซาลาเปาที่นำเสนอให้รู้จักในวันนี้ มีจุดขายตรงที่เจ้าของ “นางสาวกนกลักษณ์ ศรีลา” หรือ “โรส” เจ้าของ “แหม่ม ซาลาเปาลาวา” ได้ออกแบบซาลาเปาให้ออกมาในรูปแบบของมงคล ต้อนรับเทศกาลตรุษจีน เช่น ถุงทอง (ชุดร่ำรวยเงินทอง) มังกร (เสริมอำนาจบารมี) เหรียญทอง (หมั่นโถว) หรือ เสริมปีนักษัตร ซาลาเปารูปเสือ และยังมีซาลาเปารูปผลไม้ เช่น ส้มมงคล ทับทิมมงคล และของมงคลที่ขาดไม่ได้ในช่วงเทศกาลตรุษจีน นั่นคือ ซิ่วท้อ เป็นซาลาเปาชนิดหนึ่งที่ปั้นเลียนแบบลูกท้อ โดยความหมายของคำว่า “ซิ่ว” ภาษาจีน มีความหมายว่า อายุยืน ขนมซิ่วท้อ จึงตีความหมายได้ว่าเป็นขนมรูปท้อที่ทำให้อายุยืน


“ แหม่มซาลาเปา” ยอดขายตรุษจีนมากกว่า 2 หมื่นลูก

นางสาวกนกลักษณ์ (โรส) เล่าว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ทาง แหม่มซาลาเปาลาวา จะออกแบบ ซาลาเปาเพื่อให้เข้ากับเทศกาลมาอย่างต่อเนื่อง และปีนี้ มีความพิเศษ ได้เพิ่มรูปแบบซาลาเปาที่เป็นชุดของไหว้ ของมงคล เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกมากขึ้น โดยปี 2565 ทำซาลาเปาออกมาขายในช่วงเทศกาลตรุษจีน ทั้งหมด 10 ชุด ประกอบด้วย ชุดร่ำรวยปีเสือ ชุดไหว้มงคล ชุดอำนาจบารมี ชุดมั่งคั่งร่ำรวย ชุดมหามงคล ชุดผิงอัน ฟาไฉ ชุดทับทิมมงคล ชุดส้มมงคล ชุดผลไม้สวรรค์ ชุดครอบครัวร่ำรวย มีสุข โดยราคาเริ่มต้น ที่ 199 บาท ไปจนถึงหลักพันบาท


สำหรับยอดขายซาลาเปา ของร้านแหม่มซาลาเปาลาวา “คุณโรส” บอกว่า เพิ่มขึ้นทุกปี ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด ในช่วงปี 2564 ยอดขายเพิ่มเท่าตัว เพราะหลายคนออกไปจับจ่ายใช้สอยข้างนอกไม่ได้ เขาก็จะสั่งทางออนไลน์ ในปีที่ผ่านมา ช่วงเทศกาลมียอดขาย เพียงแค่ 2 สัปดาห์ ในช่วงเทศกาลตรุษจีน มียอดขายมากกว่า 20,000 ลูก ส่วนในปีนี้ หลังจากได้นำรูปชุดซาลาเปา แนะนำทางเพจ และทางแพลตฟอร์มชื่อดัง มีคนสนใจสั่งจองเข้ามาเป็นจำนวนมากจนทำไม่ทัน บางชุดก็ต้องหยุดรับสั่งจองไปก่อน

โดยคาดว่าปีนี้ 2565 น่าจะขายได้มากกว่าปี 2564 เพราะด้วยสื่อที่มาทำข่าว ทำให้คนรู้จักมากขึ้น ประกอบกับ ทางร้านไม่ได้ขึ้นราคา เป็นทางเลือกสำหรับคนที่กำลังมองหาของไหว้ ที่ไม่ต้องใช้เงินมาก เพราะปีนี้ ของไหว้ หมู เป็ด ไก่ และผลไม้ ราคาแพงและซาลาเปา ก็เป็นของมงคล อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้คนไทยเชื้อสายจีน หันมาเลือกซาลาเปา แทนการไหว้หรือมอบให้กันแทนผลไม้ก็เป็นได้


ที่มาของ “แหม่ม ซาลาเปา”

จุดเริ่มต้นของ “แหม่มซาลาเปา” “คุณโรส” เล่าว่า ครอบครัวของเธอเป็นคนนครสวรรค์ ทำอาชีพบรรจุขนมส่งขายให้กับพ่อค้า แม่ค้าที่ตลาด เช่น แฮมเบอร์เกอร์ สลัดโรล ฯลฯ ส่วนแม่ย่างหมูสเต๊ะขาย ส่วนที่มาของการมาทำซาลาเปา เกิดขึ้นมาจาก น้องสาวเรียนด้านคหกรรม และได้ทำซาลาเปาไส้ลาวามาให้ชิม และด้วยความที่เราเป็นคนต่างจังหวัดก็ไม่รู้จักว่า ไส้ลาวาเป็นอย่างไร แต่เมื่อได้ชิมทุกคนก็ชื่นชอบ ก็เลยลองทำกินกันภายในครอบครัว ก่อนตัดสินใจเปิดขายไปพร้อมๆ กัน ส่วนที่มาของ ชื่อว่า แหม่มซาลาเปาลาวา เพราะ “แหม่ม” เป็นชื่อของน้องสาวที่เขานำสูตรซาลาเปาลาวา มาให้พวกเราได้รู้จัก และทำขายมาจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม ทำไมซาลาเปาของ “แหม่มซาลาเปาลาวา” ถึงมีรูปร่างหน้าตา ที่แตกต่างจากซาลาเปาก้อนกลมๆ ที่ขายตามท้องตลาด ทั้งนี้ “คุณโรส” บอกว่า ที่หน้าตาซาลาเปาของเธอแตกต่างจากคนอื่นๆ เพราะเป็นความชอบส่วนตัว โดยส่วนตัวชื่นชอบงานศิลปะ แม้จะไม่ได้เรียนจบมาทางด้านศิลปะก็ตาม แต่ก็อาศัยความชอบส่วนตัวออกแบบซาลาเปาออกมาเป็นหน้าการ์ตูน หรือ ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ทำออกมาเป็นผลไม้มงคล ปีนักษัตร มังกร รูปอาหมวย อาตี๋ ฯลฯ จนสร้างจุดขายที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ทำให้วันนี้ แหม่มซาลาเปาลาวา เป็นที่รู้จักทั่วประเทศภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว และปัจจุบัน มีสาขาแฟรนไชส์อยู่ทั่วประเทศไทยหลายร้อยสาขา


“กนกลักษณ์” เล่าว่า ตอนเริ่มทำซาลาเปาขาย ตอนนั้นไม่คิดว่าจะต่อยอดจนกลายเป็นอาชีพหลัก หรือต่อยอดสร้างธุรกิจได้ถึงขนาดนี้ ในช่วงแรกๆ ทำขายเพื่อนตนเอง และเพื่อนของน้องๆ และญาติๆ จากนั้น ก็มีคนถามหาไส้หมูแดง หมูสับเข้ามา เพราะตอนแรกทำขายเฉพาะซาลาเปาลาวา พอมีคนถามหาไส้หมูแดง หมูสับ จึงได้ขอสูตรจากญาติผู้ใหญ่ที่นับถือ ซึ่งเคยทำซาลาเปาขายที่นครสวรรค์ เมื่อ 50 ปีก่อน ทุกวันนี้ ก็เลยมีทั้งซาลาเปาลาวา และซาลาเปาไส้ต่างๆ เหมือนที่ขายทั่วไปตามท้องตลาด

“ส่วนการออกแบบซาลาเปาเป็นรูปต่างๆ เริ่มจากความคิดแรก คือ ในเมื่อเรามีสูตรซาลาเปาแบบดั้งเดิมสืบทอดมากว่า 50 ปี และมีสูตรซาลาเปาไส้ลาวาที่โดดเด่น ทำอย่างไรให้คนได้ชิมซาลาเปาของเรา ก็เลยสร้างจุดขายจากหน้าตาของซาลาเปาก่อน พอได้บวกกับรสชาติ ทำให้ซาลาเปาของเราได้รับการตอบรับจากลูกค้าได้ไม่ยาก เพราะเราอยากมอบทั้งคุณค่าและรสชาติอร่อยให้แก่ลูกค้า ที่สำคัญอยากให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจตั้งแต่แรกเห็น แค่นี้ คนทำก็มีความสุขแล้ว”


แจ้งเกิด “แหม่มซาลาเปา” จากงานตรุษจีนนครสวรรค์

“กนกลักษณ์” เล่าว่า การแจ้งเกิดของแหม่ม ซาลาเปาลาวา เกิดขึ้นมาพร้อมกับเทศกาลตรุษจีน เพราะในช่วงที่เริ่มทำตลาดใหม่ ไม่ได้เป็นที่รู้จัก แต่หลังจากนั้นได้ไปร่วมออกร้านในงานตรุษจีนนครสวรรค์ ซึ่งถือเป็นงานใหญ่ของจังหวัด งานนี้เลยจัดเต็มโชว์บูทสวยงามอลังการเป็นพิเศษ แต่งหน้าซาลาเปาเป็นรูปอาตี๋ อาหมวย ลงทุนจัดบูทหมดเงินไป 80,000 บาท แต่ก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะมีลูกค้าแวะเวียนมาซื้อซาลาเปาของเราเป็นจำนวนมาก เปิดขาย 5 โมงเย็น ถึง 3 ทุ่ม มียอดขายแต่ละวันอยู่ที่ 800 ลูก เรียกว่าปั้นกันเมื่อย เพราะตอนนั้นยังปั้นกันเอง หลังจากนั้น ได้มีโอกาสโปรโมทซาลาเปาลาวาผ่านเคเบิ้ลทีวีช่องหนึ่ง ทำให้คนรู้จักมากขึ้น ทั้งใน จ.นครสวรรค์ และพื้นที่ใกล้เคียง หลังจากนั้นยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากวันละ 500 ลูกเป็นวันละ 1,000 ลูก และเพิ่มขึ้นเรื่อยไปสูงสุดอยู่ที่วันละ 10,000ลูก


พอเปิดขายมาได้ปีกว่า มีลูกค้ามาชักชวนให้ทำแฟรนไชส์ เพราะอยากจะซื้อแบรนด์ไปลงทุน เมื่อลูกค้ามีความต้องการเช่นนั้น ซึ่ง “คุณโรส” มีความต้องการที่จะขยายโอกาสทางธุรกิจเพิ่มอยู่ เธอจึงได้ไปเรียนสร้างธุรกิจแฟรนไชส์ ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นเวลา 5 เดือน ซึ่งหลังจากเรียนจบได้มาขยายธุรกิจแหม่มซาลาเปาลาวาในรูปแบบของแฟรนไชส์ ปัจจุบันเธอได้ขยายแฟรนไชส์ไปแล้วหลายร้อยสาขา ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

ติดต่อ FB: แหม่ม ซาลาเปาลาวา


คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น