องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ส่งเสริมและผลักดันงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจให้แก่ชุมชนท้องถิ่นภาคอีสาน ในการร่วมกันอนุรักษ์และเห็นคุณค่าทรัพยากรท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น สร้างการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น พร้อมเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนนำไปสู่การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และสิ่งแวดล้อม ชูเป็นโมเดลสำคัญสู่ท้องถิ่นและประเทศอย่างยั่งยืน
อพวช.นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่พร้อมสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่สังคม อีกหนึ่งภารกิจสำคัญคือการเป็นศูนย์กลางของการศึกษาวิจัย รวบรวมวัสดุอุเทศ เผยแพร่ความรู้และจัดแสดงนิทรรศการด้านธรรมชาติวิทยาและความหลากหลายทางชีวภาพอันดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งมีนักวิจัยเฉพาะด้านที่มีความเชี่ยวชาญและหลากหลายทั้งด้านพืชและสัตว์ ซึ่งในทุกๆ ปีนั้นนักวิจัยจะออกสำรวจเพื่อศึกษาความหลากหลายและเก็บตัวอย่างมาสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ และถ่ายทอดไปสู่สังคม ซึ่งในระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา อพวช.ได้ดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพโดยเหล่านักธรรมชาติวิทยามาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมา อพวช.ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ มากมาย และสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จ.นครราชสีมา ก็ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ทำงานร่วมกับ อพวช.มาอย่างดีต่อเนื่องและยาวนาน ล่าสุดได้พานักข่าวเยี่ยมชมสถานีวิจัยฯ สะแกราช เรียนรู้เส้นทางธรรมชาติ โดยมี นายสุรชิต แวงโสธรณ์ ผอ.สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับสถานีวิจัยฯ สะแกราช
ในอดีต นักวิชาการของ อพวช.ได้ทำงานร่วมกับสถานีวิจัยฯ สะแกราช และคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เคยค้นพบมดชนิดใหม่ของโลก พร้อมตั้งชื่อว่า “มดอาจารย์รวิน” โดยเราได้ค้นพบเจอที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จ.นครราชสีมา ซึ่งการค้นพบครั้งนี้นับเป็นสมบัติอันมีค่าของประเทศ มดสายพันธุ์ใหม่ของโลกชนิดนี้มีชื่อเต็มคือ Myrmecina raviwongsei Jaitrong, Samung, Waengsothorn et Okido โดยมดชนิดนี้ถูกจัดให้เป็นมดชนิดใหม่ของโลก ในเดือนมิถุนายน 2562 พร้อมถูกตั้งชื่อว่า “มดอาจารย์รวิน” ตามชื่อของ ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ อพวช. เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ท่านในฐานะที่ท่านเป็นผู้บริหารของ อพวช. ที่ให้การสนับสนุนและผลักดันการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมดตัวนี้สามารถบ่งชี้ถึงดัชนีของความอุดมสมบูรณ์บนผืนป่าในประเทศไทยที่ยังมีอยู่อีกด้วย
ด้านนักวิชาการของ อพวช. ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง นักวิชาการ 8 กองวิชาการสัตววิทยา สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. ผู้อยู่เบื้องหลังงานวิจัยที่สร้างผลงานโดดเด่นอย่างการค้นพบมดชนิดใหม่ของโลกมามากมาย รวมถึง “มดอาจารย์รวิน” ได้เผยว่า “ทีมนักวิจัยของ อพวช.ได้ทุ่มเทในการศึกษาวิจัยงานด้านธรรมชาติวิทยาและความหลากหลายทางชีวภาพมาอย่างจริงจัง ซึ่งมีเป้าหมายและแนวความคิดในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาใช้พัฒนา ต่อยอด และถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ไปยังประชาชนในสังคม หวังจะสร้างสังคมให้มีความตระหนักและเข้าใจการอยู่ร่วมกันของคนและธรรมชาติ ต้องรู้จักอาศัยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ในการร่วมกันอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรของประเทศให้คงอยู่ได้อย่างยาวนาน ที่สำคัญยังมีสิ่งมีชีวิตอีกมากมายหลายชนิดที่เรายังไม่รู้จัก และกำลังจะสูญพันธุ์ไปก่อนที่เราจะค้นพบ สืบเนื่องจากการที่ถิ่นอาศัยถูกคุกคามโดยกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ดังนั้น ก่อนที่พืชหรือสัตว์เหล่านี้จะสูญหายไป เราจำเป็นต้องช่วยกันศึกษาและรักษาทรัพยากรธรรมชาติของเราอย่างจริงจัง และงานวิจัยเหล่านี้จะสามารถเป็นจุดเปลี่ยนให้แก่เยาวชน และประชาชนได้หันมาสนใจเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม และถือเป็นก้าวเล็กๆ ให้คนหันกลับมามองเห็นคุณค่าของทรัพยากรท้องถิ่นกันมากยิ่งขึ้น”
นักวิชาการของ อพวช.ถือเป็นฟันเฟืองที่สำคัญของประเทศ ที่จะขับเคลื่อนสังคมท้องถิ่น และประเทศ จากการนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยไปสร้างคุณค่าให้แก่สังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี ไม่ใช่เป็นแค่เพียงจุดเปลี่ยนของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนในสังคมเท่านั้น งานวิจัยยังสามารถต่อยอดและพัฒนาเป็นการสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ โดยเกิดจากการนำงานวิจัยและนวัตกรรมมาพัฒนาหรือการปรับปรุงเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนท้องถิ่น ถือเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้แก่เศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยใช้งานวิจัยเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งและศักยภาพพร้อมเป็นโมเดลสำคัญสู่ความยั่งยืนของประเทศ
สำหรับ อพวช.เรายังคงมุ่งมั่นและผลักดันการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพในด้านต่างๆ ทั้งการศึกษาวิจัย การสำรวจ และเก็บรวบรวมตัวอย่างอ้างอิง รวมถึงองค์ความรู้ด้านธรรมชาติวิทยา พร้อมเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัย รวบรวมวัสดุอุเทศ เผยแพร่ความรู้และจัดแสดงนิทรรศการด้านธรรมชาติวิทยาของประเทศไทยต่อไป เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผู้คนในสังคม เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม ว่ามีความสำคัญต่อการอาศัยอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และการคงอยู่ของโลกเราอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต