xs
xsm
sm
md
lg

ได้กำไรสูง! “เลี้ยงหอยแครงระบบปิดด้วยแพลงตอนพืช” ไร้กังวลสภาพอากาศ ป้อนตลาดได้ไม่ขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หอยแครง” หอยชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในการนำมาประกอบเป็นเมนูอาหารต่างๆ ที่มีขายตั้งแต่ร้านธรรมดาๆ ทั่วไป ไปจนถึงร้านอาหารชื่อดัง ทำให้หอยชนิดนี้เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก แต่ด้วยปัจจุบันการเลี้ยงหอยแครงในธรรมชาตินั้นต้องประสบกับปัญหาสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่มีการแปรปรวน ทำให้การเลี้ยงหอยแครงมีความยากและมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดยในบางครั้งอาจทำให้ผู้เลี้ยงต้องสูญเสียหอยแครงไปทั้งฟาร์ม ทำให้ขาดทุน และไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด

นายวรเดช เขียวเจริญ เจ้าของ “วรเดชฟาร์ม” จังหวัดสมุทรสงคราม
ด้วยเหตุนี้ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา จึงได้มีการคิดวิธี “การเลี้ยงหอยแครงระบบปิดด้วยแพลงตอนพืช” และร่วมมือกับเกษตรกรผู้เลี้ยงหอยแครงในเขตพื้นที่ คลองโคน จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงหอยแครงที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์เกษตรกรผู้เลี้ยงหอยแครง ในการช่วยลดความเสี่ยงจากปัจจัยทางธรรมชาติ สามารถได้กำไร และป้อนความต้องการหอยแครงในท้องตลาดได้อย่างเพียงพอ


นายวรเดช เขียวเจริญ เจ้าของ “วรเดชฟาร์ม” จังหวัดสมุทรสงคราม เล่าว่า ปัจจุบันในท้องตลาดมีความต้องการหอยแครงเป็นจำนวนมาก เพราะได้รับความนิยมในการนำไปทำเป็นเมนูอาหารชนิดต่างๆ โดยราคาในปัจจุบันจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 160 – 185 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูง เพราะหากนำมาปรุงเป็นอาหารเมนูต่างๆ แล้ว ราคาก็จะสูงขึ้นไปอีก อีกทั้งในบางฤดูกาลราคาหอยอาจสูงถึง 200 กว่าบาท / กิโลกรัม สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้หอยราคาสูงนั้นมาจาก การนำเข้าลูกหอยแครงจากต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการเพราะพันธุ์หอยแครง ทำให้ผู้เลี้ยงมีต้นทุนที่สูง อีกทั้งในช่วงระยะเวลาระหว่างเพราะเลี้ยงเพื่อให้ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการ ก็ยังต้องพบกับความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ จากสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม จึงทำให้หอยแครงกลายเป็นหอยที่มีราคาสูงตามไปด้วย


“ในอดีตจะรับลูกหอยแครงมาจาก พม่า มาเลเซีย แล้วนำมาปล่อยและเพาะเลี้ยงในแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นปากคลองโคน ด้วยกระแสน้ำขึ้นน้ำลงจะนำพาสารอาหารให้หอยแครงได้เติบโต จนกระทั่งมีขนาดตามที่ต้องการจึงเก็บไปขาย แต่ด้วยปัจจุบันสภาพอากาศมีความผันผวน และสิ่งแวดล้อมมีความเสื่อมโทรมทำให้การเลี้ยงหอยแครงให้โตนั้น มีความยากขึ้น ในบางครั้งมีน้ำเสียไหลลงมายังพื้นที่เลี้ยงที่บริเวณปากคลอง ก็สามารถทำให้หอยแครงตายยกฟาร์มได้ ผู้เลี้ยงหลายๆ รายจึงได้พยายามคิดค้นวิธีการเลี้ยงใหม่ๆ” .... เจ้าของวรเดชฟาร์ม กล่าว


จนกระทั่งทาง สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ได้มาลงพื้นที่เพื่อทำงานวิจัย และมีการทำโครงการเลี้ยงหอยแครงระบบปิดด้วยแพลงก์ตอนพืช ตนเองจึงได้ให้ความร่วมมือพร้อมกับได้เป็นแกนนำในการเลี้ยงหอยแครงด้วยวิธีใหม่นี้ ด้วยการนำบ่อกุ้งมาปรับสภาพดินและน้ำให้เหมาะกับการเลี้ยง และนำหอยแครงมาเลี้ยง โดยแต่ละเดือนจะคอยปล่อยน้ำ เข้า-ออก 2 ครั้ง เพื่อปรับคุณภาพของน้ำภายในบ่อให้มีความสมดุล โดยการปล่อยน้ำเข้า-ออกบ่อนั้นจะอาศัยช่วงเวลาที่น้ำทะเลขึ้นและลง เลี้ยงหอยแครงในบ่อปิดกึ่งธรรมชาติไม่ได้มีวิธีอะไรมาก นอกจากการปรับปรุงหน้าดินเหมือนการเลี้ยงในธรรมชาติ แต่จะมีการให้แคลเซียมเพิ่มความหนาของเปลือกหอยแครง


นอกจากนี้ยังมีการสร้างการหมุนเวียนของกระแสน้ำและเพิ่มระบบการเติมออกซิเจนด้วยกังหันลมพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมกับเสริมการเพาะเลี้ยงแพลงก์ตอนพืช (สาหร่ายเซลล์เดียว) ให้มีปริมาณมากกว่าที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นแหล่งอาหารให้กับหอยแครง โดยเน้นใช้ในช่วงการปิดบ่อเพื่อเลี่ยงน้ำเสียหรือในฤดูฝนที่น้ำมีความเค็มต่ำกว่า 21 ส่วนในพันส่วน ในกรณีการเร่งการเจริญเติบโตของหอยแครง จะปล่อยแพลงก์ตอนในอัตรา 45,000 ลิตร/บ่อขนาด 6 ไร่/ครั้ง ในทุก 3 วัน หรือหากต้องการให้มีการเจริญเติบโตตามปกติ จะปล่อยแพลงก์ตอน ทุก 9 วัน ซึ่งวิธีการเลี้ยงแบบนี้ทำให้เกษตรกรไม่ต้องกังวลกับสภาพอากาศและสามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมในการเลี้ยงได้ ช่วยลดปัจจัยในการขาดทุนได้เป็นอย่างดี


ในเรื่องของผลประกอบการ การเลี้ยงหอยแครงในระบบปิดทำให้การรอดของหอยแครงได้ผลที่ดีกว่าการเลี้ยงแบบเดิม โดยหอยแครงสามารถเติบโตอย่างสมบูรณ์ รสชาติอร่อย และขนาดตัวใหญ่ตามความต้องการของตลาด สามารถขายได้ในราคาดี และป้อนความต้องการของตลาดได้ไม่ขาด การเลี้ยงหอยแครงระบบปิดด้วยแพลงตอนพืช จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจ ที่ทำให้เกษตรกรไม่ต้องกังวลกับความเสี่ยงต่างๆ มีกำไรงาม และอาจสามารถช่วยให้ราคาหอยในท้องตลาดให้ลดลงได้ในอนาคตอีกด้วย

สนใจติดต่อ
โทร. 083 - 879 6351
FB : วรเดชฟาร์ม แหล่งศึกษาเรียนรู้การเกษตรเพาะเลี้ยง



กำลังโหลดความคิดเห็น