xs
xsm
sm
md
lg

ส่อง COP 26 ถกประเด็นโลกร้อน! เรื่องสำคัญที่สุดของโลก / ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การประชุม COP26 กำลังใกล้เข้ามา (COP26 ย่อมาจาก Conference of the Parties) ถือเป็นการประชุมเรื่องโลกร้อนสำคัญสุดในรอบหลายปี

จึงอยากอัปเดทความคืบหน้าและประเด็นสำคัญ ผมสรุปสั้นๆ นะครับ

ภาคีประเทศที่เข้าร่วมอยู่ใน UNFCCC (United Nations Framework Convention on Climate Change)
มีการจัดประชุมทุกปี หนนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 26

แต่ละครั้งมีความสำคัญไม่เท่ากัน หนนี้สำคัญมาก เพราะเว้นว่างมานาน และยังครบ 5 ปี Paris Agreement (เลื่อนมา 1 ปี)

ที่สำคัญคือภัยพิบัติจากโลกร้อนแรงขึ้นมาก สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตทรัพย์สิน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

รายงาน IPCC (คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) เพิ่งออกมาเน้นย้ำความสำคัญโลกร้อน เป็นหลักฐานทางวิชาการชี้ชัดว่าต้องทำหลายอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะมาตรการและนโยบายต่างๆ ของเศรษฐกิจสังคมโลก

COP26 จัดประชุมจัดขึ้นที่ Glasgow ในระหว่างวันที่ 1-12 พฤศจิกายนนี้

มีประเทศ/รัฐ เข้าร่วม 197 ประเทศ ถึงวันนี้ มีผู้นำประเทศยืนยันเข้าร่วมด้วยตัวเองแล้วมากกว่า 100 ประเทศ
สำนักพระราชวังอังกฤษแถลงแล้วว่า Queen จะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้

คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 25,000 คน เพราะประเด็นที่จะพูดถึงเกี่ยวข้องกับแทบทุกภาคส่วน
เป้าหมายชัดเจน ตอนนี้โลกร้อนขึ้น 1.1 องศา จะตั้งเป้าไปที่ 1.5 องศาภายใน 2100 แต่ยังไงก็พยายามไม่ให้เกิน 2 องศา

หลายประเทศประกาศปี Net Zero เรียบร้อยแล้ว บางประเทศจะประกาศในการประชุมหนนี้ ยังรวมถึงปี Peak GHG ที่จะกำหนดไว้ใกล้กว่า เช่น จีน 2030

ปัญหาคือประกาศไว้แต่บางทีก็ทำไม่ได้ เช่น หลายข้อใน Paris Agreement ไม่เป็นไปตามที่คุยกันไว้ โดยเฉพาะเรื่องเงิน

ประเด็นสำคัญคือเงินสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา ตกลงไว้ที่ปีละ 100,000 ล้านเหรียญ

แต่ประเทศพัฒนาไม่ได้ซับพอร์ตตามนั้น แม้ประธานาธิบดีไบเดนเพิ่งประกาศเพิ่มการสนับสนุนเท่าตัว แต่ก็ยังห่างไกลจากเป้า

อีกประเด็นคือ Carbon Market ซึ่งต้องต่อรองเยอะมาก อาจทำให้คนรวยไม่ต้องลด แต่ใช้การซื้อแทน แต่ถ้าไม่มีเลยก็ไม่มีแรงจูงใจ

ในขณะเดียวกัน ภัยพิบัติส่งผลต่อระบบนิเวศและความเป็นอยู่ของคนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

เหตุผลของการปรับตัวช้า เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตที่เป็นมา ขาดความสามารถในการปรับตัวรับมือ และยังขาดแรงสนับสนุนที่เพียงพอในการปรับตัว

ยังเกี่ยวข้องกับผลกระทบจากโควิด โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ ซ้ำเติมสภาพหนี้สิน และทำให้เกิดการฟื้นตัวแบบกระจุก

ในขณะที่ระบบนิเวศที่เป็นแหล่งทำมาหากินดั้งเดิม กำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เช่น แนวปะการังทั่วโลกเสื่อมโทรมจาก Marine Heatwave มากกว่า 10% ในเวลาเพียง 10-15 ปี

ในระหว่างนั้น เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศกำลังพัฒนา อาจประสบปัญหาในการเปลี่ยนไปสายกรีน เช่น ภาคพลังงาน คมนาคม อุตสาหกรรม เนื่องจากกระทบกับฐานเศรษฐกิจดั้งเดิม


ในส่วนของเมืองไทย เราประสบปัญหาเหมือนประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ในข้อต่างๆ ที่ผมเล่าไว้แล้ว

เมื่อสภาพภูมิอากาศและท้องทะเลแปรปรวน ผลกระทบจะเกิดกับภาคการเกษตรที่คนจำนวนมากเกี่ยวข้องอยู่

สรุปสุดท้าย การประชุม COP26 จะเจรจากันเรื่องเงินและเศรษฐกิจยุคใหม่กันเยอะ

มาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลกร้อน/เศรษฐกิจจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะ EU ที่ดำเนินการเรื่องนี้ต่อเนื่องมาหลายปี

ประเด็นสำคัญไม่ใช่แค่จะรับมืออย่างไร แต่จะทำให้คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงโลกกำลังร้อนขึ้นได้อย่างไร

เพราะหากทำไม่ได้ ปัญหาต่างๆ อีกมากจะตามมา

การฟื้นตัวหลังโควิดเปราะบาง อีกทั้งราคาน้ำมัน/วัตถุดิบที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จะยิ่งทำให้หลายประเทศที่พึ่งพาพลังงานวัตถุดิบเพื่อเศรษฐกิจ จะเจอปัญหา

ขณะที่ภาคเอกชนกำลังอยู่ระหว่างการปรับตัวขององค์กร ยังไม่อยู่ในสภาพที่ช่วยคนอื่นได้เต็มที่

ผมจะคอยมาอัปเดทให้เพื่อนธรณ์เรื่อยๆ เพราะประเด็นใหม่ๆ มีมาเกือบทุกวันครับ

บทความโดย ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลและนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม


ที่มา Facebook.com/thon.thamrongnawasawat


กำลังโหลดความคิดเห็น