xs
xsm
sm
md
lg

สกสว. จับมือ DFT และหน่วยบริหารจัดการทุน สนับสนุนสินค้าการเกษตรด้วยงานวิจัยนวัตกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในกิจกรรม Agri-Tech Innovation Connection 2021 : นวัตกรรมสินค้าเกษตรไทยแห่งอนาคต ที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการยกระดับสินค้าเกษตรไทยให้เติบโตก้าวสู่การค้าสากล ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างยั่งยืน โอกาสนี้ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง นายชุตินันท์ สิริยานนท์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และดร.กริชผกา บุญเรื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรมสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เพื่อแสดงเจตจำนงค์ในร่วมกัน ขับเคลื่อนสนับสนุนการพัฒนาสินค้านวัตกรรมการเกษตรผ่านการวิจัยและพัฒนา

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้ถือเป็นกิจกรรมที่กรมการค้าต่างประเทศ มุ่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” ตามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้เร่งดำเนินการเพิ่มเติม โดยได้วางแผนในการส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้าที่ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ของโลก หลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 โดยกรมการค้าต่างประเทศ มีความพร้อมอย่างยิ่งที่ จะสนับสนุนผู้ประกอบการ ผลักดันสินค้าเกษตรนวัตกรรมผ่านการกิจกรรมในวันนี้ ทั้งการให้คำปรึกษาจากนักวิจัย กิจกรรมจับคู่นักวิจัย ผู้ประกอบการ รวมถึงการสัมมนาให้ความรู้จากวิทยากรมากความสามารถ

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผอ.สกสว.
ด้าน รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวแสดงความยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของการทำงานกับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมุ่งหวังในการส่งเสริมการทำวิจัยและการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อสนับสนุนการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์การค้าของไทยและเสริมสร้างประสิทธิภาพการเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของไทยด้วยวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม 

สำหรับการจัดงานในวันนี้ สกสว. ได้สนับสนุนในส่วนของการจัดกิจกรรม “Innovation Matching” พื้นที่ให้คำปรึกษาและจับคู่นักวิจัยกับผู้ประกอบการ โดยได้เชื่อมโยงกับหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัย อาทิเช่น สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สนช. หรือ NIA สนับสนุนข้อมูลผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพทางการตลาด รวมถึงผู้เชี่ยวชาญนักวิจัยที่อยู่บนแพลตฟอร์ม Tech2Biz มาร่วมให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการที่สนใจที่จะพัฒนานวัตกรรมจากสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่ม ตอบความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สกสว.หวังเป็นอย่างยิ่งว่า วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมของประเทศจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจ การค้า การบริการและการลงทุนของประเทศมีความเติบโตและยั่งยืน

รศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผอ.สกสว.
ด้าน รศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สกสว. กล่าวในช่วงงานเสวนา ถึง “กลไกเชื่อมโยงงานวิจัยกับผู้ประกอบการ และมาตรการส่งเสริมการลงทุนวิจัยให้กับภาคเอกชน” ว่า ปัจจุบัน สกสว. และหน่วยงานภาคี ได้ร่วมกันพัฒนา National RU platform ที่มีชื่อว่า “Tech2Biz” (https://www.tech2biz.net/) ขึ้นเพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มกลางที่เป็น one stop service ที่ให้บริการจับคู่ระหว่างนักวิจัยจากหน่วยงานต่างๆในระบบ ววน.กับผู้ประกอบการ แพลตฟอร์มดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้ทั้งนักวิจัยและผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลและเกิดการจับคู่เพื่อต่อยอดและนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปยกระดับกระบวนการหรือผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ


ทั้งนี้ในส่วนของการผลักดันมาตรการส่งเสริมการลงทุนวิจัยให้กับภาคเอกชน ปัจจุบัน สกสว. ได้ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ออก 2 มาตรการสำคัญ คือ 1. TBIR มาตรการที่ที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพมารับทุนทำงานวิจัยและพัฒนา (RDI) ได้ โดยจะมีหรือไม่มีหน่วยงานร่วมวิจัยก็ได้ และ 2. TTTR มาตรการที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมารับทุนทำวิจัย RDI เองได้ โดยต้องทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยหรือมหาวิทยาลัย เนื่องจากขาดอุปกรณ์ เครื่องมือ โครงสร้างพื้นฐาน หรือบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง นอกจากนี้ นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ปัจจุบัน ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. .… ผ่านความเห็นชอบจาก ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาแล้ว กฎหมายนี้จะให้สิทธิแก่ผู้รับทุน ได้มีโอกาสเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม นับเป็นก้าวแรกที่ปลดล็อคความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยรวมถึงกระตุ้นให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนวิจัยมากขึ้นอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น