xs
xsm
sm
md
lg

มทร.ธัญบุรีออกแบบ “บ้านต้นแบบช่วยพัฒนาสมองแก่ผู้สูงอายุ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 ผศ.ดร.พัชราภัณฑ์ ไชยสังข์
ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คาดการณ์ว่าอีก 20 ปีข้างหน้า หรือปี 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของคนไทยจะเป็นผู้สูงอายุในวัย 80 ปีขึ้นไปจะมีมากถึง 3.5 ล้านคน ด้วยเหตุนี้เอง เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หรือ มทร.ธัญบุรี จึงได้ทำโครงการธัญบุรีชุมชนน่าอยู่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สุขภาวะรื่นรมย์

โดย มทร.ธัญบุรี ได้จัดทำโครงการวิจัยการพัฒนาออกแบบที่พักอาศัยเสริมสร้างสุขภาวะทางปัญญาในผู้สูงอายุ ในพื้นที่เคหะชุมชนรังสิต (คลองหก) อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี แม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ แต่มีประชาชนอาศัยอยู่อย่างแออัด 1,400 หลังคาเรือน และมีผู้สูงอายุอยู่ถึง 429 คน ครึ่งหนึ่งเป็นผู้สูงอายุแก่ชราช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ เป็นกลุ่มเกษียณอายุราชการ หรือต้องอยู่กับลูกหลาน จะอยู่บ้านคนเดียวในช่วงกลางวัน และไม่ได้ทำงาน


ผศ.ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ธัญบุรี เป็นหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า เป้าหมายการดำเนินโครงการในครั้งนี้เพื่อพัฒนาเมือง ชุมชน และชาวบ้านในพื้นที่ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านงานวิจัยของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ประจำปี 2563 ซึ่งพบว่า 20% ของกลุ่มผู้สูงอายุจะช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ และ 12% มีภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะในเคหะชุมชนรังสิต (คลองหก) พบว่ามีผู้สูงอายุอาศัยอยู่จำนวนมาก และในจำนวน 100 คนจะพบว่าเป็นผู้สูงอายุ 10-12 คนจะมีภาวะสมองเสื่อมร่วมด้วย


ผศ.ดร.พัชราภัณฑ์ ไชยสังข์ อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มทร.ธัญบุรี หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวต่อว่า หลังจากทีมวิจัยลงพื้นที่สำรวจกลุ่มผู้สูงอายุในเคหะชุมชนรังสิตที่มีภาวะสมองเสื่อม พบว่า ส่วนใหญ่ชอบอยู่บ้าน ไม่ออกไปสังสรรค์ หรือพบปะผู้คน และมีความกังวล กลัวว่าตัวเองเป็นภาวะสมองเสื่อม หลายคนรู้ว่าการออกกำลังกาย การอ่านหนังสือจะช่วยลดภาวะสมองเสื่อมได้ แต่กลัวจะเป็นภาระของลูกหลานจึงอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร

“เมื่อเราไม่สามารถทำให้ผู้สูงอายุออกจากบ้าน ก็ต้องสร้างงานวิจัยที่เหมาะสมและตอบโจทย์ผู้สูงอายุในชุมชน ดังนั้น จึงมองว่าควรนำกิจกรรมที่จะช่วยกระตุ้นการใช้สมอง ลดภาวะความเสื่อมสมองไปไว้ในบ้าน ไอเดียในการออกแบบบ้านเสริมสร้างสุขภาวะปัญญาให้แก่ผู้สูงอายุจึงเกิดขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ผศ.ดร.พัชราภัณฑ์ และ ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มทร.ธัญบุรี มอบหมายให้ทำงานวิจัยดังกล่าว” ผศ.ดร.พัชราภัณฑ์กล่าว


หลังจากโครงการได้รับการอนุมัติ ทีมนักวิจัยลงพื้นที่สำรวจกิจกรรมที่ผู้สูงอายุต้องการและอยากมีส่วนร่วม และได้ทำการค้นคว้าหากิจกรรมที่จะมาช่วยพัฒนาสมองทั้งในไทยและต่างประเทศ จนได้อุปกรณ์/กิจกรรมมาทั้งหมด 22 ชิ้น โดยขอความร่วมมือจากวิศวกรรมเครื่องกลจัดทำเป็นโมเดลเล็กๆ 22 ชิ้นเพื่อให้กลุ่มผู้สูงอายุเลือกมา 3 ชิ้นนำไปใส่ในบ้านเสริมสร้างสุขภาวะปัญญา โดยมีคณะสถาปัตยกรรมช่วยออกแบบบ้าน ส่วนทีมวิจัยพยาบาลศาสตร์จะช่วยเติมเต็มพัฒนาการสมอง

โดยวิธีการศึกษาจะเน้นให้ผู้สูงอายุ ตัวแทนชุมชน อสม. สาธารณสุขจังหวัด เข้ามามีส่วนร่วมผ่านโฟกัสกรุ๊ป ซึ่งทุกคนจะเข้ามามีส่วนร่วมในทุกกิจกรรม ทั้งการเลือกอุปกรณ์พัฒนาสมอง การทดลอง การจะนำไปใส่ไว้ในบ้าน ออกแบบการจัดวาง ทุกขั้นตอนของโครงการผู้สูงอายุเป็นแกนหลัก

“การออกแบบของเราเป็นการออกแบบที่ไม่ได้ออกแบบ นั่นคือ ทั้งการเลือกอุปกรณ์พัฒนาสมอง ออกแบบบ้าน กลุ่มตัวอย่างล้วนเป็นผู้เลือก ซึ่ง 3 ชิ้นที่นำมาช่วยพัฒนาสมองผู้สูงอายุ คือการกรอกตาตามแนวนอน กระตุ้นสมองส่วนหน้า ตาราง 9 ช่อง และลักษณะเกมทดสอบไอคิวผู้สูงอายุ ขณะที่ทีมสถาปัตยกรรมก็จะนำอุปกรณ์เหล่านั้นไปให้ผู้สูงอายุเลือกว่าเขาจะเล่นเวลาไหน ควรอยู่ส่วนไหนของบ้าน ออกแบบจัดวางอย่างนี้ พวกเขาต้องการหรือไม่ พบว่าการกรอกตาจะไว้ในห้องนอน ตาราง 9 ช่องอยู่ในส่วนหน้าบ้าน และลักษณะเกมทดสอบไอคิวจะไว้ในห้องนั่งเล่น การออกแบบบ้านครั้งนี้เราจึงไม่ได้ออกแบบเอง แต่ผู้สูงอายุเป็นผู้ออกแบบ” ผศ.ดร.พัชราภัณฑ์กล่าว


หลังจากศึกษาวิจัยทดลอง 1 เดือน พบว่าไอคิวของผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการมีการพัฒนาที่ดีขึ้น คะแนนทดสอบสติปัญญา จากทดสอบไอคิว 82.9 เป็น 87.2 และพวกเขายังได้เรียนรู้ทักษะด้านอื่นๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะทักษะด้านสังคม เนื่องจากตลอดระยะเวลาในการทดลองจะมีกลุ่มนักศึกษาทั้งคณะพยาบาลศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะอื่นๆ หมุนเวียนไปช่วยเก็บข้อมูล ติดตามการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ของผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุไม่เหงา มีความสุขมากขึ้น งานวิจัยดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอจัดตั้งขอสร้างบ้านตามต้นแบบ หากได้รับอนุญาตคาดว่าจะเริ่มสร้างต้นแบบบ้านสร้างเสริมสุขภาวะปัญญาให้แก่ผู้สูงอายุได้ในเดือน ต.ค.นี้

“ผู้สูงอายุมีศักยภาพในตัวเอง หลายคนยังสามารถประกอบอาชีพได้ แต่ด้วยระบบและข้อจำกัดหลายอย่างทำให้ผู้สูงอายุไม่อยากเป็นภาระครอบครัว ก็จะอยู่แต่บ้าน และไม่รู้ว่าระบบสวัสดิการและสิทธิที่ตัวเองได้รับมีอะไรบ้าง ดังนั้น อยากให้สร้างอาชีพ สร้างโอกาสให้ผู้สูงอายุ ให้ความรู้ และร่วมกันพัฒนาสมอง กระตุ้นให้ผู้สูงอายุได้คิด ได้พัฒนาตัวเองตลอดเวลา” ผศ.ดร.พัชราภัณฑ์กล่าวทิ้งท้าย






กำลังโหลดความคิดเห็น