xs
xsm
sm
md
lg

สจล.-สบส.-ทรู ดึงดิจิทัลเทคโนโลยียกระดับบริการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนแบบไร้รอยต่อ นำร่อง 7 จังหวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผนึกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข และกลุ่มทรู ปักธงปฏิรูป “ระบบสาธารณสุขทางไกล-ระบบทันตกรรมทางไกล” เป็นวาระแห่งชาติ หลังไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ปูพรมสร้างการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพผู้สูงวัยทั่วไทย ภายใต้โครงการ “พัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนแบบไร้รอยต่อ” เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพโดยชุมชนมีส่วนร่วมกับทีมหมอครอบครัว นำร่อง 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลพบุรี สระบุรี เพชรบูรณ์ นครราชสีมา ระยอง ตรัง และสมุทรสงคราม โดยบูรณาการระบบการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุผ่านเว็บแอปพลิเคชัน ครอบคลุมตั้งแต่การคัดกรองศักยภาพของผู้สูงอายุในชุมชน 9 ด้าน ดังนี้ สมรรถภาพสมอง การได้ยิน การมองเห็น การเคลื่อนไหว ภาวะโภชนาการ การกลั้นปัสสาวะ ภาวะซึมเศร้า สุขภาพช่องปาก และความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน พร้อมระบบนัดหมายพบแพทย์ และติดตามอาการ ตลอดจนการประมวลผลและการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเชื่อมโยงการทำงานของทีมหมอครอบครัว อาสาสมัครสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุได้อย่างสะดวกรวดเร็วและทั่วถึง ทั้งนี้ พิธีลงนามความร่วมมือด้านการให้บริการเทคโนโลยีด้านการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้ “โครงการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนแบบไร้รอยต่อ” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ณ กระทรวงสาธารณสุข โดยมี นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นประธานในพิธี

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ เป็นผลจากอัตราการเกิดใหม่ของเด็กที่ลดลง สวนทางกับประชากรกลุ่มผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมาพร้อมกับความเสื่อมถอยของร่างกายตามลำดับ โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 และมลพิษทางอากาศที่เกิดจากภัยพิบัติ จึงนับเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนระดับชาติ ที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งเครื่องระบบสาธารณสุข เพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขและการแพทย์อย่างทั่วถึง สจล. ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มุ่งบูรณาการองค์ความรู้สู่การพัฒนานวัตกรรมขับเคลื่อนสังคมในหลากมิติ จึงร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และกลุ่มทรู ดำเนินโครงการ “พัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนแบบไร้รอยต่อ” เพื่อให้ผู้สูงอายุเป้าหมายในพื้นที่เข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพโดยชุมชนมีส่วนร่วมกับทีมหมอครอบครัว นำร่อง 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลพบุรี สระบุรี เพชรบูรณ์ นครราชสีมา ระยอง ตรัง และสมุทรสงคราม

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวนับเป็นการผนึกความร่วมมือระหว่าง “ภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน” สู่การปฏิรูปด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยที่ สจล. ได้ให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยีสุขภาพ โดยพัฒนาอุปกรณ์ ระบบการเก็บบันทึก การวินิจฉัยโดยปัญญาประดิษฐ์ และการจัดเก็บข้อมูลสุขภาพอย่างปลอดภัย ซึ่งนอกจากจะเป็นการตอบสนองปัญหาและความต้องการด้านสุขภาพของผู้สูงอายุได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังช่วยสนับสนุนการจัดระบบการให้บริการสุขภาพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นับเป็นการตอกย้ำวิสัยทัศน์ของสถาบัน ในฐานะ The World Master of Innovation สู่การขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขและการแพทย์ไทย และจัดตั้งโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร (KMCH) เพื่อเป็นโรงพยาบาลที่พร้อมให้การดูแล รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ รองรับสังคมแห่งอนาคตเพื่อการชราในถิ่นที่อยู่ (Ageing in Place) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth) ทันตกรรมทางไกล (Teledentistry) เชื่อมโยงการดูแลจากบ้านสู่โรงพยาบาล และพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์แบบครบวงจรแห่งแรกของไทย ภายใต้แนวคิด “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยรอด”

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน โดยได้เริ่มดำเนินการพัฒนาแบบคัดกรองผู้สูงอายุในชุมชน (Community Screening) อย่างง่ายใน 9 ด้านสำคัญ พร้อมวิดีทัศน์ เรียนรู้วิธีการคัดกรองด้วยตนเอง โดยความร่วมมือทางด้านวิชาการจากมหาวิทยาลัย JUTENDO ประเทศญี่ปุ่น กรมวิชาการต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ตลอดจนราชวิทยาลัยในสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อคัดกรองความเสื่อมถอยของร่างกายผู้สูงอายุ โดยใช้แบบคัดกรองดังกล่าวในจังหวัดพื้นที่นำร่องจากการคัดกรองนำไปสู่การวางแผน ออกแบบระบบบริการ และสามารถให้การดูแลส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ในรูปแบบที่เหมาะสมเป็นรายบุคคล โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับปฐมภูมิและชุมชน รวมถึง อสม. ภายใต้นโยบายระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็ง คนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจำตัว 3 คน

อย่างไรก็ตาม สบส. มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ด้านสุขภาพที่จำเป็น (Health Content) เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงระบบการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และการบริการที่มีคุณภาพ เป็นการยกระดับไปสู่เป้าหมายการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนแบบไร้รอยต่อของประเทศไทยร่วมกัน ด้วยระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth) และทันตกรรมทางไกล (Teledentistry) อย่างยั่งยืน

นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ความร่วมมือกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข และ สจล. ในโครงการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนแบบไร้รอยต่อครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีที่กลุ่มทรูจะได้นำเทคโนโลยีสื่อสารดิจิทัลร่วมดูแลคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชนในจังหวัดต่างๆ ให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างทั่วถึง โดยกลุ่มทรูจะนำความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์จากการทำงานร่วมกับหลากหลายพันธมิตรในภาคสาธารณสุข ผสานกับความพร้อมและเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจรของกลุ่มทรูร่วมพัฒนาและออกแบบเว็บแอปพลิเคชันเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันของ อสม.หมอประจำบ้านในชุมชน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในหน่วยบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานพยาบาลใกล้บ้าน รวมถึงหมอครอบครัว หรือแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวในโรงพยาบาลชุมชน ในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุแบบบูรณาการ ครอบคลุมตั้งแต่การตรวจคัดกรอง นัดหมายพบแพทย์ และติดตามอาการ พร้อมมีการประมวลผลและการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทั้งยังช่วยให้โรงพยาบาลและสาธารณสุขจังหวัดสามารถบริหารจัดการด้านบุคลากรการแพทย์ที่มีจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย มั่นใจว่า โครงการนี้จะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนในการดูแลผู้สูงอายุแบบไร้รอยต่อร่วมกัน และจะเป็นอีกก้าวสำคัญของกลุ่มทรู ที่จะได้ร่วมยกระดับการให้บริการด้านสาธารณสุขของไทย ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ทำให้คนไทยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้รับบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึง รวดเร็วทันท่วงที และสะดวกสบาย สอดคล้องกับเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของกลุ่มทรูในการนำศักยภาพด้านโทรคมนาคมดิจิทัล เชื่อมโยงคนไทยพร้อมทั้งเสริมสร้างระบบนิเวศสาธารณสุข ยกระดับการดูแลสุขภาพอัจฉริยะ ทั้งการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ตรวจวัดสุขภาพ บันทึกข้อมูลและประมวลผล ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ พิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ด้านการให้บริการเทคโนโลยีด้านการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้ “โครงการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนแบบไร้รอยต่อ” ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ณ อาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข โดยมี นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นประธานในพิธี ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ สจล. ได้ที่ www.facebook.com/kmitlofficial และ https://www.kmitl.ac.th


กำลังโหลดความคิดเห็น