xs
xsm
sm
md
lg

กสว. เห็นชอบ (ร่าง) แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 66 - 70 พร้อมวางกรอบ พัฒนาประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 
 ศาสตราจารย์นายแพทย์ สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ  ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เป็นประธานการประชุม  คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ครั้งที่ 8/2564  ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ โดยประเด็นการพิจารณา (ร่าง) แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี พ.ศ. 2566–2570 ถือเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการหารือในการประชุมครั้งนี้
 
รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำเรียนที่ประชุมถึงแนวทางการจัดทำ (ร่าง) แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี พ.ศ.2566-2570 โดยดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์เพื่อ “พลิกโฉมให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วย เศรษฐกิจสร้างคุณค่า และพร้อมก้าวสู่อนาคต ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย โดยการสานพลังหน่วยงานในระบบ ววน. รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม” แผนฯ ฉบับนี้จัดทำขึ้นผ่านการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ จัดประชุมระดมสมองผู้ทรงคุณวุฒิตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ตลอดจนจัดประชุมเพื่อพิจารณา OKRs ของแผนงานร่วมกับพีเอ็มยูและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้แผนงานที่สามารถนำไปสู่การร่วมดำเนินงานขับเคลื่อนการปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้  ทั้งนี้ (ร่าง) แผนด้าน ววน. ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ


ยุทธศาสตร์ที่ 1 “การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม”

ยุทธศาสตร์ที่ 2 “การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม”

ยุทธศาสตร์ที่ 3 “การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต”

ยุทธศาสตร์ที่ 4 “การพัฒนากำลังคนของประเทศ สถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัยให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม”

ผลกระทบที่ในภาพรวมที่ตั้งเป้าหมายจะเกิดขึ้นจากการดำเนินการตาม (ร่าง) แผนด้าน ววน. ฉบับนี้

• ประเทศเป็นหนึ่งในผู้นำเทคโนโลยี (Front-Runner) ในระดับสากลสำหรับสาขาเป้าหมายของประเทศ และในระดับอาเซียนสำหรับอุตสาหกรรมและบริการใหม่แห่งอนาคต
• กำลังคนของประเทศมีผลิตภาพและศักยภาพสูงขึ้นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศ
• ปริมาณงบลงทุนด้านวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยการกระตุ้นของการลงทุนของรัฐ และนโยบาย/ มาตรการด้าน อววน.
• สังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนเป้าหมาย มีความตระหนักรู้ในความสำคัญ ประโยชน์ และคุณค่าจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
• ประเทศไทยมีอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) ที่สูงขึ้น อยู่ใน 35 อันดับแรก
• ประเทศไทยมีอันดับดัชนีความยั่งยืน (SDG Index) ที่สูงขึ้น อยู่ใน 35 อันดับแรก

ทั้งนี้จากการหารือกันในวันนี้ ที่ประชุม กสว. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี พ.ศ.2566–2570 ฉบับนี้ โดยมอบหมายให้ ผศ. ดร.วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ ประธานอนุกรรมการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และการจัดกรอบวงเงินงบประมาณ นำความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปพิจารณาประกอบการจัดทำแผนฉบับสมบูรณ์ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น