xs
xsm
sm
md
lg

วว. เพิ่มมูลค่าวัสดุธรรมชาติ วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางกันกระแทกจากยางพารา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม มาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุธรรมชาติ ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา “ผลิตภัณฑ์ยางกันกระแทก” จากยางพารา โดยผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างของยางพาราพร้อมการเสริมแรง ทำให้ผลิตภัณฑ์ยางกันกระแทก มีสมบัติเชิงกลและความยืดหยุ่นสูง ทนทานต่อสภาพอากาศในสภาวะเร่งการเสื่อมอายุ ป้องกันการขูดขีด และอันตรายจากอุบัติเหตุต่างๆ จากยานพาหนะ ซึ่งยางกันกระแทก สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ประมาณ 3-4 เท่าจากยางพารา อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณการใช้สารปิโตรเคมีซึ่งมีปัญหาด้านการกำจัด/ทำลาย และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก


ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. มุ่งวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อสร้างนวัตกรรมการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน หนึ่งในผลงานที่เป็นรูปธรรมของการดำเนินงานดังกล่าวและสอดคล้องกับนโยบาย BCG Model ของรัฐบาลก็คือ การแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำโดยการเพิ่มมูลค่าด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา “ผลิตภัณฑ์ยางกันกระแทก” จากยางพารา ที่มีสมบัติเชิงกลและความยืดหยุ่นสูง ทนต่อสภาพอากาศในสภาวะเร่งการเสื่อมอายุได้ดี มีสมบัติเทียบเคียงตามมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางกันกระแทก ซึ่ง วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ ได้วิจัยและพัฒนาขึ้น จะช่วยลดการใช้วัสดุกันกระแทกที่ผลิตจากสารปิโตรเคมี ซึ่งมีปัญหาด้านการกำจัดและทำลาย สนับสนุนการใช้ยางพาราที่มีสมบัติเชิงกลที่ดีหลายอย่าง ได้แก่ ความยืดหยุ่น และการคืนรูปได้ดีกว่ายางสังเคราะห์


“วัสดุกันกระแทกที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ผลิตจากยางสังเคราะห์ วว. จึงมีแนวคิดพัฒนาวัสดุกันกระแทกจากยางพาราเชิงประกอบ ที่พัฒนาและดัดแปรโครงสร้างทางเคมีของยางพาราร่วมกับการใช้เทคโนโลยีการเสริมแรง เพื่อให้ยางกันกระแทกมีสมบัติเทียบเคียงตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางกันกระแทก ผลงานวิจัยนี้จะส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่สามารถแปรรูปและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากยางพารา นอกจากนี้ยังจะช่วยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางกันกระแทกจากต่างประเทศ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์กว้างขวาง ได้แก่ ยางกันกระแทกมุมเสา ยางห้ามล้อรถยนต์ ยางกันกระแทกกำแพง เป็นต้น นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบทางด้านสังคมช่วยให้ชาวสวนยางพาราและคนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผลกระทบทางด้านเกษตรกรรมช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางจากการขายยางพารา และผลกระทบทางด้านอุตสาหรรมก่อให้เกิดผู้ประกอบการใหม่” ผู้ว่าการ วว. กล่าว


ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ วว. มุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางด้านวัสดุสุขภาพ วัสดุพลังงานและสิ่งแวดล้อม วัสดุธรรมชาติเพื่อเพิ่มมูลค่าและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ ให้บริการที่ปรึกษา งานวิจัยและพัฒนา รวมถึงแก้ปัญหาการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวัสดุ ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบสมบัติของวัสดุเซรามิก วัสดุพอลิเมอร์ ยางพารา ยางสังเคราะห์ และวัสดุคอมโพสิต รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรม สู่ภาคอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน เพื่อนำผลิตภัณฑ์ไปใช้ประโยชน์ได้จริงและสร้างอาชีพให้แก่ชุมชน


กำลังโหลดความคิดเห็น