xs
xsm
sm
md
lg

นาโนเทค สวทช.ตอบโจทย์ BCG ส่ง ‘นวัตกรรมปุ๋ยคีเลต’ ลงสวนทุเรียน จังหวัดระยอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) นำโดย ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการนาโนเทค พร้อมด้วย ดร.คมสันต์ สุทธิสินทอง นักวิจัยเจ้าของงานวิจัย “สารคีเลตจุลธาตุอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มการดูดซึมเข้าสู่พืช” พร้อมนายวัชรินทร์ อินทร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทค ซายน์ จำกัด เอกชนผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี ลงพื้นที่ ณ สวนแพสุขชื่น จังหวัดระยอง เพื่อดูผลการใช้ “ปุ๋ยคีเลต” ผลิตภัณฑ์ที่รับถ่ายทอดเทคโนโลยีในทุเรียน พืชเศรษฐกิจสำคัญของระยอง ตอบนโยบาย BCG ด้านเกษตรและอาหาร

ดร.วรรณี ฉินศิริกุล
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า นาโนเทคมีพันธกิจหลักในการดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งเราได้ให้ความสำคัญในการสร้างการรับรู้และเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีศักยภาพไปสู่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และสังคม สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยในปี 2563 ที่ผ่านมาจะเป็นการขยับต่อยอดสู่นวัตกรรมที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG) ของประเทศสู่ความยั่งยืนใน 3 ด้านที่นาโนเทคเกี่ยวข้อง ได้แก่ เกษตรและอาหาร การแพทย์และสุขภาพ วัสดุและพลังงาน

“โมเดลเศรษฐกิจใหม่อย่าง BCG จะช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพิ่มมูลค่าผลผลิตต่างๆ ช่วยให้เกษตรกร ‘ทำน้อยแต่ได้มาก’ เป็นการใช้ วทน. เพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต โดยใช้ปริมาณปุ๋ยน้อย ใช้ต้นทุนที่ถูกลง ทำให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้น ดังเช่นงานวิจัยสารคีเลตจุลธาตุอาหารที่มีภาคเอกชนรับถ่ายทอดเทคโนโลยี และต่อยอดสู่ปุ๋ยคีเลตที่ส่งตรงถึงผู้ใช้ และตอบความต้องการของเกษตรกร โดยเฉพาะในพืชเศรษฐกิจอย่างทุเรียน” ดร.วรรณีกล่าว

ดร.คมสันต์ สุทธิสินทอง
ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยคีเลตเป็นการต่อยอดงานวิจัย “สารคีเลตจุลธาตุอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มการดูดซึมเข้าสู่พืช” ซึ่ง ดร.คมสันต์ สุทธิสินทอง ทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตและเวชสำอาง กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน นาโนเทค สวทช. เจ้าของผลงานอธิบายว่า เกษตรกรจำเป็นต้องเติมจุลธาตุอาหารให้พืชมีความสมบูรณ์ แต่มักมีปัญหาการสูญเสียและไม่ค่อยได้ประสิทธิภาพ เนื่องจากธาตุอาหารกลุ่มนี้จะตกตะกอนได้ง่าย ทำให้พืชไม่สามารถดูดซึมไปใช้ได้อย่างเต็มที่ ทีมวิจัยจึงพัฒนา “สารคีเลตจุลธาตุอาหาร” ที่เตรียมจากกรดอะมิโนซึ่งเป็นหน่วยย่อยขององค์ประกอบประเภทโปรตีนของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ผ่านกระบวนการห่อหุ้มจุลธาตุอาหารในรูปแบบสารเชิงซ้อน ให้อยู่ในรูปที่ละลายน้ำได้ดี พร้อมพัฒนาให้สามารถห่อหุ้มจุลธาตุอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความสามารถในการยึดเกาะใบด้วยโมเลกุลขนาดใหญ่สลายตัวได้ตามธรรมชาติ จึงสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่ได้ 20% ลดการใช้ปุ๋ยลง 50%

ปุ๋ยคีเลตจุลธาตุอาหารพืชที่พัฒนาโดยทีมวิจัยนาโนเทค ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นสารอินทรีย์นี้ เหมาะสำหรับพืชไร้ดินและพืชทั่วไป (ฉีดพ่นทางใบ) ช่วยแก้ปัญหาการตกตะกอน และการสูญเสียธาตุอาหารเสริมทางดิน โดยเมื่อฉีดพ่นสารคีเลตซึ่งมีคุณสมบัติช่วยพาธาตุอาหารเข้าสู่พืชได้ง่ายขึ้นแล้ว พืชจะสามารถนำธาตุอาหารไปใช้ประโยชน์ได้เร็วขึ้น เพิ่มอัตราการเจริญเติบโตของพืช, เพิ่มการดูดซึมธาตุอาหารทางปากใบ, เพิ่มกรดอะมิโนให้แก่พืช นอกจากนี้ ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดอันตรายจากการใช้สารสังเคราะห์ และลดค่าใช้จ่ายของปุ๋ยเคมีที่เกินความจำเป็น” ดร.คมสันต์กล่าว


นายวัชรินทร์ อินทร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทค ซายน์ จำกัด เอกชนที่รับถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้แบรนด์ “นาโนส” กล่าวว่า เนื่องจากในท้องตลาดมีผลิตภัณฑ์ปุ๋ยรอง-เสริม ประเภทเหลวอยู่มากมาย แต่ไม่ได้มีความแตกต่างหรือมีจุดเด่นที่จะทำให้บริษัทฯ สามารถนำไปทำตลาดได้ บริษัทฯ จึงต้องการสินค้าที่มีจุดเด่นหรือมีนวัตกรรม และต้องไม่เหมือนใคร ซึ่งผลิตภัณฑ์ปุ๋ยคีเลตจุลธาตุอาหารตอบโจทย์ในด้านนวัตกรรมใหม่ ซึ่งใช้เทคโนโลยีการห่อหุ้มระดับโมเลกุล รวมถึงความปลอดภัยมากขึ้นต่อตัวผู้ใช้ และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากองค์ประกอบที่เลือกใช้มาจากธรรมชาติ มีกรดอะมิโนที่จะเสริมความแข็งแรงให้แก่พืช และใช้ในปริมาณที่น้อยกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ พร้อมทั้งสามารถผลิตให้มีหลากหลายสูตร ทำให้ทำการตลาดและเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น

“กลุ่มเป้าหมายสำคัญคือ เกษตรกรทั้งรุ่นใหม่ หรือรุ่นเดิมในประเทศไทย และประเทศกลุ่ม CLMV ที่ต้องการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ ซึ่ง ณ ปัจจุบันบริษัทฯ เน้นสวนผลไม้เศรษฐกิจในภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคเหนือ ได้แก่ ทุเรียน และส้ม เพื่อทำการตลาดให้แบรนด์มีความแข็งแรง จากนั้นจึงขยายตลาดไปสู่พืชประเภทอื่นๆ” นายวัชรินทร์กล่าว พร้อมชี้ว่า การตอบรับดีมาก เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ มีความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด รวมถึงบริษัทมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว การนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไปนำเสนอจึงทำได้โดยง่าย ที่สำคัญคือ มุ่งเน้นการตลาดผสานกับการให้ความรู้แก่เกษตรกรเจ้าของสวนอีกด้วย

แม้จะอยู่ในช่วงโควิด-19 กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทค ซายน์ จำกัด เผยว่า ยอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปี 2564 หลังจากพ้นช่วงโควิด-19 ไปแล้วคาดว่ายอดขายน่าจะโตได้ถึง 5 ล้านบาทต่อปี สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ และตั้งเป้าเพิ่มขึ้นเป็น 8-10 ล้านบาทในปี 2565 จากการขยายตลาดไปสู่พืชกลุ่มข้าว ลำไย และมันสำปะหลัง ซึ่งล้วนแต่เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ รวมถึงการเปิดตลาดประเทศในกลุ่ม CLMV ได้ก็จะทำให้ยอดขายโตได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งอนาคตบริษัทฯ อาจจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีปุ๋ยธาตุหลักร่วมกับปุ๋ยคีเลตจุลธาตุอาหาร เพื่อให้เกษตรกรเกิดความสะดวกในการใช้งานมากขึ้น


นายสมศักดิ์ แพสุขชื่น เจ้าของสวนทุเรียน “แพสุขชื่น” เกษตรกรผู้ใช้นวัตกรรมปุ๋ยคีเลต กล่าวว่า ตนมีสวนทุเรียนกระจายอยู่ใน 3 พื้นที่ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีปัญหาน้ำกร่อย ทำให้ต้นทุเรียนไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร แม้จะลองใช้ปุ๋ย ธาตุอาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมทุกอย่างที่มีก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ จนกระทั่งเจอผลิตภัณฑ์ปุ๋ยคีเลตนี้ก็ตัดสินใจลอง

“จากการทดลองใช้เราเห็นความแตกต่างได้ในระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งต้นทุเรียนมีการเติบโตที่ดีขึ้น ใบสีเขียวสดเป็นพุ่มสวย จึงเริ่มขยายมาสู่สวนอีก 2 แห่งที่กำลังจะเริ่มติดลูก โดยทั้ง 2 แห่งนี้ไม่ได้มีปัญหาใด แต่เมื่อใช้ปุ๋ยคีเลตเป็นจุลธาตุอาหารเพียงอย่างเดียว ก็พบว่าทุเรียนให้ผลผลิตที่มากขึ้น ผลมีขนาดใหญ่ ทำให้เราสามารถทำตลาดระดับสูงหรือตลาดส่งออกได้ ที่สำคัญยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านปุ๋ยและอาหารเสริมได้ราว 30%” เจ้าของสวนแพสุขชื่นกล่าว


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *
SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น