xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยไทยคว้าเหรียญสกัดสมุนไพรกันโควิดเกาหลีใต้ เล็งสกัด “กัญชง-กัญชา” ต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย - นักวิจัย มช.สร้างชื่อกระหึ่ม..นำเทคโนโลยีนาโนสกัดสมุนไพรไทย ทั้งเพิ่มการดูดซึม-ฤทธิ์ต้านไวรัสโควิด คว้าเหรียญรางวัลเวทีประกวดเกาหลีใต้สำเร็จ เผยทำครอบครัวคนสมุทรสาครปลอดเชื้อมาแล้ว พร้อมเล็งสกัดกัญชง-กัญชาต่อ


วันนี้ (18 มี.ค.) นายนคร คำธิตา ประธานวุฒิอาสาธนาคารสมอง จ.เชียงราย ผศ.ดร.ภญ.รัตติรส คนการณ์ หรือ ดร.ออย นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชศาสตร์-สมุนไพร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่ปรึกษาวุฒิอาสาฯ นางกัญญาภัค สุนทรเดชาวัฒน์ เลขานุการวุฒิอาสาฯ พร้อมคณะได้เข้าพบนายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อรายงานผลการประกวดผลิตภัณฑ์ สมาคมนักประดิษฐ์หญิง ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันี่ 29 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมาพบว่าผลงานการวิจัยเกี่ยวกับ “การเพิ่มการละลายน้ำและการดูดซึมของยาสมุนไพรสำหรับการป้องกันโควิด-19” สามารถคว้ารางวัลเหรียญบรอนซ์มาได้สำเร็จ

ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นการสกัดสมุนไพรไทยหลายชนิดที่ใช้ในการป้องกันและยับยั้งไวรัสโควิด-19 อย่างได้ผล สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับการวิจัยและสมุนไพรไทยต่อนานาชาติได้เป็นอันมาก เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์จากนานาชาติส่งเข้าประกวดกว่า 300 รายการ

ผศ.ดร.ภญ.รัตติรสกล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเกิดจากการศึกษาสมุนไพรไทย ประกอบด้วย กระชายดำ กระชายขาว ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน พลูคาว และมะขามป้อม แล้วพบว่ามีฤทธิ์ในการต้านไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี จึงได้นำมาสกัดด้วยอนุภาคขนาดนาโน เพื่อเอาสารที่ห่อหุ้มออกมาใช้ประโยชน์ซึ่งพบว่าทำให้อนุภาคสารสมุนไพรที่ได้สามารถละลาย-ดูดซึมได้มากและมีประสิทธิภาพสูงกว่าการใช้ทั่วไป และเมื่อนำมาใช้จริงก็พบมีคุณสมบัติมากขึ้นถึง 3 ประการ คือ 1. ต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ 2. เพิ่มภูมิคุ้มกันหรือฆ่าเชื้อได้ และ 3.ต้านการอักเสบ ซึ่งที่ผ่านมาได้นำไปใช้ในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจำนวนมากพบว่าส่วนมากจะแสดงผลด้านการป้องกันไม่ให้ติดไวรัสโควิด-19 ได้ง่ายได้เป็นอย่างดี โดยวิธีการรับประทานหลังอาหารเช้าครั้งละ 2 แคปซูล จึงแสดงให้เห็นว่าสมุนไพรไทยมีคุณสมบัติที่เป็นเลิศและยังก่อให้เกิดภูมิแพ้น้อยมากด้วย


นางกัญญาภัคกล่าวว่า จากการนำไปทดลองในตัวอย่างจำนวน 3,000 ราย พบว่าได้ผลเป็นอย่างดีในแง่ของการไม่ติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะกรณีตัวอย่างครอบครัวชาว จ.สมุทรสาคร ที่มีสมาชิก 5-6 คน ได้รับไปบริโภคเป็นประจำทุกวันปรากฏว่าทุกคนในครอบครัวไม่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เลย แต่เพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่รายรอบติดเชื้อกันเกือบทั้งหมด ปัจจุบันจึงมีการจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ “โคชิงจิ” ซึ่งเป็นชื่อตามประวัติที่เคยไปประกวดผลงานที่ประเทศเกาหลีใต้ ทำเป็นแคปซูลขนาดบรรจุภัณฑ์ละ 30 แคปซูลเพื่อให้เข้าถึงประชาชนแล้ว

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ภญ.รัตติรสยังได้ทำการวิจัยในพืชกัญชามาได้นาน 6 เดือน นำนาโนเทคโนโลยีสกัดสารจากกัญชาให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนำไปเป็นยาเม็ด แคปซูล เครื่องสำอาง อาหาร ฯลฯ ล่าสุดขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ แต่เบื้องต้นจะส่งเสริมด้านการใช้เป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เพราะมีฤทธิ์ในการบำรุงผิว ชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนัง ฯลฯ รวมทั้งให้มุมมองของพืชกัญชาที่ดูมีความปลอดภัยมากกว่าการนำไปบริโภคโดยตรง

พร้อมทั้งประสานกับรัฐวิสาหกิจชุมชุนในเชียงรายที่มีกว่า 2,000 กลุ่ม ทำการปลูกพืชกัญชง-กัญชา เพื่อนำผลงานวิจัยดังกล่าวมาใช้ในการจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งทาง ผศ.ดร.ภญ.รัตติรส และคณะระบุว่าจะส่งผลดีต่อทั้งระดับต้นน้ำจากเกษตรกรและปลายน้ำคือผู้ใช้ประโยชน์ได้

สำหรับ ผศ.ดร.ภญ.รัตติรส เคยสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในการนำผลงานเข้าประกวดในระดับนานาชาติหลายครั้ง เช่น นำผลิตภัณฑ์ขมิ้นชันที่ละลายได้มากถึง 40,000 เท่า ถือว่ามากที่สุดในโลก จึงดูดซึมได้ดีจนทำให้ได้รับรางวัลเหรียญทองในงานนิทรรศการความคิดเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรมของทวีปยุโรป ในปี 2020 ที่ประเทศโรมาเนีย ได้รับ 3 เหรียญรางวัล จากการประกวดนวัตกรรมสำหรับนักประดิษฐ์ในระดับสากลครั้งที่ 5 ปี 2020 ที่ประเทศแคนาดา เป็นต้น

ทั้งนี้ นายวรวิทย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้ชื่นชมในผลงานและมีความยินดีที่คณะนักวิจัยจะเข้ามาทำงานใน จ.เชียงราย พร้อมกับเชิญให้เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษากรรมการพัฒนาเมืองสมุนไพร จ.เชียงราย ต่อไปด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น