xs
xsm
sm
md
lg

สทน.แจงการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่คลองห้าเป็นไปตามมาตรฐานทุกขั้นตอน ความปลอดภัยต้องมาก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สืบเนื่องจากมีบทความเผยแพร่ทางสื่อมวลชนได้ตั้งข้อสงสัยในการปฏิบัติงานของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ หรือ สทน. ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาธาตุหายาก และโรงเก็บอาคารเก็บกากกัมมันตรังสี 3 ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยระบุว่า กิจกรรมที่ สทน.ดำเนินการในพื้นที่คลอง 5 อาจส่งผลทำให้เกิดการปนเปื้อนของธาตุกัมมันตรังสีต่อแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือแหล่งน้ำใต้ดินโดยรอบพื้นที่ตั้งของโครงการ และอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนที่บริโภคน้ำจากแหล่งน้ำ
 
วันที่ 4 มีนาคม 2564 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) จึงได้จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรเพื่อนำสื่อมวลชนเยี่ยมชมการดำเนินงานและพื้นที่โดยรอบของศูนย์ธาตุหายากและโรงเก็บกากกัมมันตรังสี 3 โดยมี รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. นายนิคม ประเสริฐเชี่ยวชาญ ผู้จัดการศูนย์จัดการกากกัมมันตรังสี นายวราวุธ ขจรฤทธิ์ ผู้จัดการศูนย์ฉายรังสี และทีมงานจากศูนย์จัดการกากกัมมันตรังสี ฝ่ายความปลอดภัย และศูนย์วิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ เป็นผู้ชี้แจงและตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน


รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า สทน. ได้มีการตรวจสอบข้อมูลที่มีการเผยแพร่ผ่านทางสื่อมวลชนและมีความกังวล เพราะข้อมูลหลายประเด็นมีความคลาดเคลื่อน หรือการรับทราบข้อมูลไม่ครบทุกด้าน หลายประเด็นไม่ใช่ข้อเท็จจริง สทน.จึงขอชี้แจงประเด็นข้อสงสัยเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อกลุ่มผู้ตั้งข้อสังเกตเอง และกลุ่มประชาชนทั่วไป จึงขอชี้แจงประเด็นดังกล่าวที่เกี่ยวเนื่องกับบทความที่นำเสนอ ดังนี้

1. ศูนย์ธาตุหายาก เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นโดยการสั่งการจากคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2518 โดยให้ สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (พปส.) และกรมทรัพยากรธรณี ร่วมเป็นเจ้าของโครงการสกัดและแปรสภาพแร่โมนาไซด์ และแร่กัมมันตรังสีอื่นๆ โดย พปส.ได้จัดทำโครงการพัฒนาวัสดุนิวเคลียร์ขึ้น และถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 เริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงงานและดำเนินกิจกรรมตั้งแต่ปี 2530 โดยอยู่ในความดูแลของสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (ในขณะนั้น) โรงงานตั้งอยู่บนเนื้อที่ราว 30 ไร่ในพื้นที่เมืองวิทยาศาสตร์ (ขณะนั้น) มีกิจกรรมสำคัญคือ การสกัดแร่ธาตุหายากจากแร่โมนาไซด์ กิจกรรมดำเนินมาจนประมาณปี 2547 พปส.ก็ได้ยุติการดำเนินการของโรงงาน จนกระทั่งปี 2549 พื้นที่ของศูนย์ธาตุหายาก ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกับศูนย์ฉายรังสี ได้ถูกโอนกิจการมาอยู่ในความดูแลของ สทน. ซึ่ง สทน.ก็ไม่ได้ดำเนินกิจกรรมใดๆ ในส่วนของศูนย์ธาตุยากเช่นกัน

2. ในกรณีที่การตั้งข้อสงสัยว่ากิจกรรมการดำเนินการของศูนย์ธาตุหายากอาจจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของธาตุกัมมันตรังสีประเภทเรเดียม-226 ในแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือแหล่งน้ำใต้ดินโดยรอบพื้นที่ตั้งโครงการ และอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนที่บริโภคน้ำจากแหล่งน้ำ ประเด็นนี้  สทน.ขอชี้แจงว่า โครงการธาตุหายากได้ยุติการดำเนินกิจกรรมไปเมื่อราวปี 2548 และเมื่อยุติการดำเนินโครงการ นักวิจัยของ พปส.ในคณะนั้นได้ขอทุนวิจัยเพื่อดำเนินโครงการประเมินรังสีเรเดียม-226 จากน้ำบริโภคของบุคคลต่างวัย (ปี 2546-2547) 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปริมาณเรเดียมในแหล่งน้ำใต้ดิน และในตัวอย่างน้ำจากคลองชลประทานซอยห้า และประเมินปริมาณรังสีต่อปีของเรเดียม-226 จากการบริโภคน้ำใต้ดินและน้ำจากคลองชลประทานซอยห้า นักวิจัยที่ดำเนินโครงการนี้ระบุประโยชน์ของการศึกษาโครงการนี้ก็เพื่อทราบค่าปริมาณต่อปีของประชาชน ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้ๆ ศูนย์ธาตุหายากได้รับจากการปริโภคน้ำ และเพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงต่อสาธารณะเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของศูนย์ธาตุหายากที่ไม่ก่อผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชนที่อาศัยโดยรอบ


ผลการศึกษาสรุปว่า ค่าเฉลี่ย 2 ปีของปริมาณเรเดียม-226 ในน้ำใต้ดิน และน้ำจากคลองชลประทานซอยห้าอยู่ระหว่าง 3.639 ถึง 8.069 และ 2.956 ถึง 3.781 มิลลิเบ็กเคอเรลต่อลิตร ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานปริมาณเรเดียม-226 ในน้ำดื่มที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 1,000 มิลลิเบ็กเคอเรลต่อลิตร ซึ่งสรุปว่าตัวอย่างน้ำในพื้นที่โดยรอบศูนย์ธาตุหายากปลอดภัยต่อการบริโภคในแง่คุณลักษณะทางรังสี (คิดเฉพาะไอโซโทปรังสีเรเดียม-226) การประเมินค่ารังสียังผล (effective dose) ของเรเดียม-226 พบว่าปริมาณรังสีเรเดียม-226 สูงสุดต่อปีที่คำนวนจากน้ำใต้ดินและน้ำในคลองเท่ากับ 13.846 และ 6.486 ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ที่ 100 ไมโครซีเวิร์ตต่อปี แสดงว่าน้ำจากทั้งสองแหล่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ

3. เมื่อพื้นที่ของศูนย์ฉายรังสี และศูนย์ธาตุหายากถูกโอนมาอยู่ในความดูแลของ สทน. และยังมีแร่โมนาไซด์จำนวนประมาณ 600 ตันถูกจัดเก็บไว้ในพื้นที่ของศูนย์ธาตุหายาก ประกอบกับในพื้นที่ของ สทน.คลองห้ายังมีศูนย์ฉายรังสี ซึ่งให้บริการฉายรังสีอาหารและผลิตผลทางการเกษตร สทน. จึงถือว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ดำเนินกิจกรรมด้านนิวเคลียร์และรังสี ซึ่งต้องมีมาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัยซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานสำหรับการปฏิบัติงานของสถานประกอบการด้านนิวเคลียร์และรังสี 

ดังนั้น นอกจากขั้นตอนการปฏิบัติงานตามมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยสูงสุดแล้ว ฝ่ายความปลอดภัยของ สทน.จะดำเนินการสอบทานการดำเนินกิจกรรมของฝ่ายต่างๆ ใน สทน.เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการดำเนินกิจกรรมทางด้านนิวเคลียร์และรังสีของ สทน.มีความปลอดภัยต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมตามข้อกำหนดของกฎหมาย อีกทั้งเพื่อเฝ้าระวังความผิดปกติของปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อมโดยรอบบริเวณที่ตั้งของ สทน.พื้นที่คลองห้า และใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานการตรวจวัดปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อม ในการดำเนินกิจกรรมทางด้านนิวเคลียร์และรังสีของ สทน.

กิจกรรมดำเนินการตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีในตัวอย่างสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอเพื่อเฝ้าระวังปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อม โดยทำการเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมและตรวจวัดปริมาณรังสีโดยรอบพื้นที่ของ สทน.คลองห้า ได้แก่ การนำตัวอย่างดินผิวหน้า ตะกอนดิน น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน เพื่อทำการตรวจวัดและวิเคราะห์ปริมาณกัมมันตภาพรังสี และ สทน.มีสถานีเฝ้าตรวจทางไกลที่ทำงานแบบต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงภายในพื้นที่ของ สทน. นอกจากนี้ยังได้ทำการตรวจวัดอัตราปริมาณรังสีภาคสนามภายนอกพื้นที่ของ สทน.คลองห้า ผลการวิเคราะห์ปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อม จากตัวอย่างที่ฝ่ายความปลอดภัยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ปริมาณรังสีต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดทุกตัวอย่าง และไม่เกินค่ามาตรฐานที่ประชาชนทั่วไปได้รับต่อปี คือ 1 มิลลิซีเวิร์ต/ปี นั่นหมายความว่าการดำเนินกิจกรรมของ สทน.ที่คลองห้าไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และประชาชนในพื้นที่โดยรอบ


4. เมื่อเกิดสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ปี 2554 พื้นที่โดยรอบเทคโนธานีเป็นพื้นที่น้ำท่วมสูง จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่าน้ำท่วมในครั้งนั้นจะมีการปนเปื้อนธาตุกัมมันตรังสีจากศูนย์ธาตุหายาก และโรงเก็บกากกัมมันตรังสีที่ 3 ไปกับน้ำ และส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยรอบ และไหลลงสู่สระเก็บน้ำพระราม 9 ซึ่งเป็นแก้มลิงสำคัญในพื้นที่รังสิต ในประเด็นนี้ สทน.ขอชี้แจงว่า

4.1 เหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนั้น อาคารเก็บกากกัมมันตรังสีโรงที่ 3 น้ำไม่เข้าโรงเก็บกาก เนื่องจาก สทน.จัดทำคันกั้นน้ำ น้ำจึงไม่สามารถท่วมโรงเก็บกากกัมมันตรังสี

4.2 น้ำท่วมอาคารเก็บแร่โมนาไซด์ แต่เนื่องจากแร่โมนาไซด์ก็คือ ทราย ที่ยังไม่ถูกสกัดนำธาตุหายากออกมา จึงมีน้ำหนักประกอบกับอยู่ในอาคารที่ปิดมิดชิด แร่โมนาไซด์ที่อยู่ในรูปของทรายจึงตกตะกอนอยู่ภายในอาคารไม่ได้ถูกพัดพา และธาตุหายากที่อยู่ในแร่โมนาไซด์ไม่สามารถปนเปื้อนกับน้ำได้ เพราะการสกัดแร่ธาตุหายากออกจากโมนาไซด์ต้องผ่านกระบวนการเคมีหลายขั้นตอน จึงเป็นไปไม่ได้ที่แร่กัมมันตรังสีจะแยกตัวออกมาได้

5. สทน.มีภารกิจหน้าที่สำคัญในการให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสีทั่วประเทศ ที่มีการใช้งานสารกัมมันตรังสี และต้องถูกจัดเก็บอย่างถูกต้องและปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ปัจจุบัน สทน.จึงมีสถานที่สำหรับการเก็บกากกัมมันตรังสีจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ แห่งแรกคือที่ สทน.จตุจักร สทน.คลองห้า และ สทน.องครักษ์ สำหรับโรงเก็บกากกัมมันตรังสี โรงที่ 3 ที่ต้องอยู่ในพื้นที่ของ สทน.คลองห้า ใช้จัดเก็บกากกัมมันตรังสีชนิดไม่ปิดผนึกที่ผ่านการบำบัดแล้ว เช่น ขี้เถ้า แก้ว แล้วบรรจุลงในถังเหล็กปริมาตร 200 ลิตร และจัดเก็บกากกัมมันตรังสีชนิดไม่ปิดผนึกที่ไม่ผ่านการบำบัด เช่น เรซิน ดิน โลหะเปื้อนรังสี ตลอดจนกากกัมมันตรังสีชนิดไม่ปิดผนึกที่ผ่านการแปรสภาพด้วยซีเมนต์ โดยบรรจุลงในถังเหล็กปริมาตร 200 ลิตรเป็นโรงเก็บกากกัมมันตรังสี


ปัจจุบันโรงเก็บกากกัมมันตรังสีที่ 3 จัดเก็บผลิตภัณฑ์กากกัมมันตรังสีจำนวน 340 ถัง (ข้อมูล ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564) ดังแสดงรายละเอียดในตารางแสดงจำนวนผลิตภัณฑ์กากกัมมันตรังสีที่จัดเก็บ ณ โรงเก็บกากกัมมันตรังสี 3


ตารางแสดงจำนวนผลิตภัณฑ์กากกัมมันตรังสีที่จัดเก็บ ณ โรงเก็บกากกัมมันตรังสี 3

ผลิตภัณฑ์กากฯ                 ชนิดกากรังสี/สัญลักษณ์         จำนวน (ถัง)             ปริมาตร (ลบ.ม.)

ซีเมนต์                              Cementation-C                   32                                6.4
เรซิน                                 Resin-R                              59                               11.8
ดิน                                    Sludes, Soil-S                     52                               10.4
เถ้าเบา                              Fly Ash-FA                           4                                  0.8
เถ้า                                   Bottom-BA                           39                                7.8
แก้ว                                  Glass-GL                             52                               10.4
กรอบฟิลเตอร์                    Filter Frame-FF                   19                                 3.8
โลหะเปื้อนรังสี                   Metal-M                               73                               14.6
กากฯ รวม                          Miscellaneous Waste-MW  10                                  2

รวม                                                                               340                                68

ข้อมูล ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

อาคารเก็บรักษากากกัมมันตรังสีแห่งนี้ถูกออกแบบและสร้างขึ้นพร้อมมีมาตรการดูแลด้านความปลอดภัยทางรังสี ความมั่นคงปลอดภัย มีการติดตั้งระบบควบคุมการเข้า-ออก ระบบตรวจวัดระดับรังสี การตรวจเช็กการเก็บรักษากาก และการตรวจวัดปริมาณรังสีโดยรอบอาคารเก็บรักษากากกัมมันตรังสีซึ่งมีค่าเท่ากับปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานเป็นไปตามระบบบริหารคุณภาพ ISO9001 และ ISO14001 โดยมีการติดตามตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอกตามระบบมาตรฐานคุณภาพ จากหน่วยกำกับดูแลหรือสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลตามอนุสัญญาร่วมด้านความปลอดภัยการจัดการกากกัมมันตรังสีของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA





กำลังโหลดความคิดเห็น